“อุตตม" เปิดตัวทีม ThailandFuture รวมพลคนเก่ง-ระดมสมอง อาสาสู้วิกฤตประเทศ

08 ก.ค. 2564 | 04:44 น.

ดร. อุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีคลัง-อดีตหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เปิดตัวทีม ThailandFuture องค์กรวิชาการอิสระ แพลตฟอร์มระดมพลังความคิด สู้วิกฤตประเทศครั้งใหญ่ ชี้โจทย์เร่งด่วนจัดการโควิด-19 คนดังแวดวงธุรกิจ นักคิด นักวิชาการ ร่วมเสริมทัพ ย้ำไม่เกี่ยวข้องการเมือง

ดร.อุตตม สาวนายน ประธานที่ปรึกษา ThailandFuture (สถาบันอนาคตไทยศึกษา) กล่าวในโอกาสที่ ThailandFuture เปิดตัวอย่างเป็นทางการวันนี้ (8 ก.ค.) ว่า ThailandFuture เปิดตัวขึ้นในเวลาที่ประเทศไทยและคนไทย กำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งสำคัญที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

“อุตตม" เปิดตัวทีม ThailandFuture รวมพลคนเก่ง-ระดมสมอง อาสาสู้วิกฤตประเทศ

  • ประการแรก ในช่วงหนึ่งปีกว่าที่ผ่านมา โควิด-19 ส่งผลกระทบเฉียบพลันรุนแรงและกระจายสู่ทุกภาคส่วน โจทย์เร่งด่วนก็คือ จะร่วมกันจัดการต่อสถานการณ์โควิดให้มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงได้อย่างไร ทั้งเฉพาะหน้าและต่อเนื่องในอนาคต เพื่อความปลอดภัยซึ่งยึดโยงกับเรื่องปากท้องความเป็นอยู่ของประชาชนเช่นกัน
  • ประการที่สอง ที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อน คือ เราจำเป็นต้องมองไปข้างหน้า คำนึงถึงอนาคตของประเทศไทยในภาวะที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดในแทบทุกมิติของสังคมโดยมีโควิดเป็นตัวเร่งที่มีอิทธิพลสูง ประเทศไทยจะขับเคลื่อนการพัฒนาในแนวทางใด ให้มีขีดความสามารถที่จะปรับตัวและจัดการกับความท้าทายใหม่ๆ ขณะเดียวกันก็สามารถสร้างโอกาสดีๆ และความมั่นคงในชีวิตให้กับคนรุ่นต่อๆ ไป

จากโจทย์ที่สำคัญเหล่านี้ ทีม ThailandFuture จึงเกิดขึ้นจากการรวมตัวของ กลุ่มคนจากหลายภาคส่วน หลากหลายประสบการณ์และอาชีพ จากทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ รวมทั้งหลายช่วงอายุ โดยอาสาทำงานแบบเวทีเปิด (Open Platform) ที่ส่งเสริมสนับสนุน การรวมพลังความคิดของคนไทย เพื่อร่วมกันคิด วิเคราะห์และตกผลึกในการแก้ไขปัญหา อุปสรรคที่สั่งสมมานาน รวมทั้งขับเคลื่อนการพัฒนาของประเทศอย่างคลอบคลุมและยั่งยืน

 

"ผมจึงขอเชิญชวนทุกท่านมาสัมผัส ThailandFuture มาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด มุมมองกับทีมงาน เพื่อให้เรามีส่วนร่วมในการสร้างอนาคตไทยด้วยกัน" ดร.อุตตมกล่าว

 

ดร.อุตตม กล่าวย้ำกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ThailandFuture มีวัตถุประสงค์จัดตั้งดังกล่าวข้างต้น ไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆทางการเมือง “แม้ผมเองจะเคยทำงานด้านการเมือง แต่ตอนนี้ไม่ได้ทำแล้ว และด้วยความผูกพันที่มีมากับ ThailandFuture ตั้งแต่ยุคก่อตั้งในปี 2555 ก็เลยมาช่วยเป็นที่ปรึกษาให้ ผมย้ำตรงจุดนี้เพราะทาง ThailandFuture เป็นองค์กรวิชาการอิสระครับ เขาไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง”   

ในแง่การดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมนั้น ThailandFuture กำหนดบทบาทตัวเองเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมที่มีบทบาทสำคัญในการวิเคราะห์แนวโน้มของอนาคตและทำหน้าที่เป็น “ตัวเร่ง-ตัวรวม” ทรัพยากรของประเทศเพื่อค้นทางออกนโยบายรูปแบบใหม่ โดยตั้งเป้าเป็นแพลตฟอร์มนโยบายตัวกลางที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนอนาคตของประเทศ ผ่านการเชื่อมต่อผู้รับนโยบายเข้ากับผู้คิดนโยบาย ผ่านการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วม และผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างมีหลักฐาน เพื่อที่จะนำไปสู่นโยบายและอนาคตที่ดีกว่า

“อุตตม" เปิดตัวทีม ThailandFuture รวมพลคนเก่ง-ระดมสมอง อาสาสู้วิกฤตประเทศ

โดย พื้นที่นโยบายที่ ThailandFuture มุ่งเน้นเป็นพิเศษ ประกอบด้วย 5 เสาหลักสำคัญ ได้แก่

  • เทคโนโลยีกลุ่มแนวหน้า (Frontier Tech) มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีโลกใหม่ที่เป็นกำลังสำคัญในยกระดับผลิตภาพอุตสาหกรรมไทย ได้แก่ การใช้ประโยชน์จาก Big Data, Artificial Intelligence Machine Learning และ Blockchain การจำลองโลกเสมือน (Extended Reality) ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Automation & Robotics) การพิมพ์/ขึ้นรูปชิ้นงานแบบ 3 มิติ (3D Printing)
  • เครื่องยนต์ใหม่ในการพัฒนาประเทศ (New Growth Engine) มุ่งเน้นการวางรากฐานการสร้างเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ ได้แก่ โครงข่ายเศรษฐกิจท้องถิ่น (Networked Local Economies) เศรษฐกิจสุขสมบูรณ์ (Wellness Economy) อุตสาหกรรมการผลิตใหม่ (New Manufacturing) เศรษฐกิจโลจิสติกส์ดิจิทัล (Digital Logistics Economy)  เศรษฐกิจจากความคิดสร้างสรรค์ (Creative Economy)
  • ทรัพยากรมนุษย์/ทุนมนุษย์ (Human Capital) มุ่งเน้นการพัฒนาทุนมนุษย์ให้พร้อมกับความท้าทายแห่งอนาคต โดยมีประเด็นการพัฒนาหลัก ได้แก่ การบริหารจัดการ school input และผู้สอน สุขภาวะจากสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยบนท้องถนน (Environmental Health & Road Safety) อาชญากรรมและการลงโทษ (Crime & Incarceration) การเรียนรู้และต่อยอดทักษะ (Reskill & Upskill) การศึกษาเด็กกลุ่มปฐมวัย (Early Childhood Education)
  • การปฏิรูปภาครัฐ (Government Transformation) มุ่งเน้นการทบทวนกฎระเบียบและแนวปฏิบัติ การให้บริการข้อมูลในรูปแบบ Open Data เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแล (RegTech) วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์ และการวัดผลกระทบ ยุทธศาสตร์สำหรับนโยบายต่างประเทศ และการกระจายอำนาจ
  • สิทธิและโอกาส (Rights & Opportunities) มุ่งเน้นการสร้างสังคมเปิดกว้าง พร้อมกระจายโอกาสอย่างถึง สู่ความเท่าเทียมอย่างยั่งยืน ผ่านประเด็นการพัฒนาสำคัญ ได้แก่ การเข้าถึงเงินทุน การเข้าถึงสินค้าสาธารณะ (Public Goods)

 

แนวทางการผลักดันเสาหลักการพัฒนาของ ThailandFuture คือการผนึกความร่วมมือควบคู่องค์ความรู้ เพื่อตกผลึกแนวทางการออกแบบนโยบายสาธารณะยุคใหม่ตามแนวทางของ ThailandFuture DNA ผ่าน 4 ภารกิจหลัก ได้แก่

  1. ThailandFuture Policy Platform - พื้นที่ทางความคิดและการลงมือทำ อำนวยความสะดวกให้เกิดการเชื่อมต่อและสานฝันของผู้พิทักษ์อนาคตไทยจากทุกภาคส่วนให้เกิดเครือข่ายการทำงานร่วมกันได้ง่ายและเป็นระบบขึ้น รวมถึงให้ความเห็นและมอบกรอบความคิดและความเชี่ยวชาญในการออกแบบนโยบายในลักษณะที่ data-driven และ user-centric เพื่อ “ร่วมคิด-ร่วมสร้าง” อนาคตประเทศได้อย่างสะดวกขึ้น
  2. ThailandFuture Policy Playbook - “แผนการเดินเกม” ที่ย่อยง่ายและทันต่อเหตุการณ์ในโลกยุค VUCA เพื่อหาทางออกทลายปัญหาที่กำลังปิดกั้นอนาคตร่วมงานกับองค์กรและกลุ่มบุคคลที่มีพันธกิจชัดเจน ตกผลึกแนวทางปฏิบัติจากการศึกษา ออกแบบ ลงมือทำ และวัดผลกับปัญหาจริง ผู้ใช้จริงและพื้นที่จริง
  3. ThailandFuture Policy Talks - วงพูดคุยเกี่ยวกับนโยบายอนาคตประเทศที่รวบรวมผนึกกำลังเหล่า Change agents มาเล่าแนวทางหลักคิดทำนโยบายแบบเป็นวิทยาศาสตร์ รีวิวนโยบายในอดีต ตั้งคำถามในมุมมองที่สดใหม่ ให้เปิดโลก เข้าใจและเข้าถึงง่าย
  4. ThailandFuture Policy Upgrades - Workshop ปรับโฉมการออกแบบและขับเคลื่อนนโยบาย โดยบุคลากรที่เป็นผู้นำในด้าน data-driven policy และ ด้าน foresight labs รวมถึงอาสาติดอาวุธการทำงานให้กับองค์กรภาครัฐด้วย data products ของทางสถาบัน

ด้าน ดร. ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ ThailandFuture กล่าวเพิ่มเติมว่า “ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเผชิญกับ ‘ไฟแห่งปัญหา’ รอบทิศทางทั้งไฟปัญหาเก่าที่รุมเร้า ท่ามกลางเสาหลักเศรษฐกิจและสังคมที่กำลังผุพัง ทำให้การเติบโตชะลอลง ซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไฟปัญหาใหม่ที่กำลังปะทุจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  รวมถึงยังมีฟืนความท้าทายที่รอวันลุกไหม้จากเทรนด์คุกคามอีกมากมาย เช่น ความไม่พร้อมต่อการไปสู่สังคมสูงวัย การมาของ automation การผงาดขึ้นของจีน และภาวะโลกร้อน ” 

 

ดร. ณภัทร ย้ำว่าปัญหาที่แท้จริง ไม่ใช่ว่าประเทศไทยมีทรัพยากรไม่เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศชาติ “คนที่มีความสามารถเรามี ทุนเราก็มี เพียงแค่มันอยู่ไม่ถูกที่ถูกเวลา อยู่ภายใต้ระบบการทำงานที่ขาดประสิทธิภาพ ความชัดเจน และเต็มไปด้วยความสับสน  และมันก็ได้กำเริบออกมาให้เห็นในการพลาดท่าต่อสายพันธุ์เดลต้า  แต่หากลองถอยออกมา จะพบว่าต้นตอของปัญหาทั้งหมดทั้งปวงสามารถถูกยุบลงมาให้เห็นได้กระจ่างว่ามันล้วนเกิดมาจากการขาดหลักการและประสิทธิภาพในการจัดสรรและบริหารทรัพยากรเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคม”

 

ดร. ณภัทร ยังได้เสนอแนวคิด “ไตรลักษณ์นโยบายอนาคต” ที่ ThailandFuture ขออาสานำมาประยุกต์ใช้ช่วยพาไทยรอดพ้นวิกฤตและเท่าทันโลก เริ่มจาก

  • อันดับแรก กระบวนการคิดการทำนโยบายต้องเปิดกว้างและเชื่อมต่อกับโลกภายนอกมากขึ้น เป็นการ “ปลดล็อก” ห้องออกแบบนโยบายแล้วเชื่อมต่อมันเข้ากับประชาชน ท้องถิ่น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดทุกข้อต่อของห่วงโซ่นโยบาย (Policy Chain) เพื่อให้ทุกฝ่ายกระจ่างถึงปัญหา ข้อจำกัด รวมถึงร่วมกันสังเคราะห์ทางออกและนวัตกรรมนโยบายใหม่ ๆ
  • อันดับที่สอง ภาครัฐต้องกระจายอำนาจในการพัฒนาอนาคตประเทศไปสู่ “โหนด” (Node) ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทั้งอำนาจการคลัง อำนาจในการเข้าถึงข้อมูล และอำนาจในการออกแบบนโยบายบางส่วนออกมาจากส่วนกลางบ้าง ทั้งภายในภาครัฐเอง และภายนอก จากบนสู่ล่าง จากผู้ใหญ่สู่คนรุ่นใหม่ จากระดับประเทศสู่ระดับท้องถิ่น  ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมาก็สะท้อนให้เห็นแล้วว่าไม่มีกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่งสามารถแก้ไขปัญหาและภัยระดับโลกได้ด้วยตัวเอง การรวมศูนย์อำนาจไม่ตอบโจทย์วิกฤตและอนาคต
  • และที่ขาดไม่ได้ก็คือ อันดับที่สาม ประเทศไทยจะต้องคิด-ทำนโยบายอย่าง “เป็นวิทยาศาสตร์” มากขึ้น  เลิก candle-driven แล้วหันมาอิงหลักฐานเชิงข้อมูลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มเก็บฐานข้อมูลโดยคำนึงถึงการวัดผลในอนาคต การทำการทดลองพฤติกรรมศาสตร์ การดำเนินนโยบายบนหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence-based policymaking) หรือการใช้เทคนิคห้องปฏิบัติการอนาคตเพื่อรังสรรค์แนวทางและนวัตกรรมนโยบายใหม่ๆ ร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ลงพื้นที่ทำ Prototype จากนั้นปรับปรุงแล้วนำไปขยายผลต่อ เพื่อให้นโยบายในอนาคตมีประสิทธิผล คุ้มเงินภาษี และคุ้มเวลาที่เสียไปกว่าเดิม

 

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ประธานกรรมการบริหาร ThailandFuture กล่าวทิ้งท้ายว่า จุดมุ่งหมายสูงสุดของ ThailandFuture คือ อนาคตที่การคิดการทำนโยบายในการพัฒนาอนาคตประเทศ จะเป็นกระบวนการที่ “ทุกคน” สามารถเข้าใจ เข้าถึง มีส่วนร่วมได้ และค้นพบว่าเป็นกิจกรรมที่คุ้มค่า  “ประเทศไทยเป็นของเราทุกคน ไม่ว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรม ชีวภาพ หรือแม้กระทั่งความคิด ล้วนแล้วแต่เป็นเสน่ห์ของเรา อยากชวนพวกเรามาแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง ให้ประเทศก้าวเดินต่อไปครับ”

ทำเนียบผู้บริหาร ThailandFuture

ทำเนียบผู้บริหาร ThailandFuture

 

“อุตตม" เปิดตัวทีม ThailandFuture รวมพลคนเก่ง-ระดมสมอง อาสาสู้วิกฤตประเทศ