จากกรณีที่ สำนักงานประกันสังคม เปิดให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 และ มาตรา 39 ตรวจสอบเช็คสิทธิเพื่อรับเงินเยียวยาล่าสุดสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท โดยสำนักงานประกันสังคม โอนเงินเยียวยาล่าสุดผ่านระบบพร้อมเพย์ผูกบัตรประชาชน และบัญชีธนาคาร ของผู้ประกันตน
ความคืบหน้าล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. หน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงินได้เปิดเผยความหมายของพร้อมเพย์ และ คำถามที่พบบ่อยพร้อมเพย์ผูกบัตรประชาชนมีดังนี้
พร้อมเพย์คืออะไร
บริการโอนเงินและรับเงิน-ทางเลือกใหม่ พร้อมเพย์ เป็นบริการทางเลือกใหม่ให้ประชาชน ธุรกิจ และหน่วยงานต่างๆ ใช้ในการโอนเงินและรับเงิน เป็นบริการเพิ่มจากการโอนเงินแบบเดิม ที่ให้ประชาชนเลือกใช้ได้และทำให้ผู้ใช้มีความสะดวกมากขึ้น เพราะระบบพร้อมเพย์จะใช้เลขประจำตัวประชาชน หรือ หมายเลขโทรศัพท์มือถือของผู้รับเงินแทนได้ ทำให้สะดวกและง่ายต่อการจดจำ จากเดิมที่ต้องรู้เลขที่บัญชีเงินฝากธนาคารจึงจะโอนเงินให้ได้
พร้อมเพย์จึงเป็นบริการทางเลือกให้กับประชาชน โดยทุกคนไม่จำเป็นต้องมาลงทะเบียน แต่ผู้ที่มีการโอนเงินรับเงินบ่อย ๆ ควรมาลงทะเบียนใช้พร้อมเพย์ เพราะจะได้รับประโยชน์จากค่าธรรมเนียมที่ถูกลงมาก
1.ทำไมต้องมีพร้อมเพย์
เพื่อเพิ่มทางเลือกและความสะดวกในการโอนและรับเงินให้ประชาชน และช่วยลดความเสี่ยงในการถือเงินสดที่อาจสูญหาย ลดภาระและต้นทุนในการบริหารจัดการและพิมพ์ธนบัตรของประเทศ ในระยะต่อไปรัฐบาลจะดูแลประชาชนด้านสวัสดิการโดยจ่ายเงินผ่านช่องทางพร้อมเพย์ด้วย ทำให้ประชาชนได้รับเงินรวดเร็วและทั่วถึง
ประชาชนได้อะไร
ประชาชนมีทางเลือกในการใช้บริการโอนเงินมากขึ้นและสามารถใช้พร้อมเพย์ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินค่าเล่าเรียน ค่าบริการต่าง ๆ หรือการจ่ายค่าอาหาร และที่สำคัญด้วยค่าบริการที่ถูกลงกว่าบริการโอนเงินแบบเดิม โดยเฉพาะการโอนเงินครั้งละไม่เกิน 5,000 บาท จะไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใด ๆ ไม่ว่าจะโอนไปยังธนาคารไหน หรือ ณ จุดใดในประเทศ ถ้าโอนจำนวนมากขึ้นก็มีค่าธรรมเนียมเรียกเก็บบ้าง แต่มีเพดานไม่เกิน 10 บาทต่อรายการ
2. อยากใช้พร้อมเพย์ต้องทำอย่างไร
ผู้ใช้ต้องมาลงทะเบียนเพื่อผูกบัญชีที่มีอยู่กับธนาคารนั้นเข้ากับเลขประจำตัวประชาชน หรือ หมายเลขโทรศัพท์มือถือ โดยธนาคารจะมีการตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ว่าเป็นเจ้าของตัวจริง ไม่มีการปลอมแปลง เพื่อดูแลความปลอดภัยให้ประชาชน และหลังจากลงทะเบียนแล้วธนาคารจะมีการแจ้งยืนยันว่าผ่านการลงทะเบียนหรือไม่
ทุกธนาคารจะเปิดให้ลงทะเบียน ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป ผ่าน Mobile Banking, Internet Banking ตู้ ATM และสาขาธนาคาร โดยประชาชนสามารถมาลงทะเบียนเมื่อไหร่ก็ได้ ตามความสะดวกและความพร้อมของประชาชน ซึ่งธนาคารบางแห่งที่มีความพร้อมได้เปิดลงทะเบียน ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2559
สำหรับผู้ที่มีบัญชีเงินฝากธนาคารหลายบัญชี ไม่จำเป็นต้องมาลงทะเบียนพร้อมเพย์ทุกบัญชี แต่อาจเลือกบัญชีใดบัญชีหนึ่งไว้สำหรับรับเงินด้วยพร้อมเพย์ก็ได้ (ตัวอย่างกรณีนาย ก) หรือในกรณีที่อยากใช้พร้อมเพย์กับหลายบัญชี ก็สามารถเลือกผูกเลขประจำตัวประชาชนกับบัญชีที่ 1 และผูกเบอร์โทรศัพท์มือถือกับบัญชีที่ 2 ก็ได้ (ตัวอย่างกรณีนาย ข และนาย ค) และต้องระวังว่าหมายเลขเดียวกันผูกซ้ำเกินกว่า 1 บัญชีไม่ได้
เริ่มให้บริการโอนเงินตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2560 โดยจะโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ได้ตามช่องทางต่าง ๆ ของธนาคาร คือ Mobile Banking, Internet Banking และ ตู้ ATM ซึ่งลูกค้าต้องมีรหัส Username / Password หรือมีบัตรและรหัส ATM จึงจะสามารถใช้บริการได้
ระยะเวลาตั้งแต่ลงทะเบียนจนถึงเริ่มให้บริการรับ-โอนเงินระบบพร้อมเพย์จะเป็นช่วงเวลาที่ให้ข้อมูลความรู้แก่ประชาชนเพื่อทำความรู้จัก ศึกษาและเข้าใจวิธีการใช้งานพร้อมเพย์ที่ถูกต้อง รวมทั้งการรักษาความปลอดภัยในการใช้บริการ เพื่อให้มีความพร้อมในการใช้บริการอย่างวางใจและปลอดภัย
3.พร้อมเพย์ปลอดภัยหรือไม่
ระบบพร้อมเพย์มีการดูแลความปลอดภัยตั้งแต่ขั้นตอนการลงทะเบียนที่รัดกุม การพัฒนาระบบกลางที่มั่นคงปลอดภัย และการใช้งานของประชาชนผู้โอนเงินอย่างถูกต้อง
ลงทะเบียนรัดกุม : ธนาคารจะมีการตรวจสอบตัวตนของลูกค้าและความเป็นเจ้าของหมายเลขโทรศัพท์มือถืออย่างรัดกุม นอกจากนี้ ธปท. ได้กำชับให้ธนาคารปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดในการรับลงทะเบียนพร้อมเพย์ ซึ่งได้ออกไปเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 59 เพื่อให้การลงทะเบียนมีความปลอดภัย เป็นมาตรฐานและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน รวมทั้ง ธปท. มีการตรวจสอบขั้นตอนและการควบคุมดูแลระบบการลงทะเบียนพร้อมเพย์เป็นการเฉพาะ เพื่อให้มั่นใจในความมั่นคงปลอดภัยและความพร้อมใช้งาน
ระบบกลางมั่นคงปลอดภัย : พร้อมเพย์เป็นระบบที่พัฒนาเพิ่มจากระบบโอนเงินที่ใช้อยู่ปัจจุบัน จึงมีความปลอดภัยไม่ด้อยกว่าบริการโอนเงินในปัจจุบัน
ธนาคารกับผู้ให้บริการระบบกลางพร้อมเพย์ของประเทศ คือ บริษัท NITMX จึงเป็นระบบปิดที่มีการดูแลรักษาความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล คนภายนอกไม่สามารถต่อเข้ากับระบบนี้ผ่านช่องทาง Internet ทั่วไปได้ และ ธปท. ได้ติดตามดูแลการพัฒนาระบบด้านความมั่นคงปลอดภัยด้วย
นอกจากนี้ ได้มีการเตรียมการรองรับในด้านความปลอดภัย รวมถึงการดูแลระบบสารสนเทศ (IT) ในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย มาตรฐานความถูกต้อง ความพร้อมใช้ของระบบ การดูแลการเข้าถึงข้อมูล การสำรองข้อมูล และการมีแผนรองรับกรณีฉุกเฉิน
ระบบกลางของพร้อมเพย์ ได้ถูกออกแบบและพัฒนาโดยบริษัทที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านระบบการชำระเงิน และเป็นผู้พัฒนาระบบการชำระเงินที่ใช้ในประเทศต่าง ๆ โดยมีมาตรฐานความปลอดภัยสูงระดับสากล และยังมีระบบติดตามและป้องกันการทุจริตเพื่อเพิ่มความปลอดภัยด้วย
ทั้งนี้ ผู้ให้บริการระบบกลาง ได้ให้บริการในระบบที่มีมาตรฐานความปลอดภัยด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศ ตามมาตรฐาน ISO-27001 ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระบบสากล และมีการตรวจสอบประเมินความปลอดภัยจากหน่วยงานภายนอกที่ได้รับการรับรองอีกชั้นหนึ่ง
ประชาชนโอนเงินอย่างถูกต้อง : นอกเหนือจากความปลอดภัยของระบบกลางแล้ว ได้มีการออกแบบความปลอดภัยในส่วนของกระบวนการเข้าใช้งาน กล่าวคือ ผู้ใช้บริการที่ทุกธนาคาร จะต้องมีการใส่เลขรหัสหรือ Password และมีการยืนยันรายการก่อนทำการโอนทุกครั้ง
4.ข้อควรระวังของประชาชนในการใช้บริการพร้อมเพย์
ควรระมัดระวังรักษาอุปกรณ์ เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือ Mobile Device ที่ใช้เชื่อมต่อทำธุรกรรมเกี่ยวกับระบบพร้อมเพย์เป็นอย่างดี เพื่อไม่ให้ผู้อื่นเอาไปใช้งาน เช่นเดียวกับการดูแลบัตรเครดิตหรือบัตร ATM
ผู้โอนเงินควรเรียนรู้ ศึกษา วิธีการใช้งานอย่างปลอดภัย เช่น การตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องก่อนการยืนยันการโอนเงิน
ควรมีความระมัดระวังในการตั้งรหัส Username / Password ให้คาดเดาได้ยาก และไม่บอกรหัส Username / Password กับผู้อื่น หรือเขียนเอาไว้ในที่เปิดเผย
ที่ผ่านมาปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น มักมีสาเหตุจากการหลอกลวงโดยคน ไม่ใช่เรื่องของระบบงาน จึงต้องระมัดระวังกลโกงต่าง ๆ ให้โอนเงินไปให้ หรือหลอกขอข้อมูลรหัส Username / Password
5.การดูแลลูกค้าของธนาคาร
ธนาคารมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบต่อลูกค้าพร้อมเพย์ เช่นเดียวกับการดูแลลูกค้าที่ใช้บริการ Mobile Banking, Internet Banking หรือ ATM ของธนาคาร ซึ่งในปัจจุบันธนาคารมีกระบวนการที่ดูแลลูกค้าอยู่แล้วในกรณีที่เกิดความผิดพลาด มีปัญหาหรือข้อโต้แย้งต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น กรณีบัตรเครดิตหายหรือโอนเงินทาง ATM ผิด ลูกค้าสามารถโทรมาแจ้งที่ Call Center ของธนาคารซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ธนาคารมาดูแลช่วยเหลือในรายละเอียด โดยทั่วไปธนาคารจะมีกำหนดเวลาในการแก้ไขเรื่องร้องเรียนภายใน 7-14 วัน
นอกจากนั้น ธนาคารยังมีหน้าที่ต้องดูแลให้ลูกค้าได้รับทราบข้อมูลการใช้บริการที่ครบถ้วนถูกต้อง และมีความเข้าใจก่อนการตัดสินใจใช้บริการด้วย
6.กฎหมายรองรับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
e-Payment ได้ให้บริการมาเป็นเวลานานแล้ว โดยมีกฎหมายรองรับคือ พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และ พ.ร.ฎ. ควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนั้นมีประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่กำหนดในเรื่องการรักษาความมั่นคงปลอดภัย และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งผู้ให้บริการพร้อมเพย์ ทั้งธนาคารพาณิชย์ และผู้ให้บริการ Switching (บ. NITMX) ต้องปฏิบัติตาม
ในส่วนของ ธปท. ได้ออกประกาศ เรื่อง นโยบายและมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางระบบสารสนเทศ ในการประกอบธุรกิจของผู้ให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ และใช้มาตรฐานสากลในการกำกับดูแล
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย