มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ 13 จังหวัด ที่รัฐบาลประกาศออกมานั้น กำลังสร้างผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบด้านการส่งออก การท่องเที่ยวและบริการ การบริโภค รวมถึงภาคการลงทุนของเอกชน
สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประเมินความเสียหายเบื้องต้นที่เกิดขึ้น จากวันที่เริ่มล็อกดาวน์จนถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2564 จะส่งผลต่อความเสียหายราว 90,000- 120,000 ล้านบาท หรือราว 3-4 พันล้านบาทต่อวัน
นั่นย่อมส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีของประเทศในปีนี้ตามไปด้วย จากที่หลายสำนักได้คาดการณ์ตัวเลขจีดีพีปีนี้จะขยายตัวที่ราว 1.5-2.5 % อาจจะปรับลดลงมาขยายตัวที่ 0 % ก็เป็นได้ เนื่อง จากแนวโน้มของการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย การกระจายการฉีดวัคซีนยังไม่ทั่วถึง
หลายฝ่ายออกมาให้ความเห็นต่อการบริหารจัดการ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่อรัฐบาล หากไม่ได้รับการแก้ไขหรือปลดล็อกอุปสรรคต่างๆ จะสร้างความเสียหายต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ที่เป็นห่วงโซ่ในการขับเคลื่อนประเทศ จะต้องล้มหายตายจากไปมากขึ้น
ชงศบศ.ช่วยเอสเอ็มอี
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีมาอย่างต่อเนื่องจนนำมาสู่มาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่ 13 จังหวัด ได้ส่งผลกระทบกับภาคธุรกิจอย่างหนัก โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ที่มีจำนวนมากกว่า 3 ล้านราย และเป็นห่วงโซ่ของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มท่องเที่ยวและบริการ ร้านอาหาร ภาคผลิตต่างๆ ตลอดระยะเวลาวิกฤตที่ผ่านมาได้รับผลกระทบ และยังไม่ได้รับการแก้ปัญหา เมื่อมีมาตรการล็อกดาวน์ ได้ส่งผลกระทบต่อเอสเอ็มอีเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น ในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ในวันที่ 22 กรกฎาคม 64 นี้ ส.อ.ท.และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย จะร่วมกันเสนอ
แนวทางการช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ใน 4 แนวทาง ประกอบด้วย ให้พิจารณาเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันความเสียหายผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพิ่มขึ้นเป็น 60% เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาในช่วงนี้ได้มากขึ้น
ให้พิจารณาผู้ประกอบการที่เป็นลูกหนี้สถาบันการเงินที่เข้าเกณฑ์ NPL ที่เกิดขึ้นในช่วงโควิดไม่มีประวัติข้อมูลที่บ่งบอกถึงประวัติการชำระหนี้หรือสินเชื่อใน Credit Bureau (บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด) เป็นระยะเวลา 3 ปี การผ่อนคลายเงื่อนไขการปล่อยกู้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่ “ให้สภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการที่ยังพอมีศักยภาพ”
โดยให้เป็นดุลยพินิจของสถาบันการเงิน ซึ่งการเข้มงวดกับคำว่าศักยภาพที่ยึดโยงกับรายได้ในอนาคตที่ไม่แน่นอนจากสถานการณ์วิกฤติไม่ปกติ จะเป็นอุปสรรคที่สถาบันการเงินยังไม่พิจารณาปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มผู้ประกอบการที่เป็น NPLs และขอความช่วยเหลือจำเป็นเร่งด่วนในการจัดหา Rapid Test ให้กับผู้ประกอบการ SMEs
นอกจากนี้ ยังหารือแนวทางความช่วยเหลือเร่งด่วนด้านเศรษฐกิจ อาทิ การผลักดันโครงการ Faster Payment ให้บริษัทที่เข้าร่วมโครงการจะลดระยะเวลา Credit term ให้แก่คู่ค้าของบริษัทโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ในระยะเวลา 30 วันต่อไปจนถึงสิ้นปี
ส่วนมาตรการเยียวยาที่ออกมานั้น มองว่ายังไม่น่าจะเพียงพอ น่าจะต้องมีเพิ่มเติมอีก สิ่งสำคัญที่ประชาชนต้องการมากที่สุดก็คือวัคซีนที่จะเข้ามาช่วยลดการแพร่ระบาดของโควิด
ขณะที่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ(จีดีพี)ไทย ในปีนี้จะเป็นไปในทิศทางใด มองว่าหากมีการล็อกดาวน์ระยะยาวจีดีพีคงจะเป็นบวกได้ยาก เพราะภาคการผลิตในปัจจุบันมีปัญหาเรื่องของโควิดระบาดอยู่ โดยตัวเลขจะเป็นเท่าไหร่คงต้องรอให้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)ประชุม เพื่อประเมินสรุปอีกครั้ง
จี้กู้อีก 1 ล้านล้านฟื้นเศรษฐกิจ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานส.อ.ท.กล่าวว่า เงินกู้อีก 5 แสนล้านบาทที่รัฐเตรียมไว้คงไม่เพียงพอในการเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพราะโควิดระบาดรอบนี้รุนแรงมาก ดังนั้น เสนอให้รัฐบาลเตรียมเงินอีก 1 ล้านล้านบาท (ไม่รวมก้อน 5 แสนล้าน) เพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่
โดยเงินกู้ 5 แสนล้านก้อนเดิมตอนนี้ก็ใช้ในการเยียวยาและฟื้นฟูเพื่อพยุงเศรษฐกิจไปก่อน แต่พอถึงจุดที่ประเทศไทยสามารถฉีดวัคซีนได้ 30-40% ของจำนวนประชากรแล้ว ก็ใช้เม็ดเงินอีก 1 ล้านล้านอัดฉีดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และอัดฉีดอย่างเต็มที่หลังฉีดได้ 50% ของประชากร เพื่อให้เครื่องสตาร์ทติดและวิ่งได้
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การบาดของเชื้อโควิดที่รุนแรง และขยายวงกว้างในเวลานี้เป็นข้อกังวลของภาคธุรกิจเอกชนและของทุกภาคส่วนมากที่สุด ขอให้รัฐบาลเร่งจัดหาวัคซีนคุณภาพดีให้เข้ามามีจำนวนมากพอสำหรับประชาชน และเร่งระดมฉีดป้องกันให้ได้มากที่สุด
นอกจากนี้ ขอให้รัฐบาลเร่งนำเงินกู้ 5 แสนล้านบาทออกมาใช้ในการเยียวยาได้แล้ว เพราะการล็อกดาวน์ 13 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม และเพิ่มมาตรการคุมเข้มโควิดในพื้นที่อื่นคาด 1 เดือนจะกระทบเศรษฐกิจเสียหายทั่วประเทศ 90,000-120,000 ล้านบาท ซึ่งเงิน 4.2 หมื่นล้านที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติใช้เยียวยาล็อกดาวน์รอบใหม่คงไม่พอ
อีกทั้ง ขอให้ภาครัฐผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อให้สถาบันการเงินสามารถใช้ดุลพินิจปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น เพราะเวลานี้มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู วงเงิน 2.5 แสนล้าน ยังปล่อยสินเชื่อได้เพียง 72,392 ล้านบาท และพักทรัพย์พักหนี้วงเงิน 1 แสนล้าน ยังปล่อยสินเชื่อได้เพียง 958 ล้านบาท (ณ วันที่ 12 ก.ค.64) รวม 2 มาตรการเพียง 73,350 ล้านบาท”
หวั่นสูญอีกแสนล้าน
นายสรเทพ โรจน์พจนารัช ประธานชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารและเจ้าของร้านอาหาร สตีฟ คาเฟ่ แอนด์ ครุยซีน กล่าวว่า มาตรการล็อกดาวน์กระทบอย่างมากต่อผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารไม่ว่าจะขนาดใหญ่ กลางหรือเล็ก
โดยเฉพาะร้านอาหารที่ตั้งอยู่ในห้างและศูนย์การค้า ที่ถูกสั่งปิดให้ดำเนินการ เท่ากับว่าร้านค้าเหล่านี้จะไม่มีพื้นที่ทำครัว พื้นที่ขาย และไม่มีรายได้เข้ามาเลย ขณะที่ยังมีภาระค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะเงินเดือนพนักงาน
ทั้งนี้ อยากเรียกร้องให้รัฐบาลคลายมาตรการให้ร้านอาหารเหล่านี้กลับมาเปิดบริการได้ แม้จะให้บริการเฉพาะซื้อกลับบ้านหรือดีลิเวอรีเท่านั้นก็ตาม เพราะร้านในฟู้ดคอร์ท ที่เป็นไมโครเอสเอ็มอี ได้รับผลกระทบหนักมาก มาตรการเยียวยาที่มีก็ไม่สามารถช่วยให้ธุรกิจอยู่ได้
“กว่า 1 ปีที่ผ่านมาธุรกิจร้านอาหารสูญหายไปกว่า 1 แสนล้านบาท จากเดิมที่มีมูลค่ารวมกว่า 4 แสนล้านบาท หากรัฐต้องใช้มาตรการขั้นสูงสุดล็อกดาวน์ทั้งประเทศ เชื่อว่าจะส่งผลกระทบหนักและทำให้ธุรกิจร้านอาหารสูญเม็ดเงินไปกว่า 1 แสนร้านภายในระยะเวลา 45 วัน”
โรงแรมใกล้ตายสนิท
นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการควบคู่กับการล็อกดาวน์คือการเร่งฉีดวัคซีน ที่ต้องให้เข้าถึงพื้นที่ระบาดได้อย่างตรงจุด และมีการวางแผนจัดหาวัคซีนและกระจายวัคซีนที่ชัดเจนจริงๆ
เพราะวันนี้ยังไม่มั่นใจว่ามีวัคซีนเข้ามาจริงได้แค่ไหน เพราะการฉีดวัคซีนให้เร็ว เป็นทางออกเดียว ที่จะทำให้การท่องเที่ยวกลับมาเดินได้และสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศได้อีกครั้ง เนื่องจากขณะนี้เองหลายพื้นที่ท่องเที่ยวยังได้รับวัคซีนต่ำกกว่าเป้าหมายที่วางไว้มาก
“ธุรกิจได้รับผลกระทบมากว่า 1 ปีแล้ว เหมือนกับถูกตะปูตอกลงมาแล้ว เมื่อเกิดการระบาดหนักในครั้งนี้ จนต้องยกระดับมาตรการล็อกดาวน์ ก็เหมือนตะปูถูกกระแทกลงไปอีก ใกล้ตายสนิทแล้ว หลายธุรกิจมีสภาพคล่องเหลือไม่เกิน 3 เดือนนี้ หลังจากนี้จะเห็นสถานประกอบการหันมาปิดกิจการเพิ่มมากขึ้นไปอีก”
นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV และสายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ขณะนี้ธุรกิจการบินมืดมน ตกต่ำถึงขีดสุด กว่าการจะกลับมาเดินทางอีกครั้งต้องใช้เวลา จึงอยากขอให้รัฐบาลเข้ามาเยียวยาธุรกิจสายการบินโดยด่วน
เพราะมีสภาพคล่องเหลืออีกไม่กี่เดือน การหาแหล่งเงินกู้ที่อยู่ในแผนเองก็ต้องใช้เวลา จึงต้องการให้รัฐบาลมีคำตอบเรื่องของ 7 สายการบินขอซอฟต์โลนวงเงินราว 1 หมื่นล้านบาทโดยเร็ว ซึ่งเงินจำนวนนี้จะนำมาใช้สำหรับการจ่ายเงินเดือนพนักงานเท่านั้น