วันเข้าพรรษา 2564 ประวัติ-ความหมาย ความสำคัญทางพุทธศาสนา

24 ก.ค. 2564 | 21:33 น.

วันเข้าพรรษา 2564 เปิดประวัติ-ความเป็นมา ทำไมพระสงฆ์ต้องจำพรรษาที่วัดใดวัดหนึ่งนานถึง 3 เดือน ขณะที่พุทธศาสนิชนปฏิบัติตน และทำกิจกรรมอะไรกันบ้างในวันนี้ เช็คที่นี่

ในเดือนกรกฎาคม 2564 ปีนี้มีวันสำคัญทางพุทธศาสนา 2 วัน คือ วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา 2564 ซึ่งต่อจากวันอาสาฬหบูชา "ฐานเศรษฐกิจ" พาไปเปิดประวัติและความหมายของ "วันเข้าพรรษา" กันว่า มีสำคัญทางพระพุทธศาสนาอย่างไร

ความเป็นมาของการเข้าพรรษา

ในพระพุทธศาสนามีเรื่องเล่าว่า ประเทศอินเดียในสมัยโบราณเมื่อถึงฤดูฝน น้ำมักท่วม ผู้ที่สัญจรไปมาระหว่างเมือง เช่น พวกพ่อค้า ก็หยุดเดินทางไปมาชั่วคราว ณ สถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งตลอดฤดูฝน เพราะการคมนาคมไม่สะดวก

เมื่อเกิดพระพุทธศาสนาแล้ว พระพุทธเจ้าเสด็จจาริกเผยแพร่พระศาสนาต่อไป นับเป็นพุทธจริยาวัตรและในตอนแรกที่ยังมีพระภิกขุสงฆ์ไม่มาก พระภิกขุสงฆ์ปฏิบัติประพฤติตามพระพุทธเจ้า ความครหานินทาใด ๆ ก็ไม่เกิดมีขึ้นจึงไม่ต้องทรงตั้งบัญญัติพิธีอยู่จำพรรษา ครั้นพอพระพุทธศาสนาแผ่ขยายออกไปกว้าง พระภิกขุสงฆ์ได้เพิ่มปริมาณเพิ่มขึ้น

วันหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ในกรุงราชคฤห์ มีพระภิกขุ 6 รูป ฉัพพัคคีย์ แม้เมื่อถึงฤดูฝนก็ยังพากันจาริกไปมา เที่ยวเหยียบย่ำข้าวกล้าหญ้าระบัด และสัตว์เล็กสัตว์น้อยให้เกิดความเสียหายและตายไป ประชาชนจึงพากันติเตียนว่า ไฉนพระสมณศากยบุตรจึงเที่ยวไปมาอยู่ทุกฤดูกาล พากันเหยียบย่ำข้าวกล้าและต้นไม้ ตลอดจนทั้งสัตว์หลายตายจำนวนมาก

เมื่อความเรื่องนี้ทราบถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงบัญญัติเป็นธรรมเนียมให้พระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษาในที่แห่งเดียวตลอด 3 เดือน คือ ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 8 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ห้ามมิให้พระภิกษุเที่ยวไปค้างคืนที่อื่น

หากมีธุระกิจเป็นอันชอบด้วยพระวินัย จึงไปได้ด้วยการทำสัตตาหกรณียะ คือ ต้องกลับมาที่พักเดิมภายใน 7 วัน นอกจากนั้นห้ามเด็ดขาด และปรับอาณัติแก่ผู้ฝ่าฝืนล่วงละเมิดพระบัญญัติพิธีการปฏิบัติในวันเข้าพรรษา มีความเป็นมาดังกล่าวนี้

ทั้งนี้ หากมีกรณีจำเป็นบางอย่าง พระภิกษุผู้จำพรรษาสามารถไปค้างที่อื่นได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการขาดพรรษาแต่ก็จะต้องกลับมาภายในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน คือ

  1. การไปรักษาพยาบาลภิกษุ หรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย
  2. การไประงับภิกษุสามเณรที่อยากจะสึกมิให้สึกได้
  3. การไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น การไปหาอุปกรณ์มาซ่อมกุฏิที่ชำรุด
  4. หากมีนิมนต์ไปทำบุญ ก็ไปฉลองศรัทธาในการบำเพ็ญกุศลของเขาได้

กิจวัตรของพระภิกษุในช่วงวันเข้าพรรษา

กิจวัตรของพระภิกษุในวันเข้าพรรษาจะคล้ายกับวันออกพรรษาเพียงแต่พระภิกษุสงฆ์จะต้องไม่ออกไปนอกพื้นที่ พระภิกษุสงฆ์ที่มีพรรษามากกว่าจะทำหน้าที่เป็นครูบาอาจารย์ ใครถนัดด้านวิชาใดก็สั่งสอนเผยแพร่แก่พระภิกษุสงฆ์ที่พรรษาน้อยกว่า ช่วงวันเข้าพรรษานี้จึงจะทำให้พระภิกษุสงฆ์มีโอกาสได้ศึกษาพระไตรปิฏกมากยิ่งขึ้น

ประเพณีที่นิยมในวันเข้าพรรษา

การหล่อเทียนพรรษา (วันเข้าพรรษา) นับว่า เป็นประเพณีที่ปฏิบัติและทำกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ที่ต้องมีการหล่อเทียนเข้าพรรษานั้นเนื่องจากในฤดูฝน หรือ ที่เรียกกันว่า ฤดูการเข้าพรรษา นั้น พระสงฆ์ต้องจำพรรษาสวดมนต์ทำวัตรทุกเช้าค่ำจึงมีความจำเป็นที่ต้องใช้เทียน ต้องมีเทียนไว้สำหรับจุดบูชาตลอดพรรษา

ดังนั้น พุทธศาสนิกชนจึงพร้อมใจกันหล่อเทียนพรรษาเพื่อนำไปถวายแก่พระสงฆ์ไว้จุดบูชา หรือทำกิจของสงฆ์ตลอด 3 เดือน จึงเรียกเทียนที่หล่อขึ้นมานี้ว่า "เทียนพรรษา" หรือ "เทียนจำนำพรรษา" นั่นเอง 

อานิสงฆ์การถวายเทียนพรรษา
ทำให้เกิดสติ ปัญญา เปรียบดั่งแสงสว่างแห่งเทียน ทำให้เจริญไปด้วยมิตรสหายบริวาร เป็นที่รักใคร่ของมนุษย์ และเทวดาทั้งหลาย ทำให้คลี่คลายเรื่องราวปัญหาต่าง ๆ จากร้ายกลายเป็นดี

บทสวดถวายเทียนพรรษา (ภาษาไทย)

ยัค เฆ ภันเต สังโฆ ปะฏิชานาตุ มะยัง ภันเต เอตัง ปะทีปะยุตัง สะปะริวารัง เตมาสัง พุทธัสสะ ปูชะนัตถายะ อิมัสมิง อุโปสะถาคาเร นิยยาเทมะ อะยัง เตมาสัง พุทธัสสะ ปูชะนัตถายะ ปะทีปะยุคัสสะ ทานัสสะ อะนิสังโส อัมหากัญเจวะ มาตาปิตุอาทีนัญจะ ปิยะชะนานัง ฑีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ สังวัตตะตุ ฯ

คำแปล

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอพระสงฆ์จงรับทราบ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายเทียนคู่นี้ พร้อมกับของบริวาร ไว้ ณ พระอุโบสถนี้ เพื่อเป็นพุทธบูชาตลอดพรรษา

ขออนิสงส์แห่งการถวายคู่เทียนเพื่อเป็นพุทธบูชาตลอดพรรษานี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย จงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย แก่ปิยชนทั้งหลาย มีมารดาบิดาเป็นต้นด้วย ตลอดกาลนาน เทอญ

กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันเข้าพรรษา

  • ร่วมกิจกรรมทำเทียนจำนำพรรษา
  • ร่วมกิจกรรมถวายผ้าอาบน้ำฝน และจตุปัจจัย แก่พระภิกษุสามเณร
  • ร่วมทำบุญ ตักบาตร ฟังธรรมเทศนา รักษาอุโบสถศีล 
  • งดเว้นอบายมุขต่าง ๆ

ที่มา : สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ