การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 นอกจากทำให้ต้องมีวินัยในการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น ใส่ใจกับความสะอาด ความปลอดภัย แม้แต่การกินอยู่ ผลกระทบไปถึงรูปแบบการเรียนการสอนที่เปลี่ยนไปสู่ระบบออนไลน์ จากการที่สถานศึกษาไม่สามารถเปิดทำการสอนได้ตามปกติ
โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน หรือ โรงเรียน ตชด. ซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล น้องๆนักเรียนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะวิกฤติโควิด -19 น้องหลายคนไม่ได้มีโอกาสเรียนออนไลน์ เพราะที่บ้านไม่มีโทรศัพท์มือถือ เป็นหน้าที่ของคุณครู ที่ต้องนำใบงานไปส่งให้น้อง ๆ ที่บ้าน เพื่อที่จะได้ทบทวนบทเรียนอย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดช่วง ขณะเดียวกัน คุณครูต้องทำหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่ของเด็ก ๆ รวมไปถึงครอบครัวของเด็ก ๆ ด้วย
ผลผลิตไข่ไก่ที่ได้จาก "โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน" จากโรงเรียน ตชด.ที่เข้าร่วมโครงการฯ เป็นอาหารมื้อสำคัญของเด็ก ๆ ในแต่ละวัน ซึ่งปีนี้โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ที่มี บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ และมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ร่วมกันดำเนินการ เพื่อส่งเสริมเด็กและเยาวชน เข้าถึงโปรตีนคุณภาพ และภาวะโภชนาการที่ดี ดำเนินการเป็นปีที่ 32 แล้ว มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ 880 โรงเรียนทั่วประเทศ และส่วนหนึ่งเป็นโรงเรียน ตชด. ที่ร่วมด้วย
ด.ต.หญิงสำรวย อินอุ่นโชติ ครูผู้ช่วยครูโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน รับผิดชอบกิจกรรมด้านปศุสัตว์ การเลี้ยงไก่ไข่ โรงเรียนตชด.บ้านเขาสารภี ต.ทับพริก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เล่าว่า โรงเรียนมีนักเรียนที่เป็นเด็กไทยและกัมพูชา 74 คน เข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ เป็นปีที่ 24 แล้ว โดยปกติเด็ก ๆ จะได้บริโภคไข่ไก่เป็นอาหารมื้อกลางวัน แต่ในช่วงโควิด -19 เด็ก ๆ ไม่ได้มาโรงเรียน ก็ห่วงเรื่องสุขอนามัย ครูใหญ่จึงมอบหมายให้คุณครูประจำชั้น นำไข่ไก่ไปแจกจ่ายให้กับนักเรียนถึงที่บ้าน ให้ได้บริโภคไข่คนละ 15 ฟองทุกสัปดาห์
รวมทั้งผลผลิตทางการเกษตรในโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ทั้งผักและปลา ที่คุณครูนำไปให้ผู้ปกครองทำให้เด็ก ๆ ได้ทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เพราะเด็กส่วนใหญ่มีฐานะยากจน อาศัยอยู่กับปู่ย่าตายาย พ่อแม่ต้องไปทำงานต่างจังหวัด อาหารที่นำไปให้นักเรียน จึงช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้
นอกจากนี้ โรงเรียนยังอนุญาตให้ชาวบ้านละแวกใกล้เคียงกับโรงเรียนเข้ามาเก็บผัก แบ่งเมล็ดพันธุ์ผักของโรงเรียนไปปลูกที่บ้าน หรือในช่วงที่ปลดระวางแม่ไก่ทุกรุ่น ผู้ปกครองจะขอซื้อแม่ไก่ไปเลี้ยงต่อ บ้านละ 5-10 ตัว ทำให้มีไข่ไก่ได้บริโภคทุกวัน ผลผลิตไข่ไก่อีกส่วนหนึ่ง ก็ส่งเข้าสหกรณ์เพื่อจำหน่ายให้ชุมชนในราคาย่อมเยา แผงละ 30 ฟอง ราคา 85 บาท
ด.ญ. ณัฐณิชา เวหาด หรือน้องกัน นักเรียนชั้น ป.1 โรงเรียนตชด.บ้านเขาสารภี เล่าว่า อาศัยอยู่กับย่า 2 คน พ่อแม่ไปทำงานต่างจังหวัด พอมีโควิด ย่าไม่ค่อยได้ไปทำงานรับจ้าง ก็ยิ่งลำบากกว่าเมื่อก่อน มีคุณครูมาช่วยดูแล เอาไข่ไก่ ปลา กับผักมาให้ทุกอาทิตย์ รู้สึกดีใจมากที่ครูมาเยี่ยมและนำอาหารมาให้ด้วย เพราะย่าก็ได้กินด้วย น้องกันชอบทำไข่เจียว เพราะทำง่ายและอร่อยด้วย ที่บ้านยังเอาเมล็ดพันธุ์ผักที่ครูให้มาปลูกไว้ด้วย ผลผลิตช่วยลดรายจ่ายได้มาก ๆ ขอขอบคุณโรงเรียนและคุณครูที่เป็นห่วงนักเรียน ถึงแม้จะไม่ได้ไปโรงเรียนก็ยังมาดูแล ทำให้ได้กินไข่ ผัก ปลา เหมือนตอนที่ไปโรงเรียน
ส่วนโรงเรียน ตชด.บ้านควนตะแบก ต.เกาะเต่า อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง ซึ่งเข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ เป็นปีที่ 13 ด.ต.วีรพงศ์ สังข์แก้ว ครูผู้รับผิดชอบโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน บอกว่า ช่วงนี้ทั้งครูและนักเรียนต้องปรับตัวตามสถานการณ์โควิด ถึงแม้เด็กนักเรียนทั้ง 110 คน มาเรียนไม่ได้ แต่คุณครูพร้อมเติมพลังกายให้พวกเขา นำผลผลิตไข่ไก่ไปให้
ปัจจุบันโรงเรียนเลี้ยงแม่ไก่ 200 ตัว ผลผลิตที่ได้แต่ละวัน สามารถนำไปให้กับนักเรียนได้ทุกคน คนละ 15 ฟองต่อสัปดาห์ อีกส่วนจำหน่ายให้ชุมชน มีการสั่งจองล่วงหน้า วันละ 150-160 ฟอง ส่วนพืชผักที่ปลูกในโรงเรียน ครูจะแจ้งให้ผู้ปกครองและนักเรียนเข้ามารับได้ฟรี พร้อมสนับสนุนให้นำเมล็ดพันธุ์ผักไปปลูกเองที่บ้าน เพื่อสร้างอาหารที่ยั่งยืนในครัวเรือน
ทางด้านโรงเรียนชายขอบติดพรมแดนประเทศลาว โรงเรียนตชด.บ้านห้วยเป้า ต.ปากชม อ.ปากชม จ.เลย ด.ต. ภูวนาท แสนคำอ้วน ครูผู้ดูแลโครงการฯ เล่าว่า ตลอด 10 ปีที่ร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ เด็กๆได้เรียนรู้วิธีการเลี้ยงไก่ไข่ที่่นำไปใช้เป็นพื้นฐานอาชีพติดตัว หลายครอบครัวซื้อไก่ที่ปลดระวางไปเลี้ยง ได้บริโภคไข่ไก่ ลดรายจ่ายของที่บ้าน
ช่วงการระบาดของโควิด นักเรียน 142 คน ไม่ได้มาโรงเรียน แต่ยังได้บริโภคไข่ไก่อย่างต่อเนื่อง เพราะทุกสัปดาห์คุณครูจะร่วมกันทำอาหารจากไข่ไก่ ไข่เป็ด ปลาดุก ผักสวนครัว ไปมอบให้นักเรียน พร้อมกับไข่ไก่อีกคนละ 5 ฟอง เพื่อดูแลสุขอนามัยของเด็กๆ ขณะเดียวกัน โรงเรียนยังกลายเป็นแหล่งอาหารของชุมชน มีไข่ไก่จำหน่ายในราคาย่อมเยา ช่วยลดค่าจ่าย เรียกได้ว่าเป็นสวัสดิการชุมชนในช่วงโควิด
“โรงเรียนมีแนวคิดว่าเด็กของเรา ต้องอิ่มท้อง อิ่มสมอง เหมือนตอนที่มาโรงเรียน เพราะบางครอบครัวอาจไม่สามารถดูแลให้เด็กได้รับอาหารครบ 5 หมู่ บางคนพ่อแม่ไปทำงานต่างถิ่น ต้องอยู่กับปู่ย่าตายาย บางคนต้องดูแลผู้ปกครองที่เข้าสู่วัยชรา การเข้าไปหาเด็กๆเพื่อมอบอาหาร เช่น ไข่ไก่ เป็นการเปิดโอกาสให้ครูได้พบปะและได้ดูแลพวกเขา ต้องขอบคุณซีพีเอฟ และมูลนิธิฯ ที่สนับสนุนตลอดมา ทั้งพันธุ์สัตว์และอาหารรุ่นแรก แนะนำการดูแลสัตว์ ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพสัตว์ เรื่องบัญชีและการบริหารสต๊อก ทำให้โครงการมีความต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน" ด.ต.ภูวนาท กล่าว
“โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน" ภายใต้การสนับสนุนของซีพีเอฟและมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารของโรงเรียนและชุมชน ตอบโจทย์การเข้าถึงอาหารและการบริโภคอย่างพอเพียง ได้ ทั้งในภาวะปกติและวิกฤติ