NIA ประกาศทีมErythro-Sed สาขาการแพทย์ คว้ารางวัลสุดยอดสตาร์ทอัพลีกภาคเหนือ เป็นตัวแทนเข้าแข่ง“STARTUP Thailand League 2021 ที่ต้องชิงชัยกับตัวแทนภาคใต้จากเวทีเมืองหาดใหญ่และภาคกลางที่กรุงเทพฯ เดือนสิงหาคมนี้
วันที่ 27 มิถุนายน 2564 ที่โรงแรมแคนทารี ฮิลล์ จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(องค์การมหาชน) (NIA) ได้เปิดเวทีใหญ่จัดกิจกรรม Startup Thailand League ปีที่ 5 โดยกิจกรรมที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อหาสุดยอดสตาร์ทอัพระดับมหาวิทยาลัยตัวแทนภาคเหนือ เพื่อไปร่วมกิจกรรมระดับประเทศเฟ้นหาสุดยอดสตาร์ทอัพระดับประเทศต่อไป
นายปริวรรต วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) กล่าวว่า จากการเฟ้นหาสุดยอดสตาร์ทอัพหน้าใหม่ นำเสนอแผนงานธุรกิจในรอบสุดท้ายของภาคเหนือ จาก 70 ทีม ทีมชนะเลิศรางวัล Pitching Startup Thailand League ระดับอุดมศึกษา ภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ทีมชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Erythro-Sed จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ ทีม The Balance จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รองชนะเลิศ อันดับที่ 1 ได้แก่ ทีม SK1 Film จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ ทีม Jellyfighter จากมหาวิทยาลัยนเรศวร
โดยทีม Erythro-Sed ทีมชนะเลิศประจำภูมิภาคนี้ จะได้เข้าร่วมแข่งขันรอบสุดท้าย ชิงแชมป์สุดยอด Startup Thailand League ระดับประเทศ ประจำปี 2564 ในงาน STARTUP Thailand League: DEMO Day 2021 พร้อมโอกาสต่อยอดธุรกิจเชิงพาณิชย์ ที่จะจัดขึ้นช่วงต้นเดือนสิงหาคมนี้
นายปริวรรต กล่าวย้ำว่า เวทีการแข่งขัน STARTUP Thailand League ระดับมหาวิทยาลัย คือพื้นที่จุดประกายและส่งเสริมการเติบโตของสตาร์ทอัพ เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ที่มีศักยภาพในการเติบโต ตอบโจทย์ภาคธุรกิจมากขึ้น โดยมุ่งหวังให้กลุ่มสตาร์ทอัพสามารถเติบโตและพัฒนาได้อย่างยั่งยืน เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมหลักของประเทศด้วย ซึ่งจะส่งผลโดยรวมต่อการยกระดับอุตสาหกรรมของไทยทั้งระบบ และส่งเสริมการสร้างรายได้ และการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเศรษฐกิจไทย
สำหรับรางวัลชนะเลิศ ทีม Erythro-Sed สาขาการแพทย์และสาธารณสุข (MedTech/ Health Tech) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสนอผลงานผลิตภัณฑ์ควบคุมคุณภาพของเครื่องตรวจวัดอัตราการตกตะกอนเม็ดเลือดแดง (ESR) และการตรวจประเมินความชำนาญทางผู้ปฏิบัติการในการตรวจ ESR
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ทีม The Balance สาขาเกษตรและอาหาร (AgriTech/ Food Startup) จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทีมได้พัฒนาช้อนรักษ์โลกทานได้ ซึ่งทำมาจากของเหลือทางการเกษตรที่ไม่มีใครตีมูลค่า แต่กำลังถูกผลักดันให้เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ผสมกับส่วนประกอบอื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือสหกรณ์เกษตรกร และแก้ปัญหาขยะพลาสติกที่ต้นตอ
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ทีม SK1 Film สาขาเกษตรและอาหาร (AgriTech/ Food Startup) จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผลงาน ฟิล์มบริโภคได้ (edible film) ที่มีลักษณะเป็นวัสดุแผ่นบางที่สามารถบริโภคได้ จากพอลิเมอร์ชีวภาพ (biopolymer) หลายแหล่งที่ได้จากธรรมชาติ มีความปลอดภัยสามารถนำมาบริโภคได้ ได้แก่ เซลลูโลส แป้ง ไคโตซาน โปรตีนจากถั่วเหลือง โปรตีนจากนม โปรตีนจากข้าวโพด เจลาติน และ ไขผึ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟิล์มบริโภคจัดเป็นประเภทของฟิล์มที่สามารถนำมาสร้างนวัตกรรม ตอบโจทย์ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนในการใช้ชีวิตประจำวันแบบใหม่ (new normal) ลดความเสี่ยงในการสัมผัสบรรจุภัณฑ์โดยตรง ในช่วงสถานการณ์ระบาดของโควิดข19 เนื่องจากฟิล์มบริโภคได้มีความสะดวกในการใช้งาน ละลายน้ำได้ดี
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ทีม Jellyfighter สาขาเกษตรและอาหาร (AgriTech/ Food Startup) จากมหาวิทยาลัยนเรศวร เสนอผลงาน Coconut oil Gummies เป็นเยลลี่ที่ทำมาจากน้ำมันมะพร้าวซึ่งผ่านกระบวนหมักด้วยจุลินทรีย์ ที่่ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพแล้วว่า มีความสามารถในการหมักน้ำมันมะพร้าวให้มีกลิ่นเหม็นหืนน้อยลง และคงคุณค่าของน้ำมันมะพร้าวให้มีกรดไขมันเป็น Medium-chain Triglyceride (MCT) เหมาะสำหรับคนที่ควบคุมน้ำหนักและอาหาร แต่มีเวลาออกกำลังกายน้อย และเลือกที่จะควบคุมปริมาณอาหารแทน
ปีนี้ NIA เปิดรอบคัดเลือกใน 4 ภูมิภาค นอกจากกิจกรรมที่เชียงใหม่แล้ว จะดำเนินการที่อุดรธานี สงขลา และกรุงเทพฯ เพื่อคัดตัวแทนสตาร์ทอัพตัวแทนภาค ไปเฟ้นหาสุดยอดสตาร์ทอัพระดับประเทศต่อไป
นายปริวรรต กล่าวด้วยว่า การแข่งขัน Startup Thailand League 2021 เป็นเวทีแห่งโอกาสให้กับนักเรียนนักศึกษา ที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาธุรกิจแบบใหม่ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสังคม และส่งเสริมให้กลุ่มสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ หันมาสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพที่เป็นระบบ มีนวัตกรรม และใช้เทคโนโลยีช่วยขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างรวดเร็ว แล้ว กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ยังมุ่งหวังให้กลุ่มสตาร์ทอัพเหล่านี้ สามารถเติบโตและพัฒนาได้อย่างยั่งยืน มีศักยภาพ และเป็นกำลังสำคัญที่สามารถสนับสนุนการพัฒนา ยกระดับกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสาขาต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมหลักของประเทศอีกด้วย
กิจกรรมการแข่งขันธุรกิจในกลุ่มสตาร์ทอัพ ที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นฐานในการสร้างธุรกิจที่มีศักยภาพการเติบโตสูง มีโมเดลทางธุรกิจที่น่าลงทุน ผ่านเวที pitching ระดับประเทศ โดย Pitching Startup Thailand League: U-league 2021 เปิดเวทีแห่งโอกาสให้นักเรียนนักศึกษา ได้นำเสนอโมเดลธุรกิจและผลิตภัณฑ์ของตน ให้กับกลุ่มนักธุรกิจ นักลงทุน ลูกค้า กลุ่มเป้าหมาย เพื่อต่อยอดธุรกิจสตาร์ทอัพต่อไป
การแข่งขันระดับประเทศ สุดยอด STARTUP Thailand League ประจำปี 2021 ของนิสิต นักศึกษา ทั่วประเทศ ที่จะนำเสนอแผนงานธุรกิจนวัตกรรมต่อคณะกรรมการ ทีมที่คณะกรรมการพิจารณาอนุมัติแผนงาน จะได้รับเงินสนับสนุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อการจัดทำต้นแบบของผลิตภัณฑ์หรือบริการ ซึ่งจะนำไปจัดแสดงในงาน Startup Thailand League: Demo Day 2021 ที่จะจัดในช่วงเดือนสิงหาคม เป็นลำดับต่อไป
ทั้งนี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้รับมอบหมายจาก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) เพื่อพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ตามที่รัฐบาลมีนโยบายปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจของประเทศ และวิสัยทัศน์นายกรัฐมนตรีที่ต้องการพัฒนา “วิสาหกิจเริ่มต้น เป็นนักรบทางเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Warrior: NEW) และกำหนดให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่เปิดสำหรับการเติบโตของอาเซียน”
โดยมุ่งเน้นการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นให้เป็นนักรบทางเศรษฐกิจ ที่สามารถใช้ทรัพยากรของประเทศในการผลิตสินค้าและบริการ มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่ม การจ้างงานในท้องถิ่น และการกระจายรายได้สู่ภูมิภาค รวมทั้งก่อให้เกิดอุตสาหกรรม การสร้างความตระหนักและความตื่นตัว (Awareness) จิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurial mindset) สู่กระบวนการบ่มเพาะและการพัฒนาผู้ประกอบการ (Incubation) ตลอดจนการการเร่งรัดธุรกิจสู่ตลาดสากล (Acceleration) ก่อให้เกิดการลงทุน (Investment) ทั้งจากการลงทุนร่วมทุน (Venture Capital) นักลงทุนบุคคล (Angel) และนักลงทุนบริษัทขนาดใหญ่ (Corporate Venture Capital) ในวิสาหกิจเริ่มต้น สนับสนุนการเร่งพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมและสังคมฐานความรู้
โดยให้ความสำคัญแก่การเป็นพื้นที่เปิด 4 ประการได้แก่
1) ผู้ที่มีทักษะสูงจากทั่วโลก (Talent)
2) เร่งการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้น (Business Growth)
3) สนับสนุนการลงทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น (Investment)
4) การสร้างและพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้น (Ecosystem)
ในการนี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ (National Startup Committee) ได้พัฒนาแผนการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ของประเทศไทย (พ.ศ. 2559 - 2564) ซึ่งได้กำหนดแนวทางส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ของไทย โดยเร่งดำเนินการให้มีการเพิ่มบทบาทของสถาบันการศึกษา ในการสร้างความตระหนัก สร้างความตื่นตัว การบ่มเพาะวิสาหกิจเริ่มต้น การบริหารจัดการนวัตกรรม ตลอดจนการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี ผลักดันให้สถาบันการศึกษาเป็นแหล่งสร้างสรรค์ความคิดและนวัตกรรม ซึ่งเป็นรากฐานในการพัฒนาและปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศ
การพัฒนาธุรกิจของวิสาหกิจเริ่มต้นนั้นต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ ควบคู่กับการพัฒนารูปแบบธุรกิจนวัตกรรม (Business Model Innovation) แต่ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนนักศึกษาจะเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี แต่ขาดองค์ความรู้ทางด้านการดำเนินธุรกิจ การออกแบบ และการตลาด ตลอดจนขาดความชำนาญในการทำธุรกรรมต่าง ๆ เช่น ด้านบัญชี ด้านนิติกรรม ด้านบุคคล NIA จึงตั้งโปรแกรมเพื่อบ่มเพาะและเร่งสร้างวิสาหกิจเริ่มต้น (Accelerator Program) เพื่อสร้างให้เกิดมาตรฐาน ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ และสร้างมาตรฐานในการคัดเลือกวิสาหกิจเริ่มต้น ในระยะ Pre-Seed เพื่อพิจารณาขอรับสิทธิประโยชน์หรือเงินทุนให้เปล่า (Grants) ซึ่งจะช่วยผลักดันการสร้างธุรกิจนวัตกรรมที่มีความเข้มแข็ง และสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง