เปิดข้อเท็จจริง ฉีดวัคซีนสลับชนิด ซิโนแวคเข็ม 1 แอสตร้าเซนเนก้าเข็ม 2

13 ก.ค. 2564 | 07:35 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ค. 2564 | 16:23 น.

เปิดข้อเท็จจริง ฉีดวัคซีนโควิดสลับยี่ห้อ "หมอยง" เผย ผลศึกษาชี้ชัดสร้างภูมิต้านทานสูงขึ้นภายใน 6 สัปดาห์ ยืนยัน มีความปลอดภัยในอาสาสมัครกว่า 1,200 คนไม่มีอาการข้างเคียงรุนแรง ด้าน "หมอธีระวัฒน์" เผย ที่มาความจำเป็น 10 ข้อการฉีดสลับวัคซีน ขณะที่ WHO เตือนไม่แนะนำให้ทำ

ประเด็นการ ฉีดวัคซีนสลับชนิดกันได้รับความสนใจขึ้นมาทันที หลังจากที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติเห็นชอบแนวทางการฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อ เข็มที่ 1 เป็น ซิโนแวค และเข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า โดยเว้นระยะห่างกัน 3-4 สัปดาห์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์เดลตา ให้โรงพยาบาลต่าง ๆ สามารถดำเนินการได้ทันทีเพื่อเกิดประโยชน์กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่เสียสละดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องนั้น

โดยมติที่ประชุมครั้งนี้มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นั่งเป็นประธานการประชุม ร่วมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กลาโหม มหาดไทย แรงงาน ศึกษาธิการ การต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ UHOSNET โรงพยาบาลเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข ผู้แทนสภาวิชาชีพและองค์กรอิสระ ประชุมผ่านระบบออนไลน์

ภายหลังมีรายงานว่า การฉีดวัคซีนสลับชนิด เข็มแรกเป็น ซิโนแวค เข็มที่ 2 เป็นแอสต้ราเซนเนกา จะดำเนินการฉีดในประชาชนทั่วไปจากนี้ไปจะเราจะไม่มีการฉีดวัคซีนเข็ม 1 เข็ม 2 เป็นซิโนแวคบวกซิโนแวคอีก

ทั้งนี้ จากข้อมูลการฉีดเข็มที่ 1 เป็นซิโนแวค เข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าฯ นั้นสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงเกือบเท่ากับการฉีด แอสตร้า บวก แอสตร้า แต่ข้อดี คือสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มสูงได้ในเวลาเร็วกว่า

การสำหรับเรื่องนี้ "หมอยง" ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว นพ.ยงภู่วรวรรณ อธิบายเรื่องการฉีดวัคซีนสลับชนิดไว้ในหัวข้อ "โควิด 19 วัคซีน การศึกษาวิจัยนำไปสู่การปฏิบัติจริง การสลับชนิดของวัคซีน ยง ภู่วรวรรณ" ซึ่งได้อธิบายตอนหนึ่งว่า

มีทีมนักวิทยาศาสตร์และคณะแพทย์มากกว่า 30 ชีวิตที่ทำศึกษาและวิจัยโดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่อง covid 19 vaccine ที่มีโครงการทำอยู่มากกว่า 5 โครงการ เพื่อนำมาใช้อย่างเร่งด่วนในประเทศไทยให้เหมาะสมกับทรัพยากรที่มีอยู่

การสลับชนิดของวัคซีน ทำมาโดยตลอดและเห็นว่า การให้วัคซีนเข็มแรกเป็นชนิดเชื้อตาย แล้วตามด้วยไวรัส Vector จะกระตุ้นได้ดีมาก

การให้วัคซีนเชื้อตายที่เป็นทั้งตัวไวรัส เปรียบเสมือนการทำให้ร่างกายเราเคยติดเชื้อ และมีภูมิคุ้มกันขึ้นมาระดับหนึ่ง หรือสร้างความคุ้นเคยกับระบบภูมิต้านทาน เมื่อกระตุ้นด้วยต่างชนิดโดยเฉพาะไวรัสเวกเตอร์ จึงเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า booster effect เหมือนกับคนที่หายแล้วจากโรคโควิด 19 และได้รับวัคซีนเสริมอีก 1 ครั้ง ก็จะมีการกระตุ้นภูมิต้านทานขึ้นได้เช่นเดียวกัน ซึ่งเราก็ได้ทำการทดลองแล้ว

การศึกษานี้เราไม่ได้ทำเฉพาะการตรวจวัดภูมิต้านทานเท่านั้น เรายังได้ทำภาวะขัดขวางไวรัส inhibition test ที่สามารถขัดขวางได้ดีมาก เฉลี่ยถึง 95 เปอร์เซ็นต์ และมีหลายรายถึง 99 เปอร์เซ็นต์ในทำนองเดียวกันการให้เชื้อตาย 2 เข็ม ยิ่งสอนให้ร่างกายเหมือนกันติดเชื้อจริงแบบเต็มๆ หรือแบบรุนแรง แล้วเมื่อมากระตุ้นด้วยวัคซีนไวรัส Vector จึงมี Booster effect ที่สูงมาก

การศึกษาวิจัยของเราไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ เรากำลังทำการศึกษากับสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ delta และระบบภูมิคุ้มกันชนิดที่เรียกว่า T cell หรือ CMIR แน่นอนการศึกษานี้ ฝรั่งไม่ทันแน่นอน เพราะฝรั่งไม่ได้ใช้วัคซีนเชื้อตาย และจีนก็ไม่ได้ใช้วัคซีนไวรัสเวกเตอร์อย่างกว้างขวางในขณะนี้

ข้อมูลขณะนี้ผมมีเป็นจำนวนมาก มากพอที่จะสรุป เพราะทุกท่านให้ความร่วมมือดีมาก รวมทั้งอาสาสมัครที่อยู่ในการศึกษา เป็นจำนวนมาก ผมต้องขอขอบคุณอย่างยิ่ง ข้อดีที่ทำให้ทางกระทรวงสาธารณสุขยอมรับ และนำมาปรับใช้ในเชิงนโยบายจากการศึกษานี้

1.ทำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนได้ภูมิต้านทานที่สูงภายในเวลา 6 สัปดาห์ ซึ่งเร็วกว่าการให้วัคซีนไวรัสเวกเตอร์ในประเทศไทยที่จะได้ภูมิต้านทานสูง ต้องใช้เวลา 12 สัปดาห์ เหมาะสมกับการที่โรคกำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ซึ่งเรารอไม่ได้

2.เป็นการปรับใช้ทรัพยากรที่เรามีอยู่ขณะนี้ที่จำกัดให้ได้ประโยชน์สูงสุด

3.การกระตุ้นเข็ม 3 ด้วย virus Vector สามารถทำได้ให้เกิดภูมิต้านทานที่สูงมาก โดยไม่ต้องรอวัคซีนชนิดอื่นเพื่อประโยชน์ของบุคลากรทางการแพทย์

ข้อมูลที่ได้ขณะนี้มีเป็นจำนวนมากพอ โดยเฉพาะการฉีดสลับเข็ม ข้อมูลที่ถูกในบันทึกใน "หมอพร้อม" มีมากกว่า 1,200 ราย โดยที่ไม่มีอาการข้างเคียงที่รุนแรงแต่อย่างใด

ทั้งนี้ หากจำกันได้ก่อนหน้าที่ หมอยง เปิดรับอาสาสมัครคนไทยจำนวนหนึ่งเพื่อทำการศึกษาและวิจัยการฉีดสลับวัคซีนและมีการรายงานความคืบหน้าผ่านเฟซบุ๊กเป็นระยะ ๆ 

ในขณะที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาว่า ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thirawat Hemachudha เล่าถึงที่มาของการฉีดสลับวัคซีนว่า

การใช้วัคซีนไขว้ สลับสับเปลี่ยน หรือตามซ้ำด้วยต่างยี่ห้อต่างเทคนิค กลายเป็นเรื่องสนุกสนาน หรรษาไปตามกันในเดือนกรกฎาคม 2564 และกลายเป็นเรื่องพูดกันไม่รู้จบ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางด้านนโยบาย ชิโนแวคตามด้วยแอสตร้า

แท้ที่จริงแล้วเนื้อหาเบื้องลึกเบื้องหลังการไขว้ไปมาดังกล่าวมีที่มาที่ไปในช่วงตั้งแต่สามถึงสี่เดือนที่แล้วด้วยซ้ำ

ทั้งนี้ เป็นการถกกันในระดับเวทีองค์การอนามัยโลกและในระดับสาธารณสุขของประเทศต่างๆและไม่เว้นกระทั่งในประเทศจีนเอง ที่เป็นเจ้าของตำรับวัคซีนเชื้อตายชิโนแวค ชิโนโนฟาร์ม ตั้งแต่ 13 เมษายน 2564

ความจำเป็นในการไขว้เริ่มมาตั้งแต่

1.เป็นภาคบังคับเนื่องจากวัคซีนแต่ละยี่ห้อออกมาไม่ทันใช้ ดังนั้น จึงต้องหายี่ห้ออื่นมาควบรวม

2.ความต้องการที่จะให้ภูมิคุ้มกันในน้ำเหลืองสูงที่สุดและอยู่ให้คงนานที่สุด เพื่อให้มีการป้องกันการติดเชื้อได้นานและดียิ่งขึ้น นำมาสู่การใช้เข็มที่หนึ่งเป็นแอสตร้า ตามด้วยไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา

3.แต่เมื่อเจอกับสายพันธุ์ เช่น เดลต้าแม้มีภูมิในระดับสูงจริง แต่ประสิทธิภาพเฉพาะตัวต่อเดลต้า กลับลดลงค่อนข้างมาก

4.นำมาสู่ การกระตุ้น เข็ม 3 โดยหวังว่า ระดับภูมิที่สูงมาก ๆ ยังพอที่จะช่วยกันการติดได้เพิ่มขึ้นแม้ต่างสายพันธุ์ออกไป แต่ทั้งนี้ต้องจับตาดูว่า การที่มีระดับภูมิจริง แต่ไม่เหมาะเหม็งกับสายพันธุ์ใหม่

กลับจะทำให้เมื่อติดเชื้ออาการกลับรุนแรงขึ้นหรือไม่ (Vaccine enhanced COVID-19 severity) และนำไปสู่การพัฒนาวัคซีนรุ่นที่สองที่มีความจำเพาะเจาะจงกับสายพันธุ์ที่เปลี่ยนไปเช่นวัคซีนไฟเซอร์ที่จะเริ่มในเดือนสิงหาคม และวัคซีนของคนไทยคือวัคซีนใบยาที่จะปรับเปลี่ยนไปตามกัน

5.ประเทศไทยใช้วัคซีนต่างจากในประเทศตะวันตก คือ ใช้วัคซีนเชื้อตายอย่างเช่นในบราซิล อินโดนีเซีย และชิลี ในประเทศไทยพบว่า เดือนแรกหลังเข็มที่สองของชิโนแวค ดูจะกันการติดเชื้อได้ดี

แต่ในเดือนที่สองสังเกตการติดเชื้อดูมากขึ้น และดูมีอาการเห็นได้ชัดเจนขึ้น พ้องกับระดับภูมิที่ลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว และจาก 90 กว่าเปอร์เซนต์ด้วยซ้ำเหลือเพียง 30 ถึง 40%

6.ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวพบได้ในชิลี ซึ่งมีการติดตามประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อและป้องกันการเข้าโรงพยาบาลและการตายได้ดีมากจากชิโนแว็ค จนกระทั่งถึงวันที่ 1 พฤษภาคม แต่หลังจากนั้นกลับรุนแรงขึ้นมาใหม่ และเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย

7.ความรุนแรงของการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นรวมทั้งอาการที่มากขึ้น น่าจะไม่สามารถอธิบายได้จากการลดระดับของภูมิในเลือดอย่างเดียว ทั้งนี้ อาจจะร่วมกับสายพันธุ์เช่นเดลต้า

ทั้งนี้ เพราะในประเทศไทยการคัดเลือกคนที่ได้รับชิโนแวคสองเข็ม และระดับภูมิยังคงสูงกว่า 70% เช่นที่ 87 จนถึง 92% แต่เมื่อแยกวิเคราะห์ความสามารถต่อสู้กับไวรัสพบว่าลดลงอย่างมากทั้งสายอัลฟาและเดลต้า

8.คนไทยที่ได้ชิโนแวค 2 เข็ม สู้กับไวรัสอัลฟา และเดลต้า ได้น้อยกว่า แอสตร้า 2 เข็ม ที่ระดับภูมิมากกว่า 90%เหมือนกัน

9.ที่ได้ชิโนแวค และต่อด้วย แอสตร้า ภูมิที่ระดับ สูงกว่า 70% ดีกว่าชิโนแวคสองเข็ม ในการสู้กับแอลฟา เดลต้า แต่ยังมีประสิทธิภาพจำกัด ไม่เหมือนกับชิโนแวคสองเข็มและต่อด้วยแอสตร้าภูมิจะดีขึ้นมากและต่อสู้ได้ดีมากต่ออัลฟ่าและเดลต้า

10.ในเรื่องของวัคซีนจบลงที่ว่า การดูระดับภูมิกลายเป็นสูงเกิน 90% ยิ่งดี แต่ต้องพ่วงด้วยความสามารถเฉพาะเจาะจงต่อชนิดของไวรัสด้วย ดังนั้น จะขึ้นกับชนิดของวัคซีนด้วย

ล่าสุด มีรายงานว่า นางสมญา สวามินาธาน หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ของดับเบิลยูเอชโอ ระบุว่า ไม่ควรมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ผสมสูตรให้กับประชาชน เนื่องจากจะเป็นการก่อแนวโน้มที่เป็นอันตรายยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพในการดำเนินการดังกล่าว

“มีคนกำลังคิดเรื่องฉีดวัคซีนผสม เราเองก็ได้รับการสอบถามเข้ามามากจากคนที่ฉีดเข็มแรกไปแล้ว และคิดจะฉีดเข็ม 2 เป็นวัคซีนอีกตัวหนึ่ง นี่เป็นกระแสที่ค่อนข้างอันตราย เรายังไม่มีข้อมูลและหลักฐานเรื่องการฉีดวัคซีนต่างสูตร

ขณะนี้มีการศึกษาอยู่ซึ่งก็ต้องคอยผล อาจเป็นวิธีที่ดีมากก็ได้ แต่ ณ เวลานี้ เรามีแค่ข้อมูลฉีดเข็มแรกเป็นออกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้าตามด้วยไฟเซอร์เท่านั้น”

นางสวามินาธาน กล่าวกังวลว่า สถานการณ์ในบางประเทศอาจจะมีความวุ่นวายมากขึ้น หากประชาชนมีโอกาสที่จะเลือกว่าจะฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 หรือ 3 หรือ 4 ได้เมื่อไหร่ และจะใช้วัคซีนของผู้ผลิตรายใด