จากการประกาศเลิกกิจการของ ‘สวนเสือศรีราชา’ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา องค์กรพิทักษ์สัตว์โลก ออกมาเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน แสดงความรับผิดชอบต่อสวัสดิภาพสัตว์ของสัตว์ป่า ร่วมกันจัดการสัตว์ป่าที่ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม เป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานสากล
นายปัญจเดช สิงห์โท ที่ปรึกษาด้านนโยบาย องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ซึ่งรณรงค์เรื่องยุติผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยงมาอย่างต่อเนื่อง เรียกร้องให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ใช้อำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เข้าตรวจสอบบัญชีประชากรสัตว์ป่าทั้งหมดหลังปิดกิจการ ไปจนถึงควบคุมกระบวนการขาย เคลื่อนย้าย หรือโอนสิทธิ์สัตว์ป่าให้เป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานสากล พร้อมเน้นย้ำว่าสัตว์ป่าไม่ควรถูกนำมาหาประโยชน์ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวตั้งแต่แรก เพราะมีปัญหาด้านสวัสดิภาพมากมายและไม่เป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์
“เราพยายามเสนอมาตลอดว่าไม่ควรมีการอนุญาตให้ผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยงจนเพิ่มจำนวน และการเพิ่มจำนวนสัตว์ในกรงเลี้ยง โดยเฉพาะเสือ ไม่ได้ช่วยอนุรักษ์สัตว์ป่าใดๆ ทั้งสิ้น แถมยังมีปัญหาด้านสวัสดิภาพสัตว์มากมาย เช่น การที่สัตว์ป่าถูกจำกัดอิสรภาพในกรงเลี้ยงตลอดชีวิต กระบวนการฝึกสัตว์ป่าอย่างโหดร้ายทารุณเพื่อสร้างความบันเทิงให้กับนักท่องเที่ยว ยิ่งไปกว่านั้น หลายกรณีในอดีตยังพบว่ามีการลักลอบผสมพันธุ์สัตว์ป่าเพื่อลักลอบขายชิ้นส่วนอีกด้วย ซึ่งอวัยวะของเสือเป็นที่นิยมอย่างมากในตลาดมืด”
นายปัญจเดช ยังแสดงความกังวลต่อสวัสดิภาพของสัตว์ป่าสวนเสือศรีราชาที่ประกาศว่าจะดูแลต่อไป เนื่องจากสัตว์ป่ามีจำนวนมาก ทำให้การดูแลและหาบ้านใหม่อาจจะเป็นไปอย่างยากลำบากในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ โดยเรียกร้องไปยังผู้รับผิดชอบในสวนเสือศรีราชาและกรมปศุสัตว์ให้เปิดเผยแผนการดูแลสัตว์ป่าที่เหลืออยู่เหล่านี้ต่อสาธารณะว่าเป็นไปตามมาตรฐานด้านสวัสดิภาพสัตว์หรือไม่
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกพบว่า ปัจจุบันธุรกิจสวนสัตว์เอกชนจำนวนมากทั่วโลกกำลังปิดตัวลง โดยเฉพาะในปี 2563 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนักจากรายได้ที่ลดลงในวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ส่งผลให้สัตว์ป่าในกรงขังจำนวนมากตกอยู่ในความเสี่ยง
นายฉัตรณรงค์ เมืองวงษ์ ผู้จัดการแคมเปญสัตว์ป่า องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ระบุว่า “สัตว์ป่าสมควรได้อยู่ในป่า พวกมันไม่ควรถูกนำมาผสมพันธุ์เชิงพาณิชย์ ฝึกอย่างโหดร้ายทารุณ และใช้ชีวิตแบบทุกข์ทรมาน เพียงเพื่อความบันเทิงของนักท่องเที่ยวตั้งแต่แรก ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลกกอบโกยกำไรบนความทุกข์ทรมานของสัตว์ป่ามหาศาล แต่เมื่อเกิดวิกฤตแบบนี้ กลับไม่สามารถรับผิดชอบชีวิตสัตว์ป่าได้เลย กลายเป็นภาระของทุกฝ่ายที่ต้องยื่นมือเข้ามาช่วย ตอนนี้รัฐบาลหลายๆ ประเทศจึงเริ่มพิจารณาเพิ่มมาตรฐานการควบคุมและจัดการสัตว์ป่าในสวนสัตว์เอกชนกันแล้ว ล่าสุดเช่นฝรั่งเศสที่ออกกฎหมายแบนการใช้สัตว์ป่าแสดงโชว์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา”
“เราหวังว่าภาครัฐของไทยจะปรับปรุงนโยบายและกฎหมายต่างๆ ให้ปกป้องสัตว์ป่ามากขึ้น โดยเฉพาะการยุติการผสมพันธุ์สัตว์ป่าเชิงพาณิชย์ ป้องกันการทำร้ายสัตว์ป่าอย่างโหดร้ายทารุณ ตลอดจนหยุดให้ใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบกิจการที่เคยมีประวัติทรมานหรือสร้างความเสียหายต่อสัตว์ป่า นอกจากจะเป็นการปกป้องสัตว์ป่าแล้ว ยังเป็นผลดีต่อการท่องเที่ยวด้วย เพราะนักท่องเที่ยวทุกวันนี้รับไม่ได้กับกิจกรรมที่ทรมานสัตว์ป่ามากขึ้นเรื่อยๆ”
นายฉัตรณรงค์ กล่าวปิดท้าย
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกยืนยันจุดยืนไม่สนับสนุนการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าเชิงพาณิชย์ และไม่สนับสนุนการค้าสัตว์ป่า ทั้งที่ถูกและผิดกฎหมาย ทางองค์กรฯ เน้นย้ำด้วยว่าการกอบโกยผลประโยชน์จากสัตว์ป่าไม่ได้แค่ทำให้ชีวิตสัตว์ป่าต้องทุกข์ทรมานเท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อคนด้วย เพราะเป็นที่มาของโรคระบาดจากสัตว์สู่คนหลายชนิด อย่างเช่นโรคโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาด สร้างความเสียหายทั้งด้านสุขภาพและเศรษฐกิจไปทั่วโลกอยู่ตอนนี้
เกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก หรือ World Animal Protection เป็นองค์กรเพื่อคุ้มครองปกป้องสวัสดิภาพสัตว์ และยุติการทารุณกรรมสัตว์อย่างถาวร โดยสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 มีบทบาทในการให้คำปรึกษากับองค์การสหประชาชาติและสภายุโรป ทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ สร้างความแตกต่างให้สัตว์ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ถูกทารุณกรรมทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยดำเนินงานครอบคลุมทั้งสัตว์ในชุมชน – สุนัข , สัตว์ป่า, สัตว์ประสบภัยพิบัติ – ช่วยเหลือสัตว์ในภาวะภัยพิบัติ การจัดหาอาหาร ที่อยู่และยารักษาโรคให้กับสัตว์, สัตว์ในฟาร์ม รวมถึงการให้ความรู้ด้านปศุสัตว์ ที่มีมนุษยธรรมอันส่งผล ต่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนและสัตว์ ข้อมูลเพิ่มเติม www.worldanimalprotection.or.th/