รายงานข่าวระบุว่า พล.อ.ท.อนุตตร จิตตินันทน์ (หมออนุตตร) ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (Anutra Chittinandana) โดยมีข้อความว่า
เห็นตัวเลขการระบาดของโควิด-19 รายวันที่ไม่มีแนวโน้มลดลง คงเหนื่อยใจกันทุกคนนะครับ ในส่วนที่ผมสนใจคือปัญหาการดูแลผู้ป่วยอาการหนัก เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่ออัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น และเป็นการดูแลที่ต้องใช้ทรัพยากรทางการแพทย์อย่างมาก รวมทั้งเป็นเตียงที่ยากในการเพิ่มจำนวนได้อีก
ผมลองทำกราฟดูแนวโน้มอาการหนักและใช้เครื่องช่วยหายใจทั่วประเทศในรอบ 2 เดือนระหว่างวันที่ 24 เมษายน ถึง 23 มิถุนายน 2564 จะเห็นว่าในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังสงกรานต์ ผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า ใช้เครื่องช่วยหายใจเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า แต่หลังจากนั้นตัวเลขที่รายงานค่อนข้างคงที่ พอบริหารจัดการได้ แต่ในช่วง 10 วันที่ผ่านมา แนวโน้มของจำนวนผู้ป่วยอาการหนักกลับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จาก 1,209 ราย เป็น 1,526 แต่จำนวนผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจกลับไม่เพิ่มขึ้น อยู่ที่ประมาณ 400 กว่าราย
อันนี้อาจเกิดจากมีการใช้ high flow มากขึ้นแทนการใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือแต่ละ รพ.ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจในเตียงผู้ป่วยหนัก หรือผู้ป่วยเสียชีวิตไปก่อนที่จะสามารถใช้เครื่องช่วยหายใจ เพราะตอนนี้เตียงสำหรับผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจเต็มแล้วก็ได้
พวกเราคงต้องป้องกันตัวเองอย่างเต็มที่ นอกจากป้องกันไม่ให้เป็นโควิด 19 แล้ว ก็ยังต้องดูแลตัวเองไม่ให้ป่วยหนักด้วย เพราะเตียงผู้ป่วยอาการหนักด้วยโรคอื่น ๆ ด้วย โดยเฉพาะที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจน่าจะมีปัญหามากทีเดียว โดยเฉพาะใน กทม.และปริมณฑล หน้างานทุกคนรู้ว่าสภาพเตียงผู้ป่วยหนักของแต่ละโรงพยาบาลตึงมือจริง ๆ และไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้มาก เนื่องจากบุคลากรทุกส่วนของโรงพยาบาลต่าง ๆ ตอนนี้ก็ทำงานกันจนจะไม่ไหวแล้ว
ป้องกันตัวเองอย่างเต็มที่ด้วยการอยู่บ้าน เลี่ยงที่ชุมชน อย่าไว้ใจใครทั้งสิ้น ทั้งคนแปลกหน้าและคนที่เรารู้จักดี คิดเสมอว่าทุกคนมีโอกาสที่จะแพร่เชื้อให้เรา ล้างมือบ่อย ๆ ใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง และหมั่นสังเกตุอาการ ไข้ หวัด เจ็บคอ ไม่ได้กลิ่น... ถ้ามีอาการให้รีบไปตรวจคัดกรอง และถ้าเกิดติดเชื้อขึ้นมาก็รีบติดต่อเพื่อให้ได้นอนโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนาม ตั้งแต่ยังไม่มีอาการหรืออาการน้อย เรื่องวัคซีนก็อย่าลืมไปฉีดเมื่อนัดฉีดได้นะครับ
โควิด 19 รอบนี้ไม่ใช่แค่การต่อสู้ช่วงสั้น ๆ แต่คงเป็นการต่อสู้แบบมาราธอนครับ ไม่รู้ว่าบุคคลากรทางการแพทย์ที่ตั้งรับรักษาพยาบาลอยู่ หรือประชาชนที่ดูแลตัวเองจะหมดแรงก่อน ถ้ากรรมการกลางไม่สั่งให้หยุดพักเพื่อเติมแรงก่อนจะหมดแรงกันทั้งสองฝ่าย
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลรัฐ กทม. เข้าสู่ภาวะวิกฤต โดยเป็นข้อมูลจากคุณหมอ ไพโรจน์ เครือกาญจนา รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งระบุว่า
ขณะนี้ ห้องฉุกเฉินของ รพ.รัฐต่างๆในกรุงเทพฯ เข้าสู่ภาวะวิกฤตครับ อย่างเช่น สถานการณ์เวรบ่าย ER ของ รพ.ราชวิถีวันนี้
เคส confirmed covid-19 11 เคส + รอ confirm (น่าจะ positive) อีก 3 เคส
ห้อง negative และ พื้นที่แยกของ ER เต็มทั้งหมด (ไม่มีพื้นที่รับเคส covid-19 และ PUI ใหม่แล้ว) ซึ่งเราก็คงจะไม่สามารถปฏิเสธหากมีเคสที่ walkin หรือมาโดยระบบ EMS
สำหรับตัวเลขล่าสุดของผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวอยู่นั้น จากรายงานของศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข วันที่ 23 มิถุนายน 2564 พบว่า มีผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวอยู่ 37,018 ราย แบ่งเป็น อยู่ในโรงพยาบาล 11,366 ราย อยู่ในโรงพยาบาลสนาม 25,652 ราย โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 1,526 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่ 433 ราย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :