รายงานข่าวระบุว่า พล.อ.ท.อนุตตร จิตตินันทน์ (หมออนุตตร) ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (Anutra Chittinandana) โดยมีข้อความว่า
เรื่อง booster dose หลังจากฉีดวัคซีนครบ 2 โดสแล้วมีความเป็นไปได้ แต่คงต้องมีวัคซีนให้เพียงพอ และควรรอผลการศึกษาเพื่อให้มั่นใจในผลดีและผลเสียก่อนครับ ตอนนี้กำลังมีการศึกษาในประเทศอังกฤษที่ได้รับทุนวิจัยจากรัฐบาล (ประมาณ 850 ล้านบาท) ซึ่งผลน่าจะออกมากประมาณเดือนกันยายน หวังว่าจะให้ผลดีในการป้องกันสายพันธ์เดลต้า ซึ่งตอนนี้เป็นสายพันธุ์หลักของการระบาดในอังกฤษ และอาจเป็นสายพันธู์หลักของไทยในอนาคตด้วย
อยากให้เรามีทุนวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนแบบนี้จากรัฐบาลเพื่อวิจัยการใช้วัคซีนในประเทศไทยบ้างครับ
พร้อมกันนี้ "หมออนุตตร" ยังได้โพสรูปพร้อมข้อความด้วยว่า
UK เริ่มทดสอบฉีดวัคซีน Booster โดยใช้วัคซีนโควิด 19 จำนวน 7 ชนิด สหราชอาณาจักรเริ่มดำเนินการทดสอบในมนุษย์เพื่อประเมินผลการใช้วัคซีนโควิด 19 ที่ต่างกันจำนวน 7 ชนิด เป็น 'บูสเตอร์' หรือ "วัคซีนเข็มที่ 3"
การศึกษานี้มีชื่อว่า Cov-Boost ดำเนินการโดย University Hospital Southampton NHS Foundation Trust ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณสำหรับการศึกษานี้ราว 19.3 ล้านปอนด์ (ประมาณ 852.21 ล้านบาท) จากรัฐบาลสหราชอาณาจักร โดยหน่วยงานผู้ให้ทุนคือ The Vaccine Task Force and the National Institute for Health Research (NIHR)
การทดสอบจะประเมินผลการใช้วัคซีนโควิด 19 ของ AstraZeneca Pfizer/BioNTech Moderna Novavax Valneva Janssen และ Curevac เป็นบูสเตอร์ และมีกลุ่มที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Men ACWY) เป็นกลุ่มควบคุม โดยการศึกษามีอาสาสมัครทั้งหมด 2,886 ราย เป็นกลุ่มผู้มีอายุ 30 ปีขึ้นไป ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 โดสที่ 2 มาแล้วไม่น้อยกว่า 10-12 สัปดาห์
และเรีมฉีดวัคซีนบูสเตอร์ให้กับอาสาสมัครแบบสุ่ม (Random) ตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน 2564 เป็นต้นมา โดยอาสาสมัครอาจได้รับวัคซีนคนละชนิดกับวัคซีนเดิมที่เคยได้รับ (สหราช
อาณาจักรฉีดวัคซีน AstraZeneca เป็นวัคซีนหลัก รองลงมาคือ Pfizer/BioNTech และ Moderna ตามลำดับ) ซึ่งการทดสอบจะใช้ระยะเวลาทั้งหมด 1 ปี ต่ออาสาสมัคร 1 ราย จึงจะเสร็จสมบูรณ์
อาสาสมัครทั้งหมดจะถูกติดตามผลตลอดการศึกษา เพื่อเก็บข้อมูลผลกระทบใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยจะมีการตรวจเลือดเพื่อวัดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันในวันที่ 28, 84, 308 และ 365
ภายหลังจากได้รับวัคซีนบูสเตอร์ และจะมีไดอารี่อิเล็กทรอนิกส์ให้กับอาสาสมัครทั้งหมดสำหรับบันทึกข้อมูล ซึ่งจะส่งการแจ้งเตือนไปยังทีมวิจัยแบบเรียลไทม์หากจำเป็น และสามารถโทรศัพท์ฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อขอคำแนะนำทางคลินิกเพิ่มเติมจากแพทย์ที่ร่วมทำการศึกษาได้
ทั้งนี้ คาดว่าจะทราบผลการทดสอบเบื้องต้นในช่วงเดือนกันยายน 2564 ซึ่งคาดว่าจะเป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการตัดสินใจสำหรับ The Joint Committee on Vaccination and Immunisation (JCV) ในการวางแผนการให้วัคซีนบูสเตอร์สำหรับประชาชนในปีนี้
สำหรับประเด็นเรื่องการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 นั้น ก่อนหน้านี้ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสเฟซบุ๊ก (Yong Poovorawan)แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเช่นกัน โดย "ฐานเศรษฐกิจ" ได้นำเสนอ ซึ่งมีข้อความที่ระบุว่า
การให้วัคซีนเข็ม 2 เข้ามาเร็วขึ้น ของ AstraZeneca จะมีประโยชน์ในการป้องกันสายพันธุ์เดลต้า ถ้ามีการระบาดของสายพันธุ์นี้เกิดขึ้น และมีแนวโน้มการป้องกันจะลดลง แต่ก็ยังช่วยลดความรุนแรงของโรคได้
และในทำนองเดียวกันวัคซีน ที่กระตุ้นภูมิต้านทานได้น้อยกว่า ก็คงจะต้องใช้การกระตุ้นเข็มที่ 3 ให้ระดับภูมิต้านทานสูงขึ้น เพื่อป้องกันสายพันธุ์เดลต้า จนกว่าจะมีการพัฒนาวัคซีนใหม่ให้ตรงกับสายพันธุ์ ที่มีการระบาด
นอกจากนี้ "หมอยง" ยังได้เสนอความคิดเห็นผ่านทางเฟซบุ๊กอีกด้วยว่า
วัคซีนป้องกัน covid-19 ที่เราฉีดกัน การตอบสนองภูมิต้านทานจะเกิดขึ้น หลังฉีดครบแล้ว มากกว่า 99% แม้กระทั่งวัคซีน AstraZeneca (แอสตร้าเซนเนก้า) เพียงเข็มเดียวภูมิต้านทานก็ขึ้นดีมาก การตรวจจึงไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด ระดับภูมิต้านทานที่ตรวจได้ในปัจจุบัน ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าระดับแค่ไหน เป็นระดับที่น้อยที่สุดในการป้องกันโรค
ถึงเรารู้ระดับภูมิต้านทาน เราก็จะยังไม่ทำอะไรอยู่ดี การกระตุ้นเข็มที่ 3 ก็ยังไม่มีข้อยุติ จนกว่าจะมีข้อมูลมากกว่านี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :