ลั่นนครอุดรฯยุคใหม่"เมืองแห่งโอกาสสำหรับทุกคน" 

23 มิ.ย. 2564 | 10:57 น.

"ธนดร"แถลงนโยบายสภาเทศบาลนครอุดรฯ กางแผนพัฒนา 6 ด้าน ตั้งสภาพลเมืองร่วมกำหนดทิศทางบริหารเมือง ปั้นนครอุดรธานีเป็นเมืองแห่งโอกาสสำหรับทุกคน ยกระดับสู่ Smart Urban ด้วยเทคโนโลยี-นวัตกรรม

"ธนดร" แถลงนโยบายต่อสภาเทศบาลนครอุดรธานี กางแผนพัฒนา 6 ด้าน ตั้งสภาพลเมืองระดมกำลังทุกภาคส่วนร่วมกำหนดทิศทางบริหารเมือง ปั้นนครอุดรธานีเป็นเมืองแห่งโอกาสสำหรับทุกคน ยกระดับสู่ Smart Urban ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเมืองรับศูนย์กลางอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 
  การประชุมสภาเทศบาลนครอุดรธานี                  

ผู้สื่อข่าว”ฐานเศรษฐกิจ”อุดรธานี รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ห้องประชุมเวสสุวัณ สำนักงานเทศบาลนครอุดรธานี มีการประชุมสภาเทศบาลนครอุดรธานี สมัยสามัญ สมัยแรก ครั้งที่ 1/2564  โดยวาระสำคัญได้แก่การแถลงนโยบายการบริหารงานของนายธนดร  พุทธรักษ์ นายกเทศมนตรีคนใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติเทศบาล พุทธศักราช2536  
    

นายธนดร แถลงต่อที่ประชุมสภาเทศบาลนครอุดรธานี ชี้ถึงความสำคัญของจังหวัดอุดรธานี ว่า เป็นจุดศูนย์กลางที่สำคัญของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทั้งด้านการคมนาคม และด้านเศรษฐกิจ ประกอบกับจังหวัดอุดรธานีมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วต่อเนื่องมาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้การใช้ประโยชน์ของที่ดินขยายตัวอย่างรวดเร็วเช่นกัน เห็นได้จากการขยายตัวของเมืองในพื้นที่ของเทศบาลนครอุดรธานีและเทศบาลอื่นโดยรอบ ที่เชื่อมโยงเป็นระบบเมืองเดียวกัน รวมถึงความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะทางด้านการสื่อสาร และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร  สังคมในปัจจุบันจึงก้าวเข้าสู่สังคมไร้พรมแดนอย่างแท้จริง ปัญหาของเมืองมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและสาธารณูปโภค 
   นายธนดร  พุทธรักษ์ นายกเทศมนตรีคนใหม่  

การบริหารจัดการเมืองจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องอาศัยบุคลากรและองค์ความรู้ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น รวมถึงการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนสำคัญ คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อร่วมกันบริหารจัดการเทศบาลนครอุดรธานี และเทศบาลโดยรอบ ให้เป็น“เมืองศูนย์กลางของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง”อย่างแท้จริง 
    

"ผมและคณะผู้บริหารมีความเชื่อมั่นว่า มีทรัพยากรด้านบุคลากรทรงคุณค่า ที่เป็นลูกหลานชาวจังหวัดอุดรธานีอยู่มากมาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ  ที่มีความรู้ ความสามารถ และมีประสบการณ์การทำงาน ที่จะสามารถนำมาร่วมกันบริหารจัดการเมืองอุดรธานีของเราให้มีความก้าวหน้าในระดับนานาชาติได้"    
การประชุมสภาเทศบาลนครอุดรธานี       

 

นอกจากนี้ได้กล่าวอีกว่า ในการเข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครอุดรธานี ตนและคณะผู้บริหารได้กำหนดนโยบายในการพัฒนาเทศบาลนครอุดรธานี โดยมีแนวทางหลักในการพัฒนา ให้เทศบาลนครอุดรธานีเป็น “เมืองแห่งโอกาสสำหรับทุกคน”    ด้วยการเปิดโอกาสให้กับตัวแทนจากทุกภาคส่วน ได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและพัฒนาเมือง ให้ตรงกับความต้องการของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน 
    

สร้างพื้นที่ในการเข้าถึงให้กับตัวแทนจากทุกภาคส่วน ทุกกลุ่ม ทุกชุมชน เพื่อร่วมกันเสนอแนะแนวทางการบริหารจัดการเมือง และเสนอนโยบายต่อคณะผู้บริหารเทศบาลนครอุดรธานี ด้วยการจัดตั้ง “สภาพลเมือง”เพื่อเป้าหมายหลักที่สำคัญในการพัฒนาเทศบาลนครอุดรธานี สู่ “เมืองแห่งความสุข” หมายถึง เมืองที่ประชาชนทุกภาคส่วน ทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย มีส่วนร่วมในการออกแบบเมืองในทุกมิติที่สำคัญ ทั้ง 3 ด้าน คือ 
    1. ด้านโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม 2.ด้านเศรษฐกิจ 3.ด้านสังคม 
    

เพื่อให้เทศบาลนครอุดรธานีก้าวสู่เมืองที่น่าอยู่และปลอดภัยอย่างยั่งยืน และเป็นเมืองที่ทุกคนทั้งในประเทศและต่างประเทศจะต้องมาเยือน นอกจากนี้แล้วก็มีแนวทางการพัฒนาออกเป็น 3 ระยะคือ ระยะเร่งด่วน กลางและยาว เพื่อสร้างความมั่นคงยั่งยืน ความเจริญให้กับเมือง 
    

เพื่อให้การบริหารงานของเทศบาลนครอุดรธานีสำเร็จตามเป้าหลักที่กล่าวไว้ข้างต้น ตนและคณะผู้บริหาร จะยึดมั่นในหลักการบริหารที่สำคัญ 2 ประการคือ 1.ยึดมั่นและส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข 2.บูรณาการการทำงานร่วมกับ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม และใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เป็นธรรม     มีธรรมาภิบาล และบริหารงานให้ตรงกับความต้องการของประชาชนมากที่สุด 
    

จึงกำหนดนโยบายในการพัฒนา 6 ด้าน คือ 1.นโยบายเร่งด่วน 2. ด้านการพัฒนาเมือง 3.ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและการสร้างรายได้ 4.ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการศึกษา 5.ด้านสาธารณสขและการกีฬา และ 6.ด้านความปลอดภัยของเมือง     
    

โดยนโยบายเร่งด่วน ที่มีความจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการ ได้แก่ 
    ก.การป้องกันการแพร่ระบาด และการส่งเสริมให้กับประชาชนได้เข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  
    ปัจจุบันปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างรุนแรง จึงถือเป็นบทบาทสำคัญของเทศบาลนครอุดรธานีในการป้องกันและสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค เช่น การตรวจคัดกรองให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ การทำความสะอาด รวมถึงการสร้างเครือข่าย และจิตอาสาเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างใกล้ชิดและครอบคลุมทุกพื้นที่  
    ข.การป้องกันน้ำท่วม 
    ด้วยการวางแผนบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)อุดรธานี สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย จังหวัดอุดรธานี แขวงทางหลวงอุดรธานี ที่ 1 สำนักงานชลประทานจังหวัดอุดรธานี เทศบาลเมืองหนองสำโรง เทศบาลตำบลหนองบัว และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนระดมเครื่องจักร เครื่องมือ และบุคลากร ขุดลอกลำห้วยหมากแข้ง ลำห้วยมั่ง และทางระบายน้ำ ในพื้นที่เขตเทศบาลนครอุดรธานี และเขตพื้นที่เทศบาลอื่นที่เป็นพื้นที่รับน้ำ ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่สถานีสูบน้ำ เพื่อสำรองไฟฟ้าในกรณีที่ไฟฟ้าดับ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำในจุดที่มีน้ำท่วมขังครอบคลุมทุกพื้นที่ เตรียมรับมือปัญหาน้ำท่วมในเขตเทศบาลนครอุดรธานี และพื้นที่โดยรอบในช่วงฤดูฝนที่จะถึงนี้ 
    ค.ความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง
    ทำความสะอาดถนน ทางเท้า และจัดการเรื่องขยะไม่ให้ตกค้าง เพื่อให้ถนนทุกสายสะอาดสวยงามไร้ฝุ่น ตัดแต่งต้นไม้ให้สวยงามเป็นระเบียบ และเพื่อความปลอดภัยเมื่อเกิดฝนตกและลมกระโชก 
    ง.จัดตั้งสภาพลเมือง
    จากตัวแทนจากทุกภาคส่วน ทุกกลุ่ม ทุกชุมชน เพื่อจัดตั้ง สภาพลเมืองในระดับชุมชน และระดับเมือง โดยสภาพลเมืองระดับชุมชนประกอบไปด้วย ประธานชุมชน ตัวแทนจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ผู้สูงอายุ เยาวชน ผู้ทรงคุณวุฒิในชุมชนในสาขาต่าง ๆ และสภาพลเมืองในระดับเมือง ประกอบไปด้วยตัวแทนจาก องค์กรสำคัญต่าง ๆ เช่น หอหารค้าจังหวัดอุดรธานี ประธานสภาอุตสาหกรรม สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว สถาบันการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ จากสาขาวิชาชีพ ตัวแทนจากเยาวชน และตัวแทนจากเครือข่ายอื่น ๆ เพื่อวางแผนและนำเสนอแนวทางการพัฒนาสู่นายกเทศมนตรีและผู้คณะบริหาร 
    จ.การพัฒนาเมือง 
    ขับเคลื่อนเทศบาลนครอุดรานีสู่“เมืองสีเขียว” (Green City) หรือเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เมืองที่ประชาชนร่วมกันออกแบบเมืองโดย“สภาพลเมือง” โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งมีประชากร          ที่ตระหนักถึงระบบนิเวศ และดำเนินชีวิตตามแนวคิดของความยั่งยืน ด้วยกระบวนการรีไซเคิล และลดการเป็นสาเหตุของการสร้างสภาวะโลกร้อน ด้วยการสร้างระบบนิเวศเมืองให้เกิดความสมดุลในโครงการ “รักษ์อุดร ร่วมสร้างอุดร”    
    พัฒนาย่านชุมชนที่อยู่อาศัยให้สะอาดน่าอยู่และปลอดภัย ด้วยการปรับปรุงสาธารณูปโภค ถนน ท่อระบายน้ำ ไฟฟ้าแสงสว่าง ในชุมชน ส่งเสริม       ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการขยะ และจิตอาสาดูแลและเฝ้าระวังภัย เพื่อสร้างเครือข่ายกับอาสาป้องกันภัย อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)      เพื่อให้เป็น “ชุมชนน่าอยู่และปลอดภัย” ยกระดับเทศบาลนครอุดรธานี สู่ Smart Urban ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด ไม่ว่าจะเป็น Internet of Things (IoT) Artificial intelligence (AI)หรือปัญญาประดิษฐ์เพิ่ม Internet เมืองและชุมชน นำ Digital Platform มาใช้ในการพัฒนาเมือง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง ลดค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากรของเมือง โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจ ภาคประชาชนในการพัฒนาเมืองร่วมกัน ออกแบบเมืองภายใต้กรอบแนวคิดเมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย และยั่งยืน 
    

การประชุมสภาเทศบาลนครอุดรธานี

แผนงานระยะกลาง ตนและคณะผู้บริหารร่วมกับสภาเทศบาลนครอุดรธานี จะวางแผนเรื่องงบประมาณประจำปี 2565-2568   เพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ยังขาดเหลืออยู่ โดยจะเพิ่มงบลงทุนจากที่ปัจจุบันนี้มีอยู่เพียง 10 %  ให้เพิ่มไปแตะอยู่ที่ประมาณ 20 %  ของงบประมาณทั้งหมด 
    ส่วนในระยะยาว จะเร่งให้มีการนำสายไฟฟ้าลงดินในย่านเศรษฐกิจสำคัญของเมือง และจะให้มีการส่งเสริมสร้างย่านท่องเที่ยว ด้วยการสร้างย่านสตรีท ฟูดส์ เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของเมือง และส่งเสริมการค้าขายอย่างถูกต้องตามกฎหมายแก่ผู้ประกอบการรายย่อย รายเล็ก ให้เป็นระเบียบสวยงาม สิ่งที่สำคัญคือการส่งเสริมการศึกษา ให้โรงเรียนเทศบาล 12 แห่ง ส่งเสริมให้มีการเรียนภาษาที่ 2 ที่ 3 ให้มากที่สุดให้สมกับเป็นศูนย์กลางของอาเซี่ยน   
    นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี ย้ำตอนท้ายในการแถลงนโยบายต่อสภาฯว่า ตนและผู้บริหารทุกท่านจะนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม และเพื่อให้ตรงกับความต้องการของประชาชนให้มากที่สุด โดยมีแผนยุทธศาสตร์จังหวัดอุดรธานี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และยุทธศาสตร์ชาติเป็นกรอบในการบริหารงาน เพื่อส่งผลให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเทศบาลนครอุดรธานี และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นโดยรอบ  
     จากนั้นสมาชิกสภาเทศบาลนครอุดรธานี ทั้งจากฝากของกลุ่มการเมืองเดิม และจากกลุ่มของนายธนดร ได้สลับกันขึ้นอภิปรายต่อนโยบายของนายธนดรฯ มีทั้งท้วงติงและกำชับให้นำนโยบายที่เสนอสภาฯปฏิบัติให้เกิดผล 
    นับเป็นประวัติศาสตร์การปกครองของอุดรธานี ที่ได้ผู้บริหารจากการเลือกตั้งเกือบทั้งหมดมาจากกลุ่มก้อนพรรคเพื่อไทย คือ นายวิเชียร ชาวชำ อดีตส.ส.เพื่อไทย เป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)อุดรธานี มีนางเทียบจุฑา ขาวขำ เป็นส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย และเป็นที่ปรึกษานายก อบจ.อุดรฯ ขณะที่นายธนดร พุทธรักษ์ ก็ได้รับการสนับสนุนจากนายศราวุธ เพชรพนมพร ส.ส.เพื่อไทยเช่นกัน โดยมีนางหทัยรัตน์ เพชรพนมพร เป็นรองนายกเทศมนตรี คนที่ 1 ที่ทำให้ถูกจับตาว่าการทำงานของท้องถิ่นอุดรธานีจะเป็นไปอย่างมีเอกภาพ  ลั่นนครอุดรฯยุคใหม่\"เมืองแห่งโอกาสสำหรับทุกคน\" 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง