รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความว่า
ผมสอนแพทย์รุ่นหลังแบ่งการดูแลรักษาผู้ป่วยเป็น 4 ขั้น คือ
การรักษาจำเพาะ (specific treatment) เป็นการรักษาเมื่อวินิจฉัยโรคได้แน่นอน มีเครื่องมือและอุปกรณ์พร้อมในการรักษา การพยากรณ์โรคดี สภาพร่างกายและจิตใจผู้ป่วยและญาติเข้มแข็ง เป้าหมายคือ ทุเลาหรือหายขาด
การรักษาประคับประคอง (supportive treatment) เป็นการรักษาเมื่อวินิจฉัยโรคได้แน่นอนหรือในระหว่างรอยืนยันการวินิจฉัย เป้าหมายคือ ทำให้ร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยอยู่ในสภาพที่ปลอดภัย รอผลการรักษาจำเพาะ
การรักษาตามอาการ (symptomatc treatment) เป็นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการของโรค เป้าหมายคือ ลดความทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย ในระหว่างรอหรือรับการรักษาจำเพาะและการรักษาประคับประคอง
การรักษาพยุงชีวิตระยะสุดท้าย (paliative treatment and end-of-life care) เป็นการรักษาเมื่อไม่สามารถทำการรักษาอย่างอื่นได้แล้วหรือทำแล้วไม่ได้ผล ทั้งผู้ให้การรักษาและผู้รับการรักษาเข้าใจสิ่งที่ตัดสินใจกระทำร่วมกัน เป้าหมายคือ ให้ผู้ป่วยและญาติใช้ช่วงชีวิตระยะสุดท้ายของโรคอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสอดคล้องกับความคาดหวังส่วนบุคคลและครอบครัว
ถึงตรงนี้เราจะรักษาโรคโควิด-19 ในเมืองหลวงแบบไหน ผมคิดว่าสถานการณ์โควิดในกทม. ยังพอเปลี่ยนการพยากรณ์โรคได้ด้วยการรักษาจำเพาะควบคู่รักษาตามอาการและประคับประคอง ก่อนจะเข้าสู่การรักษาระยะท้าย หลังถูกปล่อยให้เรื้อรังซึมลึกมาหลายเดือน ด้วยการล็อกดาวน์กทม.ชั่วคราว เพื่อค้นหาและหยุดยั้งการระบาด โดยยุทธการ 3 ระ
ระงับ การเคลื่อนย้ายของประชาชนทั้งสามส่วนคือ คนไทยภูมิลำเนากทม. คนไทยต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในกทม. แรงงานต่างชาติทั้งที่ถูกกฏหมายและผิดกฏหมาย (แบบหลังมีมากกว่าแบบแรกอย่างน้อยสองเท่า)
ระดม กำลังทั้งภาคการแพทย์ ภาคประชาชน และภาคความมั่นคง จากต่างจังหวัดที่สถานการณ์โควิดยังพอควบคุมด้วย เพื่อเสริมกำลังทัพในกทม. สำหรับเร่งค้นหาผู้ติดเชื้อ คัดแยกผู้ป่วยที่มีอาการเข้ารับการรักษาตามระดับความรุนแรง เฝ้าระวังและติดตามผู้ที่เสี่ยงแต่ยังไม่ติดเชื้อจนกว่าจะปลอดภัย เช่นเดียวกับที่เราเคยทำสำเร็จในสมุทรสาครเมื่อระลอกสอง และในทัณฑสถานเขตกทม.และปริมณฑลในระลอกสาม (แสดงว่าตอนนี้เป็นระลอกสี่?)
ระวัง จัดเตรียมมาตรการเยียวยาและช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ ตรงเป้าที่คนรากหญ้า และต้องไม่ให้ถูกเบียดบังโดยกลุ่มคนฉ้อฉล
เราอาจไม่มีคนที่แข็งแรงพอที่จะชื่นชมผลงานการเปิดประเทศสร้างรายได้ ซื้ออาวุธเพื่อปกป้องประเทศ หรือสร้างสิ่งประดับสวยงามในท้องถิ่นแบบผลาญเงินและไม่เกิดมูลค่าเพิ่ม และต้องทำมาตรการเช่นเดียวกันนี้ในทุกจังหวัดที่มีปัญหาเช่นเดียวกับกทม.
#LockdownBKKSearchAndDestroyCOVID
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมตัวเลขสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทย วันที่ 26 มิถุนายน 2564 จากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า
ติดเชื้อเพิ่ม 4,161 ราย
สะสมระลอกสาม 211,589 ราย
สะสมทั้งหมด 240,452 ราย
ออกจากโรงพยาบาลได้ 3,569 รายสะสม 169,249 ราย
เสียชีวิตเพิ่ม 51 ราย
สะสมระลอกสาม 1,776 ราย
สะสมทั้งหมด 1,870 ราย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :