"ปตท."เร่งตั้งหน่วยคัดกรอง-รพ.สนามครบวงจรพร้อมมอบยาเรมเดซิเวียร์

22 ก.ค. 2564 | 14:29 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.ค. 2564 | 21:28 น.

กลุ่ม ปตท.เร่งตั้งหน่วยคัดกรองและโรงพยาบาลสนามครบวงจรร่วมแก้วิกฤตประเทศ พร้อมมอบยาเรมเดซิเวียร์นำเข้าจากต่างประเทศ 2,000 ขวดรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่สามารถใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ได้ แก่รัฐบาล

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้มอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัด เร่งหาแนวทางช่วยเหลือประชาชนในวิกฤตโควิด-19 (COVID-19) อย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในจุดที่เป็นความจำเป็นสูงสุดในช่วงนี้ ซึ่ง กลุ่ม ปตท. อยู่ระหว่างเร่งจัดตั้งหน่วยคัดกรองและโรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End) นำร่องเป็นต้นแบบของภาคธุรกิจที่จะเข้ามาร่วมมือกับภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข ร่วมช่วยเหลือสถานการณ์ COVID-19 ของประเทศในปัจจุบัน ที่ยังมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของภาครัฐ หลังจากที่สนับสนุนการนำเข้ายาเรมเดซิเวียร์เพื่อเพิ่มสำรองคงคลังภายในประเทศ
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่  บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่ม ปตท. ร่วมสนับสนุนการแก้ปัญหาวิกฤต COVID-19 ของประเทศมาอย่างต่อเนื่องภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน โดยล่าสุดได้มอบยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) นำเข้าจากต่างประเทศ จำนวน 2,000 ขวด โดยบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด เพื่อใช้กับผู้ป่วย COVID-19 ที่ไม่สามารถใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ได้ โดยเฉพาะผู้ตั้งครรภ์ที่มีภาวะปอดอักเสบให้กับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมทั้งเตรียมการจัดหาอย่างต่อเนื่องเพิ่มเติม เพราะประเทศยังมีความจำเป็นต้องใช้มากยิ่งขึ้น

สำหรับการให้ความช่วยเหลือในขั้นถัดไป กลุ่ม ปตท. ได้เตรียมการเพิ่มกำลังการดูแลผู้ป่วยโควิดครบวงจร เพื่อเป็นอีกแรงสนับสนุนแก้ปัญหาวิกฤตเร่งด่วนของประเทศในขณะนี้ มุ่งเน้นการตรวจเร็ว แยกเร็ว รักษาเร็ว โดยจะร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและพันธมิตรทางการแพทย์ ในการเพิ่มการตรวจคัดกรองเชิงรุก เพื่อคัดแยกผู้ติดเชื้อ การดูแลผู้ติดเชื้อที่ดูแลตนเองเบื้องต้นที่บ้าน หรือ ในชุมชน (Home or Community Isolation) 
นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท. จะมอบกล่องพลังใจ คนไทยไม่ทิ้งกันที่ประกอบด้วยอุปกรณ์ ยา และ ของใช้ที่จำเป็น พร้อมระบบติดตามอาการทางไกล ตลอดจนการส่งต่อผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลสนามเขียวและเหลืองตามระดับความรุนแรงของอาการ โดยร่วมจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในระดับสีเขียวประมาณ 1,000 เตียง ระดับสีเหลือง 350 เตียง รวมทั้งจัดตั้งโรงพยาบาลสนามไอซียู รองรับผู้ป่วยขั้นวิกฤต ระดับสีแดง จำนวน 120 เตียง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ดูแลทั้งระบบโดยบุคลากรทางการแพทย์ของพันธมิตรกลุ่ม ปตท. ทั้งนี้คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในปลายเดือนกรกฎาคมนี้