นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ ธพว. (SME D Bank) เปิดเผยว่า ธนาคารมีนโยบายมุ่งเน้นช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ และขานรับนโยบายของรัฐบาลที่เตรียมจะเปิดประเทศในช่วงปลายปี 2564 ธนาคารจึงได้จัดเตรียมวงเงินไว้กว่า 75,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเติมทุนเสริมสภาพคล่องและเตรียมพร้อมการฟื้นฟูธุรกิจให้เอสเอ็มอีในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ผ่านมาตรการเติมทุนสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษข้างต้น เช่น สินเชื่อรายเล็ก Extra Cash ,สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน และสินเชื่อฟื้นฟู เป็นต้น
อีกทั้งเสริมด้วยมาตรการสินเชื่อเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติม รองรับกรณีที่เอสเอ็มอีต้องการวงเงินสูงขึ้นถึง 15 ล้านบาทต่อราย ได้แก่ สินเชื่อ SMEs D เติมทุน วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท รับ Re-finance ลดต้นทุนธุรกิจ อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 4% ต่อปี ,สินเชื่อ SMEs มีสุข วงเงิน 5,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนปรับปรุงกิจการ หรือปรับเปลี่ยนธุรกิจ อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 5% ต่อปี และสินเชื่อ SMEs ยิ้มได้วงเงิน 5,000 ล้านบาท ช่วยเติมทุนหมุนเวียน อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 5.5% ต่อปี
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการทางการเงินลดภาระหนี้ เช่น โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ รับโอนทรัพย์ ช่วยหยุดภาระการชำระหนี้ ให้สิทธิ์ซื้อคืนในอนาคตโดยไม่ถูกกดราคา และรับโอนทรัพย์ ชำระหนี้กับ Hair Cut หนี้ เปิดรับกลุ่มที่ไม่สามารถเข้ามาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ เป็นต้น
"ตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (Covid-19) เมื่อช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ธนาคารได้ดำเนินมาตรการเชิงรุกช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิดช่วยเหลือโดยเติมทุนควบคู่กับเติมความรู้ เพื่อให้เอสเอ็มอีมีเงินทุนไปเสริมสภาพคล่องประคับประคองธุรกิจ ขณะเดียวกันยังเป็นการวางรากฐานให้สามารถปรับตัวเข้าสู่โลกธุรกิจยุค New Normal"
สำหรับการช่วยเหลือแบ่งเป็นมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน ประกอบด้วย มาตรการพักชำระหนี้ ให้แก่ลูกค้าของสินเชื่อธนาคาร และสินเชื่อกองทุนประชารัฐ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย โดยเริ่มให้สิทธิ์พักชำระหนี้ตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา และได้ขยายต่อเนื่อง จนปัจจุบันให้สิทธิ์พักชำระหนี้ไปได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โดยนับถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา มีลูกค้าเข้ารับมาตรการพักชำระหนี้แล้ว แบ่งเป็นลูกค้าสินเชื่อของธนาคาร ประมาณ 42,000 ราย วงเงินประมาณ 60,000 ล้านบาท และลูกค้ากองทุนประชารัฐ ประมาณ 3,300 ราย วงเงินประมาณ 6,400 ล้านบาท
มาตรการเติมทุนสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อช่วยให้เอสเอ็มอี มีเงินทุนไปใช้เสริมสภาพคล่อง รักษาการจ้างงาน ผ่านสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษต่างๆ เช่น สินเชื่อรายเล็ก Extra Cash มุ่งเป้าหมายกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องที่ได้ผลกระทบจากโควิด-19 เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ฯลฯ กู้ได้ทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล วงเงินกู้สูงสุด 3 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 3% ต่อปีใน 2 ปีแรก ผ่อนนานสูงสุด 5 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุด 12 เดือน ที่สำคัญ ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน
สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน มุ่งช่วยเหลือเอสเอ็มอีในท้องถิ่น เช่น กลุ่มเกษตรแปรรูป ท่องเที่ยวชุมชน ฯลฯ อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 2.875%ต่อปี นาน 3 ปีแรก วงเงินกู้สูงสุด 5 ล้านบาท และ สินเชื่อฟื้นฟู ตามนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี ใน 2 ปีแรก รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ในช่วง 6 เดือนแรก ผ่อนนานสูงสุด 7 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุด 12 เดือน เป็นต้น โดยนับตั้งแต่ปี 2563 จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2564 นี้ ธนาคารสนับสนุนสินเชื่อให้เอสเอ็มอีไปแล้วกว่า 23,000 ราย อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านการอนุมัติสินเชื่อกว่า 60,000 ล้านบาท
และมาตรการเสริมแกร่งเพิ่มศักยภาพให้เอสเอ็มอีปรับตัวสู่ยุค New Normal เช่น หลักสูตรห้องเรียนออนไลน์ ให้ผู้ประกอบการเข้าไปเรียนรู้พัฒนาศักยภาพตัวเองที่เว็บไซต์ wdev.smebank.co.th โดยมี 6 หมวดหลัก : การตลาด , การบริหาร , มาตรฐานการผลิต , บัญชีและการเงิน , เทคโนโลยี-นวัตรรม และพัฒนาเข้าถึงแหล่งทุน เนื้อหากว่า 150 Content จัดกิจกรรมสัมมนาเติมความรู้ออนไลน์และออฟไลน์ต่อเนื่อง และกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) กับโลตัสเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน 2564 เปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีนำเสนอสินค้าต่อทีมจัดซื้อโลตัสโดยตรง หากได้รับคัดเลือกจะได้สิทธิวางขายสินค้าผ่านโลตัส ทั้งสาขาทั่วประเทศและออนไลน์ ขณะนี้จัดมาแล้ว 2 ครั้ง คือเดือนพฤษภาคม และมิถุนายน 2564 มีเอสเอ็มอีได้นำเสนอสินค้าไปแล้วกว่า 160 ราย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :