กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้จัดหาวัคซีนโควิด 19 เพื่อฉีดให้ประชาชน 100 ล้านโดสในปี 2564 ทั้งนี้การจัดหาวัคซีนโควิดมีการลงนามจองซื้อและจะส่งมอบตามสัญญาจำนวน 100 ล้านโดสในปี 2564 ได้แก่ แอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส ซิโนแวค 19 ล้านโดส และไฟเซอร์ 20 ล้านโดส อย่างไรก็ตามความต้องการฉีดวัคซีนของประชาชนมีจำนวนมาก ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจะจัดหาเพิ่มเติมและแจ้งความคืบหน้าต่อไป
ล่าสุดในวันนี้ นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคและบริษัทไฟเซอร์ จำกัด ได้ลงนามสัญญาจัดหาวัคซีน mRNA จำนวน 20 ล้านโดส หลังจาก ครม.อนุมัติให้ลงนาม จะส่งมอบตามแผนภายในไตรมาส 4 ปี 2564 ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาบริจาคให้ประเทศไทย 1.5 ล้านโดสจะมาปลายเดือนกรกฎาคมนี้ คาดว่าจะเริ่มฉีดได้ช่วงเดือนสิงหาคมนี้
สำหรับวัคซีนที่ได้มา ทางศบค.เห็นชอบกำหนดกลุ่มเป้าหมาย คือ
1.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโควิดที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว เพื่อกระตุ้นเป็นเข็ม 3 หรือบูสเตอร์โดส
2.กลุ่มผู้สูงอายุหรือกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ระบาด
3.ชาวต่างชาติที่เป็นกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ระบาด
“กระทรวงสาธารณสุขให้แต่ละจังหวัดแจ้งยอดกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าในการรับวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งเป็นกลุ่มแรกที่จะดำเนินการฉีดก่อน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการสอบถามข้อมูล ดังนั้น ข่าวที่ว่ามีโรงพยาบาลหลายแห่งส่งข้อมูลไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร จะมีการสอบทานเพื่อให้ได้จำนวนที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายและแจ้งมายังส่วนกลางต่อไป”
นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีการลงนามวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า โดยระบุว่าการลงนาม 3 ฝ่ายระหว่างกรมควบคุมโรค แอสตร้าเซนเนก้า และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2563 มีข้อตกลงว่าจะไม่เปิดเผยความลับในสัญญา ถ้าจะเปิดเผยต้องได้รับความยินยอม 3 ฝ่าย มิเช่นนั้นถือว่าทำผิดสัญญาและอาจถูกยกเลิกไม่มีการส่งวัคซีนให้ประเทศไทยได้ ทั้งนี้ในสัญญาไม่ได้มีประเด็นอะไรซับซ้อน แต่ภาคเอกชนคำนึงถึงความลับทางการค้าที่อาจมีผลกับการทำสัญญากับอีกหลายประเทศ
“การทำสัญญากับแอสตร้าเซนเนก้าเป็นช่วงที่ยังไม่มีการผลิต จึงไม่สามารถกำหนดจำนวนที่ผลิตและจัดส่งให้ได้ ต้องเจรจากันล่วงหน้าในแต่ละเดือน สำหรับข่าวที่บอกว่าเราต้องการ 3 ล้านโดสต่อเดือนนั้น ไม่เป็นความจริง ความต้องการแต่ละเดือนอยู่ที่ 10 ล้านโดส จากการเจรจาล่าสุดทางบริษัทจะส่งให้เราได้อย่างน้อยประมาณ 5-6 ล้านโดสต่อเดือน ทั้งนี้ขึ้นกับกำลังการผลิต หากผลิตได้เพิ่มขึ้นก็จะส่งมอบให้ได้มากขึ้น”
ขณะที่ความกังวลใจเกี่ยวกับวัคซีนซิโนแวค นายแพทย์โอภาสกล่าวว่า สำหรับผลการศึกษาประสิทธิผลการใช้วัคซีน “ซิโนแวค” ในสถานการณ์จริงของประเทศไทย โดยติดตามกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและบุคลากรทางการแพทย์ พบว่า จ.ภูเก็ตป้องกันการติดเชื้อ 90% จ.สมุทรสาคร ป้องกันการติดเชื้อประมาณ 90% แต่เป็นช่วงของสายพันธุ์อัลฟา
ส่วนเดือนมิถุนายน 2564 มีการระบาดในบุคลากรทางการแพทย์ จ.เชียงราย ผลการศึกษาพบว่าประสิทธิผลอยู่ที่ 82.8% แม้จะลดลงแต่อยู่ในระดับที่น่าพอใจ ส่วนการติดเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์ทั้งประเทศรวบรวมโดยกรมควบคุมโรค ช่วงเดือนพฤษภาคมพบว่าป้องกันการติดเชื้อ 70.9% ข้อสังเกตคือประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อเริ่มลดลง เนื่องจากเชื้อกลายพันธุ์
ดังนั้นจึงต้องหาวิธีเพิ่มประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อให้ดีขึ้น และเป็นที่มาของการปรับสูตรการฉีดวัคซีนเป็นเข็ม 1 ซิโนแวค เว้น 3-4 สัปดาห์ฉีดเข็มสองเป็นแอสตร้าเซนเนก้า ประสิทธิผลการป้องกันโรคสูงขึ้นหลายเท่าเมื่อเทียบกับการฉีดซิโนแวค 2 เข็ม รวมถึงฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมรวดเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากใช้เวลา 4 สัปดาห์ จากเดิมฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มต้องเว้นช่วง 12 สัปดาห์ ทำให้รองรับสถานการณ์การระบาดได้ดียิ่งขึ้น
นายแพทย์โอภาสกล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของมาตรการล็อดาวน์ในขณะนี้ การจะควบคุมสถานการณ์การระบาดต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากประชาชน อยู่บ้านให้มากที่สุด Work From Home หากมีผู้สูงอายุที่บ้านให้รีบพาไปรับวัคซีน ส่วนการปิดร้านอาหารภายในห้างสรรพสินค้า 14 วันนั้น จะมีการประเมินตามสถานการณ์ หากแนวโน้มดีขึ้นก็อาจผ่อนคลายให้กลับมาเปิดได้ อย่างไรก็ตาม ร้านอาหารนอกห้างสรรพสินค้ายังเปิดได้ถึง 20.00 น. โดยให้ซื้อกลับบ้าน