องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก หรือ GEF และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย หรือ UNDP ร่วมกันจัดงานสัมมนาและเผยแพร่แนวคิด “เมืองคาร์บอนต่ำ สุขอาศัยอย่างยั่งยืน” (Sustainable & Livable Low-carbon Cities) ในรูปแบบออนไลน์ระหว่างวันที่ 21-22 มิถุนายน 2564 เวลา 09.00-12.00 น.
เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำผ่านระบบการจัดการเมืองอย่างยั่งยืน ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ เพื่อขยายผลและต่อยอดสู่การเป็นเมืองและสังคมคาร์บอนต่ำต่อไป ตลอดจนเพื่อเป็นการสร้างการรับรู้และเปิดโอกาสให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เยาวชน รวมถึงประชาชนที่สนใจมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการมุ่งสู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ
สัมมนาดังกล่าวได้รับเกียรติจาก นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม Mr.Renaud Meyer Resident Representative: UNDP Thailand นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และนายเกียรติชาย ไมตรีวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เป็นประธานกล่าวต้อนรับและเปิดงาน และมีผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ มาร่วมเป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนแนวคิด มุมมอง ให้ความรู้ และร่วมแบ่งปันประสบการณ์การดำเนินงานจากบุคคลสำคัญๆ ทั้งจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชนที่ได้ดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการพัฒนาไปสู่เมืองคาร์บอนต่ำ สุขอาศัยอย่างยั่งยืน มากกว่า 40 คน จาก 8 หัวข้อ
นายวราวุธ ศิลปอาชา กล่าวว่า “กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ระบุประเด็นเรื่องการพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำไว้ในแผนต่างๆ ของประเทศ ซึ่งต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในทุกระดับ ตั้งแต่ข้าราชการ เอกชน และประชาชนทั้งในเมืองและในท้องถิ่น ในการดำเนินงาน เพื่อให้เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศสามารถบรรลุผลสำเร็จ รวมถึงยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทยให้ปรับตัวต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสามารถพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน”
ทั้งนี้ มีประเด็นเสวนาที่น่าสนใจ เช่น หัวข้อ “สร้างเมืองคาร์บอนต่ำไม่ยากอย่างที่คิด” เป็นนำเสนอผลการปฏิบัติที่ดีด้านการพัฒนาเมืองและสังคมคาร์บอนต่ำ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเมืองนำร่องต้นแบบทั้ง 4 เมือง ได้แก่ เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลนครนครราชสีมา เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลนครเกาะสมุย และมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง รวมทั้งขยายวงการมีส่วนร่วมไปยังชุมชนด้วยกระบวนการเรียนรู้และการจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ ตลอดจนจุดประกายการพัฒนาไปสู่สังคมเมืองคาร์บอนต่ำแก่เมืองอื่นๆ ต่อไป
หัวข้อ “เศรษฐกิจหมุนเวียนในท้องถิ่น เพื่อลดโลกร้อนอย่างยั่งยืน” เป็นการนำเสนอแนวทางขับเคลื่อนและการนำแนวคิดเศรฐกิจหมุนเวียนไปประยุกต์ใช้ ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ท้องถิ่นควรดำเนินการ เพราะนอกจากจะช่วยประหยัดงบประมาณ และเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการแล้ว ยังช่วยโลกประหยัดทรัพยากร ลดขยะ และลดโลกร้อน ช่วยเพิ่มความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อมและกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
หัวข้อ “คาร์บอนเครดิต พิชิตโลกร้อน” โดยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการจัดทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเกิดผลประโยชน์ร่วม (Co-benefit) ของการลดก๊าซเรือนกระจก เช่น ช่วยลดมลพิษ เพิ่มความร่มรื่น และพื้นที่สีเขียวลดการใช้พลังงานและค่าไฟฟ้า สนับสนุนเศรษฐกิจในชุมชนและอื่นๆ รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาอาชีพใหม่ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และยังต่อยอดการสร้างมูลค่าเพิ่มจากคาร์บอนเครดิตของโครงการ T-VER ในประเทศ ผ่านตลาดซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตซึ่งเป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชน
ในงานสัมมนาครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมจากทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป ซึ่งให้ความสนใจอย่างมาก ผ่านทางแอพพลิเคชั่น Zoom รวมทั้ง 2 วัน จำนวน 1,042 คน Facebook live ทั้ง 3 ช่อง รวมทั้ง 2 วัน จำนวน 87,069 คน (นับเฉพาะการเข้าถึงในช่วงเวลาการจัดงาน)
ผู้สนใจการเสวนาในหัวข้อต่างๆ สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ Facebook Page : องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก – องค์การมหาชน Link : https://www.facebook.com/tgo.or.th