นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า สปสช.ได้มีการพูดคุยทำความเข้าใจกับหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งคลินิกชุมชนอบอุ่น ศูนย์บริการสาธารณสุข และโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน เรื่องระบบการเบิกจ่ายเงินในการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้านหรือที่ชุมชน (Home-Community isolation) ไปแล้ว เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2564 ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาความล่าช้าในการรับตัวผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้าระบบการรักษาตัวที่บ้านหรือที่ชุมชน (Home-Community isolation) ของคลินิกชุมชนอบอุ่นได้ เพราะที่ผ่านมาคลินิกชุมชนอบอุ่นอาจยังไม่มั่นใจในเรื่องนี้
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ขณะนี้ สปสช. ได้ปรับระบบการจ่ายเงินใหม่ โดยหากหน่วยบริการตอบรับพร้อมดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ขึ้นทะเบียนรักษาผ่านระบบการดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชน (Home-Community isolation) ด้วยการให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 พิสูจน์ตัวตน (Authentication Code) ผ่านระบบออนไลน์ด้วยบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดหรือตามแนวทางที่ สปสช.กำหนดแล้ว ทาง สปสช. ก็จะโอนเงินเบื้องต้นเหมาจ่ายในอัตรา 3,000 บาทต่อรายให้แก่หน่วยบริการ โดยจะโอนทุกสัปดาห์
“ถ้าเป็นระบบปกติ หน่วยบริการจำเป็นต้องให้บริการรักษาผู้ป่วยจนครบก่อน จึงจะสามารถเบิกเงินกับทาง สปสช. ได้ และอาจต้องรออีก 2 สัปดาห์จึงจะได้รับเงิน ฉะนั้นการปรับกระบวนการดังกล่าวนี้จะเป็นกลไกช่วยสนับสนุนให้หน่วยบริการบางแห่งที่ไม่มีกระแสเงินสด เพราะในวันแรกจะต้องมีการส่งอาหาร ปรอทวัดไข้แบบดิจิตอล เครื่องวัดออกซิเจนที่ปลายนิ้วให้กับผู้ป่วย ฉะนั้นเงิน 3,000 บาท จะเป็นงบเบื้องต้นที่ช่วยให้หน่วยบริการมีกระแสเงินสดหมุนเวียนในการให้บริการ” นพ.จเด็จ กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า ในช่วงแรกมีหน่วยบริการเข้าร่วมโครงการ 104 แห่ง จากทั้งหมดกว่า 200 แห่ง และจากข้อมูลเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2564 พบว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่หน่วยบริการตอบรับและนำเข้ารักษาด้วยระบบ การดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชนแล้วจำนวน 39,500 ราย จึงอยากจะขอความร่วมมือกับหน่วยบริการ โดยเฉพาะคลินิก ให้รับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พักอาศัยอยู่ในละแวกเข้าระบบ ส่วนผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้อยู่ใกล้คลินิกก็สามารถรับบริการได้ เนื่องจากมีการใช้ระบบติดต่อผู้ป่วยทางไกล เช่น Video call หรือ Line official
“เราได้มีการทดลองมาแล้วกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก ดังนั้นก็จะสื่อสารกับทางคลินิกว่าแม้จะไม่ได้อยู่ในพื้นที่ แต่ถ้าคลินิกมีความสนใจ หรืออยากจะรับเพิ่มก็จะมีการจัดผู้ป่วยให้ เพราะหลักๆ แล้วจะเป็นเรื่องอาหาร และยา ซึ่งขณะนี้ก็ได้ใช้การส่งแบบเดลิเวอรี่ รวมถึงการติดตามผู้ป่วยผ่าน Video call ซึ่งไม่จำเป็นต้องอยู่ใกล้กันก็ได้” นพ.จเด็จ กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวด้วยว่า ในช่วงแรกคาดการณ์ว่าคลินิก 1 แห่งสามารถบริการผู้ป่วยได้ประมาณ 20-30 ราย ต่อบุคลากรทางการแพทย์ 1 คน แต่จากการประเมินในขณะส่วนตัวเชื่อว่าสามารถเพิ่มจำนวนผู้ป่วยเป็นหลักร้อยได้ เนื่องจากมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการติดตาม-ดูแลผู้ป่วย
ทั้งนี้ จากการนำร่องใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ในการตรวจเชิงรุกนั้นได้ผลค่อนข้างดี โอกาสที่จะเกิดผลบวกปลอมมีต่ำกว่า 3% จึงให้ความมั่นใจได้ว่าชุดตรวจนี้มีความถูกต้อง และในขณะนี้จะใช้ชุดตรวจดังกล่าวเป็นมาตรฐานเบื้องต้นตามมติคณะกรรมการควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และผู้ติดเชื้อสามารถเข้าระบบ Home isolation ได้โดยไม่จำเป็นต้องถามหาผลตรวจ RT-PCR เพื่อยืนยัน ส่วนผู้ป่วยต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลผู้รับจะใช้วิจารณญาณในการจะตรวจ RT-PCR เพื่อยืนยันได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องตรวจด้วยวิธี RT-PCR ก่อนถึงจะได้รับบริการ
อย่างไรก็ตาม ชุดตรวจ ATK ที่จะแจกจ่ายให้กับประชาชนใน 2 เดือนนี้ มีทั้งสิ้น 8.5 ล้านชุด แต่สำหรับหน่วยบริการไม่ได้มีการจำกัดจำนวนชุดในการใช้ ขณะเดียวกันในสัปดาห์หน้า นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข จะมีการทำแผนตรวจคัดกรองให้ได้วันละ 1 แสนราย คาดว่าใช้เวลาทั้งหมด 10 วัน จะอยู่ที่ 10 ล้านชุด ตรงนี้จะแยกกันกับในส่วนที่จะแจกให้ประชาชน
อนึ่ง ในกรณีที่ตรวจด้วย ชุดตรวจ ATK แล้วพบว่าผลเป็นบวก สามารถติดต่อหน่วยบริการใกล้บ้านที่เคยไปรับบริการได้ หรือสายด่วน 1330 กด 14 อย่างไรก็ดีในขณะนี้เบอร์สายด่วนข้างหนาแน่น ฉะนั้น สปสช. ได้เพิ่มช่องทางการลงทะเบียนเพื่อเข้าสู่การดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชน (Home-Community Isolation) ที่ https://crmhi.nhso.go.th/ กรณีที่ลงทะเบียนแล้วแต่ยังไม่ได้รับการติดให้กรอกข้อมูลที่ https://crmsup.nhso.go.th/ กรณีผู้ติดเชื้อในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลต้องการกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนา ลงทะเบียนที่ https://crmdci.nhso.go.th/ หรือเพิ่มเพื่อนผ่านไลน์ Official Account หรือไลน์ OA ของ สปสช. @nhso เลือกบริการเกี่ยวกับโควิด-19 เพื่อกรอกข้อมูลเข้าสู่ระบบได้เช่นกัน เนื่องจากทุกข้อมูลจะเข้าสู่ระบบเดียวกัน และจะถูกส่งต่อให้กับคลินิกใกล้บ้านเริ่มดำเนินการดูแลผู้ป่วยด้วยระบบการดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชน (Home-Community Isolation)