ค่ำวันที่ 16 ก.ค. 64 นับเป็นอีกวันที่เป็นสัญญาณการยกระดับขั้นสูงสุด ในการเตรียมออกมาตรการล็อกดาวน์ และคุมเข้มการเดินทางข้ามจังหวัด อีกครั้ง หลังจากการแถลงของทีมโฆษกศบค. และล่าสุดกับการที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค. โพสต์เฟซบุ๊กส่งสัญญาณออกมาชัดเจน
เริ่มจากช่วงกลางวันของวันที่ 16 ก.ค. สัญญาณยกระดับมาตรการขั้นสูงสุด มาจาก “พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์” ผู้ช่วยโฆษกศบค. แถลงผลการประชุมศบค.ว่า ในการประชุมศบค.วาระพิเศษวันนี้ได้มีการติดตามมาตรการในพื้นที่เฝ้าระวังสูงสุดและเข้มงวด ช่วง 5 วันที่ผ่านมา
เพื่อประเมินการควบคุมการแพร่ระบาด โดยศูนย์ปฏิบัติการการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) รายงานว่ามีการกระทผิด 217 ราย เป็นการฝ่าฝืนมาตรการออกนอกเคหสถาน 158 ราย ฝ่าฝืนการห้ามรวมกลุ่ม 59 ราย ดำเนินคดีไปทั้งสิ้น 45 คดี ส่วนที่เหลือเป็นการว่ากล่าวตักเตือน ตรงนี้ส่วนหนึ่งมาจากการแจ้งเบาะแสของประชาชน
โดยทางศปม.ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่จะทำงานอย่างเข้มงวด และขอความร่วมมือให้ประชาชนทำตามมาตรการ ขณะที่กระทรวงคมนาคมได้รายงานว่ายังคงมีการเดินทางของประชาชนอยู่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการออกนอกพื้นที่สีแดงเข้มด้วย สอดคล้องกับการรายงานของกรมควบคุมโรคที่ยังพบผู้ติดเชื้อจากวงไพ่ที่เล่นกันหลังกระบะรถยนต์
และมีการย่อหย่อนมาตรการไม่สวมหน้ากากขณะเดินทางข้ามจังหวัด จากรายงานดังกล่าวทำให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือ แต่มีบางส่วนไม่สามารถทำตามมาตรการได้
พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์ดังกล่าวที่ประชุมเป็นห่วง และเห็นว่าอาจต้องปิดกิจการบางอย่างมากขึ้น มากที่สุด และอาจต้องปรับมาตรการให้เข้มข้นขึ้น จากสัปดาห์ที่ผ่านมาให้เปิดกิจการ กิจกรรมถึงเวลา20.00 น.เพื่อให้มีเวลาเดินทางกลับก่อนเวลา21.00 น.ที่กำหนดห้ามออกนอกเคหะสถาน
ซึ่งมาตรการล็อกดาวน์ที่ประกาศไปนั้นเป็นไปตามสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบันเป็นการล็อกดาวน์เป็นพื้นที่ เฉพาะใน 10 จังหวัด ไม่ใช่ทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด
"แต่เมื่อทบทวนมาตรการช่วง5 วัน ยังพบว่าการบังคับใช้มาตรการยังน่าเป็นห่วง นายกรัฐมนตรีในฐานะผอ.ศบค.ขอให้คณะแพทย์ที่ปรึกษาทบทวนมาตรการสาธารณสุข เพื่อเสนออย่างเร่งด่วน ขอให้ประชาชนและสื่อติดตามอาจจะมีการปรับมาตรการที่เข้มข้นมากขึ้นจากนี้”
ทั้งนี้เน้นย้ำขอให้ประชาชนเข้มงวดและปฏิบัติตามมาตรการส่วนบุคคล ดูแลตัวเองอย่างต่อเนื่องและรับมือกับโรคระบาดมาตรการที่อาจจะทำให้ยากลำบาก เช่น จำกัดการเดินทางขอทำความเข้าใจว่าเป็นการลดจำนวนผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิต จึงขอความเสียสละจากทุกคนร่วมกันให้ชนะไปด้วยกัน
ต่อมา ช่วงค่ำวันเดียวกัน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กส่งสัญญาณชัดเจนในการยกระดับมาตรการระดับว่า
เรียนพี่น้องประชาชนทุกท่าน
หลังจากที่ผมได้ประกาศยกระดับการควบคุมสถานการณ์ใน 10 จังหวัดสีแดงเข้ม พร้อมทั้งประกาศเคอร์ฟิวและจำกัดการเดินทาง ที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมา ในวันนี้ ผมได้เรียกประชุม ศบค.เป็นวาระพิเศษ โดยได้เชิญคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่างๆเพื่อทำการประเมินสถานการณ์และความจำเป็นในการปรับแผนการ
ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดยังคงไม่ลดลง โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพและปริมณฑล และจังหวัดอื่นๆในประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลส่วนหนึ่งมาจากเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น และการหยุดการเคลื่อนตัวของประชาชนยังคงทำได้ไม่มากพอ ทำให้มีการประเมินว่าในระยะต่อไป หากยังไม่มีมาตรการที่เข้มงวดขึ้น สถานการณ์อาจจะทวีความรุนแรงขึ้นอีก จนมีผลร้ายแรงต่อระบบสาธารณสุขในวันนี้ ที่ประชุมจึงมีมติว่า มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มมาตรการจำกัดการเดินทางของประชาชนให้มากที่สุด และเพิ่มการปิดสถานที่ต่างๆให้เหลือเท่าที่จำเป็น รวมทั้งการออกกฎการทำงานที่บ้านอย่างสูงสุด ซึ่งคณะแพทย์ที่ปรึกษาจะทำการปรึกษาหารืออย่างละเอียดรอบคอบ โดยศึกษาจากรูปแบบการล็อกดาวน์ในประเทศต่างๆ เพื่อทำเป็นมาตรการเสนอต่อ ศบค. อย่างเร่งด่วนเพื่อดำเนินการโดยเร็วที่สุด
ผมขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด โดยเฉพาะใน 10 จังหวัดสีแดงเข้ม และจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ได้เตรียมความพร้อมในการยกระดับการควบคุมการเดินทางที่เข้มงวดยิ่งขึ้น และมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดในแต่ละจังหวัด โดยให้คงความเข้มงวดแต่ให้เกิดความเดือดร้อนต่อประชาชนน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ในการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดขึ้นนี้ ย่อมมีผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งเตรียมแผนการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนไว้อย่างต่อเนื่อง โดยที่ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อภาคการคลังของประเทศ โดยจากการปิดสถานที่ล่าสุดนี้
รัฐบาลได้มีการออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถจ่ายเงินชดเชยพี่น้องประชาชนได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ทั้งการชดเชยผู้ประกอบการและลูกจ้างใน 9 กลุ่มกิจการใน 10 จังหวัดสีแดงเข้ม รวมถึงผู้มีอาชีพอิสระด้วย
นอกจากนั้นยังได้มีมาตรการลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งลดค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นเวลาสองเดือน และล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย รวมกับสมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติ ออกมาตรการเร่งด่วน พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 2 เดือนให้กับทั้งผู้ประกอบการและลูกจ้าง ที่ต้องปิดกิจการ และพิจารณาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ยังไม่ปิดกิจการแต่มีรายได้ลดลง และยังจะมีมาตรการอื่นๆที่พิจารณาโดยเร่งด่วน เช่นการลดค่าใช้จ่ายทางการศึกษา
ด้านสาธารณสุข ในที่ประชุมวันนี้ ได้รับทราบมาตรการการตรวจหาเชื้อโควิดแบบ Antigen Test Kit ควบคู่ไปกับการตรวจคัดกรองเชิงรุกแบบเดิมที่เร่งดำเนินการอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ซึ่งการตรวจ Antigen Test Kit นี้ ประชาชนสามารถดำเนินการด้วยตนเองในการตรวจได้เอง ซึ่งจะลดการแออัดในการขอตรวจกับจุดตรวจต่างๆ
ซึ่งจะมีกระบวนการในการดำเนินการอย่างชัดเจน หากได้ผลบวก ก็จะมีการตรวจซ้ำกับโรงพยาบาลและจุดตรวจอีกครั้งเพื่อยืนยันผล และแยกรักษาตามอาการ ทั้งการกักตัวที่บ้านหรือศูนย์โควิดชุมชนสำหรับผู้ป่วยสีเขียว และการรักษาที่โรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง ซึ่งหน่วยงานสาธารณสุขเชื่อว่าวิธีการนี้จะช่วยลดความแออัดของเตียงผู้ป่วยในกรุงเทพฯลงได้ และรัฐบาลกำลังดำเนินการทุกทางที่จะเพิ่มการรองรับผู้ป่วยในทุกระดับ ทุกพื้นที่
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข ที่จะให้มีการจัดฉีดวัคซีนแบบผสมสูตร คือ Sinovac และ AstraZeneca เป็นแนวทางควบคู่ไปกับการฉีดวัคซีน AstraZeneca 2 เข็ม และการฉีดวัคซีนกระตุ้น (Booster Dose) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีน Sinovac 2 เข็ม โดยเข็มที่สามให้เป็น AstraZeneca หรือ Pfizer ที่จะได้รับมาจากประเทศสหรัฐอเมริกาในเดือน ก.ค. นี้
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการในทรัพยากรวัคซีนที่เรามีอยู่ โดยอยู่บนพื้นฐานความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งได้รับการรับรองจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของประเทศ และผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และรัฐบาลจะเร่งดำเนินการจัดหาวัคซีนจากทุกๆแหล่งที่สามารถทำได้ให้ได้มากที่สุด เร็วที่สุด โดยไม่เคยปิดกั้นการจัดหาวัคซีนทางเลือกจากภาคเอกชน
“สุดท้ายนี้ ผมขอให้พี่น้องประชาชนทุกคนร่วมกันตระหนักถึงความจำเป็นที่เราอาจจะต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดมากขึ้นในเร็วๆนี้ และอาจจะทำให้เราได้รับผลกระทบ ได้รับความไม่สะดวกในหลายๆอย่าง แต่ขอให้พี่น้องประชาชนทุกท่านได้เข้าใจว่า ทุกมาตรการที่ออกมา มาจากการพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งทางด้านสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจ และผมเชื่อว่า หากทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันได้อย่างเต็มที่ ประเทศไทยจะต้องฝ่าวิกฤตนี้ไปได้โดยเร็วที่สุดครับ”