รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
สิ่งที่ผู้ป่วยและครอบครัวต้องระวัง หากมีการลดเวลารักษาตัวในรพ.
Jones TC และคณะ ได้ตีพิมพ์ผลการศีกษาวิจัย โดยทำการประเมินเรื่องการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์อัลฟ่า (B.1.1.7, สหราชอาณาจักร) ว่าส่งผลต่อผู้ติดเชื้อแตกต่างจากสายพันธุ์อื่นหรือไม่
เค้าทำการศึกษาจากตัวอย่างสิ่งคัดหลั่งจากผู้ติดเชื้อ 25,381 คนในเยอรมัน ทั้งนี้มี 1,533 คนที่ติดเชื้อสายพันธุ์อัลฟ่า
โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์อัลฟ่าจะมีปริมาณไวรัสมากกว่าติดเชื้อสายพันธุ์อื่น 1.05 log10 และมีโอกาสที่จะเพาะเชื้อพบไวรัสมากกว่าสายพันธุ์อื่นถึง 19% จากการตรวจพบว่าติดเชื้อครั้งแรก (50% ในสายพันธุ์อัลฟ่า และ 31% ในสายพันธุ์อื่น)
สายพันธุ์อัลฟ่านั้น หลังจากติดเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จะมีปริมาณไวรัสสูงสุดโดยใช้เวลาราว 4.3 วัน
โดยจะมีโอกาสเพาะเชื้อพบไวรัสได้ถึง 74% ภายในเวลา 2 วันหลังจากวันที่ปริมาณไวรัสสูงสุด ในขณะที่โอกาสเพาะเชื้อพบไวรัสจะลดลงเป็น 52% ณ วันที่ 5 และ 29% ณ วันที่ 10
ซึ่งจากข้อมูลงานวิจัยของเยอรมันนี้ หากเราเปรียบเทียบกับงานวิจัยปีที่แล้วเกี่ยวกับโอกาสเพาะเชื้อพบสำหรับสายพันธุ์ดั้งเดิม จะพบว่าสายพันธุ์อัลฟ่านอกจากแพร่ง่ายขึ้นเพราะมีติดเชื้อแล้วมีปริมาณไวรัสมากกว่าเดิมแล้ว การคงอยู่ของไวรัส และโอกาสเพาะเชื้อพบนั้นยาวนานมากขึ้น
ดังนั้น หากทราบเช่นนี้ ก็ต้องระมัดระวัง
ถ้าติดเชื้อแล้วได้รับการดูแลรักษาในโรงพยาบาล 10 วัน แล้วกลับไปกักตัวที่บ้าน ขอให้ตระหนักไว้ว่าจำเป็นต้องป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด
จัดพื้นที่ภายในบ้านให้เหมาะสม แยกพักจากคนอื่นในครอบครัว ใส่หน้ากากเสมอตอนอยู่ในบ้าน แยกกันกินแยกกันอยู่ไปก่อน ห้องน้ำหากแยกใช้ได้จะดีมาก หากแยกไม่ได้ ก็ขอให้ทำความสะอาดทุกครั้งหลังใช้เสร็จ และพยายามระบายอากาศให้ดี
ส่วนตัวแล้วอยากจะเน้นย้ำว่า แยกกักตัวไปจนครบเดือนก็จะปลอดภัยกว่าครับ
ย้ำอีกครั้งว่า การระบาดในไทยเรากระจายไปมาก มีโอกาสติดเชื้อกันได้เสมอ ไม่ว่าจะได้รับวัคซีนแล้วหรือยังไม่ได้รับก็ตาม
หน้ากากเป็นอาวุธสำคัญ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า
เตรียมที่อยู่อาศัยเผื่อไว้ ยามจำเป็น
ด้วยรักและห่วงใย
ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวมาจากการที่ในปัจจุบันประเทศมีผุ้ติดเชื่้อเพิ่มในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก 3- 4 พันราย จนทำให้เกิดวิกฤตเตียงคนไข้ขาดแคลน โดย "ฐานเศรษฐกิจ" ได้เคยนำเสนอความคิดเห็นของหมอหลายท่านต่อเรื่องดังกล่าว
พล.อ.ท.อนุตตร จิตตินันทน์ (หมออนุตตร) ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (Anutra Chittinandana) โดยมีข้อความว่า "เห็นตัวเลขการระบาดของโควิด-19 (Covid-19) รายวันที่ไม่มีแนวโน้มลดลง คงเหนื่อยใจกันทุกคนนะครับ ในส่วนที่ผมสนใจคือปัญหาการดูแลผู้ป่วยอาการหนัก เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่ออัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น และเป็นการดูแลที่ต้องใช้ทรัพยากรทางการแพทย์อย่างมาก รวมทั้งเป็นเตียงที่ยากในการเพิ่มจำนวนได้อีก"
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha) โดยมีข้อความว่า "คัดกรอง covid จุฬาปิด 4 วัน 24-27 ไม่มีเตียงรับ แต่คนไข้ก็มาที่ ER อยู่แล้ว เพราะไปที่อื่นก็ไม่ได้ตรวจเช่นกัน เนื่องจากตรวจแล้วต้องรับก็ไม่มีเตียงไม่มีคนดู เลยกลายเป็น มีอาการก่อน จึงมา ER ชึ่งล้วนมีอาการปอดบวมแล้ว และอาการหนัก ไม่มีเตียง อยู่ดี"
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความว่า
"ได้รับคำถามจากผู้ใหญ่ที่เคารพและจากสื่อมวลชนหลายแขนงว่า แล้วภาคการแพทย์จะทำอย่างไรได้บ้าง ผมตอบว่าถึงตรงนี้เราไม่สามารถเพิ่มเตียงระดับ 2 และ 3 ไปมากกว่านี้ได้แล้ว เพราะติดขัดเรื่องกำลังคน ถ้าปล่อยให้มีผู้ป่วยใหม่ที่จำเป็นต้องอยู่รพ.หลักเพิ่มขึ้นเร็ว ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะต้องนำไปดูแลรักษาในพื้นที่ทั่วไปที่ไม่ได้เตรียมไว้สำหรับรักษาผู้ป่วยโควิด ทำให้ผู้ป่วยอื่นได้รับการบริการลดกว่ามาตรฐานมาก (เดิมลดบ้างพอรับได้) ทำให้ผู้ป่วยโควิดไม่ได้รับการดูแลเต็มที่เพราะคนและเครื่องมือติดตามไม่พอ และท้ายสุดทำให้บุคลากรและผู้ป่วยอื่นเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาล"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :