เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับสำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการจัดประชุมพัฒนาโจทย์การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาด้วยแนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้ หรือ Learning City ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ (Zoom Meeting)
โดยมี น.ส.ดุริยา อมตวิวัฒน์ ที่ปรึกษา สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ อดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโก ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย นายกเทศมนตรีและผู้แทนจากสมาชิกเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ ตลอดจนนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญเรื่องการทำงานระดับพื้นที่ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
น.ส.ดุริยา อมตวิวัฒน์ ที่ปรึกษาสำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ อดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโก ได้ร่วมแลกเปลี่ยนโดยมีสาระสำคัญตอนหนึ่งว่าแนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) เป็นหนึ่งในแนวคิดที่ส่งเสริมการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การยูเนสโก ในปัจจุบัน การเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการศึกษาในระบบแต่การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา ตลอดชีวิต หรือ Lifelong Learning
โดยเมืองซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน และศึกษา มีส่วนสำคัญในการสร้างและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในเมืองนั้นๆ แนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้ (learning city) สนับสนุนให้เมืองเป็นแกนนำร่วมกับภาคส่วนต่างๆ สร้างและสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้และการพัฒนาคนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและสังคมทุกมิติ เนื่องจากการพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้จะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคมอย่างมั่นคงและยั่งยืน
การพัฒนาเมืองภายใต้กรอบแนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้เป็นที่ยอมรับและเห็นผลจริงในวงกว้าง โดยทั่วโลกมีเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ (Global Network of Learning Cities: GNLC) มากกว่า 229 เมืองจาก 64 ประเทศ โดยประเทศไทยมีเมืองที่เป็น GNLC 4 แห่ง ได้แก่ เทศบาลนครเชียงราย เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลนครภูเก็ต และเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา ทั้งนี้ การเป็นเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่เมืองและประเทศ ที่สำคัญกว่านั้น ยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรและเมืองทั้งในเชิงเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และการมีส่วนร่วมของประชาชน
คุณสมบัติเบื้องต้นของการเป็น GNLC คือ เป็นเมืองที่มีประชากร 10,000 คน ขึ้นไป และผู้บริหารจะต้องกำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนาเมืองที่ชัดเจน ตามบริบทและสภาพปัญหาของพื้นที่ เมืองที่สนใจสมัครเป็นเครือข่าย GNLC จะเปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 1 ก.ย. – 1 พ.ย. 2564 ผ่านทางสำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยสามารถติดตามข่าวสารการสมัครได้ที่ https://uil.unesco.org/lifelong-learning/learning-cities/become-member
ด้าน นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา และนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเรียนรู้เป็นเรื่องสำคัญเพราะมนุษย์ต้องมีการปรับตัวตลอดเวลาเพื่อให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง การสนับสนุนให้เกิดเมืองแห่งการเรียนรู้เป็นกรอบการทำงานที่ท้องถิ่นมีอำนาจและสามารถทำได้ ทั้งการส่งเสริมการเรียนรู้ทุกช่วงวัย ตั้งแต่ปฐมวัยไปจนถึงการศึกษาในระบบ
การลดจำนวนและปัญหาเด็กนอกระบบ การส่งเสริมศึกษาตามอัธยาศัย การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และการส่งเสริมสร้างนิสัยให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้แต่ละคนมีทักษะที่หลากหลายให้อยู่รอดในอนาคต โดยยกตัวอย่างการทำงานของ เทศบาลนครยะลาซึ่งมีการสร้างศูนย์เรียนรู้ซึ่งยะลามี TK park แห่งแรกในภูมิภาค นอกจากนี้ และส่งเสริมการพัฒนาทักษะแรงงานท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและได้รับผลกระทบจากโควิด-19
นอกจากนี้ สมาคมสันนิบาตฯ ส่งเสริมการเรียนรู้ โดยตั้งหน่วยงานด้านวิชาการและการวิจัยขึ้นมาทำงานเรื่องการเรียนรู้เป็นการเฉพาะ ซึ่งพร้อมที่จะทำงานพัฒนาการศึกษาของเด็กและเยาวชน โดยท้องถิ่นมีหน้าที่และจำเป็นต้องสนับสนุนเรื่องโอกาสที่เสมอภาคทางการศึกษาโดยเฉพาะกับกลุ่มเด็ก เยาวชน และกลุ่มเปราะบางในสังคมให้มีโอกาสทางการศึกษา การเรียนรู้และการพัฒนาทักษะเช่นเดียวกับกลุ่มคนทั่วไป ทั้งนี้ อาจทำโดยการให้ทุนการศึกษาเด็ก การค้นหาและสนับสนุนศักยภาพตามความถนัดของเด็กพร้อมทั้งสร้างสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนการสร้างทักษะการเรียนรู้
นายกลยุทธ์ ฉายแสง นายกเทศมนตรีเมืองฉะเชิงเทรา กล่าวว่า เมืองฉะเชิงเทราได้กำหนดวิสัยทัศน์ให้เป็นเมืองสวยงามน่าอยู่ ซึ่งทำงานครอบคลุมทุกด้านทั้งด้านสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม การพัฒนาคน การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและการศึกษา โดยเทศบาลเมืองฉะเชิงเทราได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้สำหรับผู้ที่อยากศึกษาหาความรู้ ทุกเพศ ทุกวัยโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนชาวฉะเชิงเทราได้เข้าถึงการเรียนรู้อย่างเสมอภาค ในฐานะที่เป็นเครือข่าย GNLC ประเทศไทย เทศบาลเมืองฉะเชิงเทรามีแนวคิดที่จะผลักดันให้เกิดวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้เกิดขึ้นผ่านการจัดนิทรรศการส่งเสริมการเรียนรู้ต่างๆ เพื่อกระตุ้นการรับรู้ และสร้างความตื่นตัวให้คนในพื้นที่
นายสาโรจน์ อังคณาพิลาส นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวว่า ที่ผ่านมานครภูเก็ตได้ทำงานเรื่องการศึกษามาอย่างต่อเนื่องทั้งสนับสนุนเด็กพิการและผู้ด้อยโอกาส ให้ได้เรียนตามความต้องการ มีนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาค้นหาช่วยเหลือนักเรียนที่ออกกลางคันให้กลับเข้าเรียนได้ตามปกติ พร้อมสร้างโอกาสให้ประชาชนได้เรียนรู้ตลอดชีวิต การพัฒนาสาธารณูปโภคเพื่อการศึกษา เช่น เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ห้องสมุด ศูนย์การเรียนรู้ สนับสนุนการฝึกอาชีพ การสร้างทักษะพิเศษให้เด็กที่สนใจ เช่น ว่ายน้ำ คอมพิวเตอร์ ดนตรี ภาษา ดูแลทั้งเด็กหน้าห้องให้พัฒนายิ่งขึ้นและเพิ่มความสนใจเด็กหลังห้อง โดยร่วมมือทั้งส่วนภูมิภาค จังหวัด สถาบันการศึกษา เครือข่ายต่างประเทศ และภาคธรุกิจ
น.ส.ดลนภา พัฒนาศักดิ์ ตัวแทนสำนักการศึกษา เทศบาลนครเชียงใหม่ กล่าวว่า เทศบาลนครเชียงใหม่จัดทำยุทธศาสตร์พัฒนาคุณภาพชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ส่งเสริมการเรียนรู้ตั้งแต่ปฐมวัย การศึกษาตามอัธยาศัย การศึกษาตลอดชีวิต ห้องสมุด คอมพิวเตอร์ให้สืบค้นข้อมูล สำหรับประชาชนที่มีทุนทรัพย์น้อย ไปจนถึงการส่งเสริมการประกอบอาชีพ ในตลาดที่มีการแข่งขันสูงขึ้น เพื่อสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ดร.ปรีชา อนุรักษ์ รองนายกเทศมนตรีนครเชียงราย กล่าวว่า จากที่ได้ทำงานในฐานะเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้มาจะครบสองปี ทำให้สามารถเห็นทิศทางการทำงาน จัดลำดับความสำคัญให้สอดคล้องกับการทำงานของเครือข่ายและเพิ่มเติมต่อยอดการจัดการศึกษาตลอดชีวิต ซึ่งนครเชียงรายมีการจัดการศึกษาและสร้างโอกาสการเข้าถึงทุกระดับชั้น มีมหาวิทยาลัยวัยที่ 3 เป็นมหาวิทยาลัยรองรับสังคมผู้สูงอายุ ได้ร่วมทำกิจกรรม เรียนรู้เทคโนโลยี ไปจนถึงภาษาที่สอง ภาษาที่สาม
ดร.ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) กล่าวเน้นย้ำความสำคัญของ SDG และเมืองแห่งการเรียนรู้ว่า การพัฒนาการเรียนรู้เกี่ยวข้องกับ SDG ทั้ง 17 ข้อ เนื่องจากความยากจน สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาทรัพยากรมนุษน์ทุกมิติล้วนเกี่ยวข้องกับการศึกษา แนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้เป็นการสนับสนุนให้เมืองหรือพื้นที่มีโอกาสในการสร้างการพัฒนาที่เหมาะสมกับบริบทของตนเอง
ซึ่งมีตัวอย่างการพัฒนาทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทย โดยแต่ละเมืองของประเทศไทยต่างมีต้นทุนทางวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมที่สามารถทำให้เกิดการเรียนรู้และการตอบเป้าหมาย SDG ได้ ทั้งนี้ การส่งเสริมให้เกิดเมืองแห่งการเรียนรู้ควรมีการทำงานร่วมกับภาคส่วนวิชาการหรือมหาวิทยาลัยในพื้นที่เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาควิชาการและภาคนโยบาย อีกทั้งเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากต้นทุนในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. กล่าวเสริมว่า ความเสมอภาคทางการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นทั้งความท้าทาย และเป็นโอกาสในการทำให้ SDG ทั้ง 17 เป้าหมายสามารถบรรลุได้ เนื่องจากการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตมีความเชื่อมโยงและเป็นปัจจัยที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนความเสมอภาคทางสังคมแทบทุกด้าน
ดังนั้น กสศ.จึงร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการผลักดันเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปี 2563 กสศ. ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการและภาคีเครือข่ายในและต่างประเทศจัดการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี ปฏิญญาจอมเทียน หนึ่งในข้อสรุปของการประชุมคือ การศึกษาเพื่อปวงชนจะเกิดขึ้นได้เมื่อทุกภาคส่วนในสังคมร่วมมือกันเพื่อการศึกษา หรือ All for Education โดยชุมชนท้องถิ่นถือเป็นจุดจัดการสำคัญที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง
เพราะเมืองเป็นการย่อโจทย์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระดับประเทศลงมา ในขนาดพอเหมาะที่ท้องถิ่นจะทำได้ อีกทั้ง แนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้เป็นกลไกสำคัญ (Game changer) ที่จะทำให้ความเสมอภาคทางการศึกษาสามารถทำให้เป็นรูปธรรมได้ในระยะเวลาอันสั้น
กสศ. และหน่วยงานภาคีมีข้อมูลสารสนเทศเชิงพื้นที่ และมีเครื่องมือเชิงนวัตกรรมซึ่งสามารถช่วยสนับสนุนเทศบาล หรือ ท้องถิ่นที่สนใจเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย GNLC โดยการเป็นเมืองรางวัลเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้อาจไม่ใช่เป็นเป้าหมายสุดท้ายของการพัฒนาเมือง แต่ “กระบวนการ” พัฒนาชุมชนท้องถิ่นสู่เป้าหมายเมืองแห่งการเรียนรู้ของโลกคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในการเข้าร่วมเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ขององค์การ UNESCO นี้ ซึ่งกระบวนการนี้จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และการสร้างโอกาสที่เสมอภาคในการมีคุณภาพชีวิต การศึกษา การเรียนรู้ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ตลอดจนคุณภาพของเมืองให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป