6องค์กรสื่อ ยกระดับกดดันรัฐ จี้ ยกเลิก "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" คุกคามเสรีภาพ

30 ก.ค. 2564 | 17:23 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ก.ค. 2564 | 23:44 น.

6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เดินหน้ายกระดับกดดันรัฐบาล ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี จี้ ยกเลิกข้อกำหนดพ.ร.ก.ฉุกเฉินฉบับที่ 27 ข้อ11 และฉบับที่ 29 พร้อมยื่นกรรมการสิทธิ์ให้ตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลคุกคามเสรีภาพสื่อและประขาชน

เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 64 ตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนจำนวน  6 องค์กร ประกอบด้วย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์  และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย

เดินหน้ายกระดับเรียกร้องให้รัฐบาล ทบทวนและยกเลิก ข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 27 ข้อ11 และข้อกำหนดฉบับที่ 29 ที่มีเนื้อหาคุกคามเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน 

6องค์กรสื่อ ยกระดับกดดันรัฐ จี้ ยกเลิก \"พ.ร.ก.ฉุกเฉิน\" คุกคามเสรีภาพ

เริ่มจาก เวลา 11.00 น. นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ นายสุปัน รักเชื้อ รักษาการเลขาธิการสภาวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ไทย และนายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นตัวแทน 6 องค์กร วิชาชีพสื่อมวลชน ยื่นจดหมายเปิดผนึก ถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯรัฐมนตรี ผ่านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ตึกนารีสโมสรทำเนียบรัฐบาล 

โดยเรียกร้องให้ยกเลิกข้อกำหนดฉบับที่ 27 ข้อ11 และข้อกำหนดฉบับที่29 ตามมาตรา 9 ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่คุกคามเสรีภาพสื่อมวลชนและประชาชน โดยเนื้อหาของจดหมายเปิดผนึกระบุว่า

ขอให้ยกเลิกข้อความในข้อที่ 11 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราช กำหนดการ บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) และข้อกำหนดในฉบับที่ 29

ตามที่ท่านได้ออกข้อกำหนดตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 27 ข้อ 11 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 และฉบับที่ 29 เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ระบุข้อความว่า ในลักษณะเดียวกันว่า “การเสนอข่าวหรือการทําให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว  หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทําให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  ทั่วราชอาณาจักร” ตามความทราบแล้วนั้น

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 6 องค์กร ได้ปรึกษาหารือกันจนมีข้อสรุปว่า ถ้อยคำตามข้อกำหนดดังกล่าว สุ่มเสี่ยงที่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือคุกคามเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน ซึ่งได้รับการรับรองไว้ในมาตรา 34 และมาตรา 35 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. ข้อกำหนดดังกล่าว ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการเอาผิดแม้เพียงแค่“ข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” โดยปราศจากหลักเกณฑ์หรือขอบเขตของการใช้อำนาจที่ชัดเจน ดังนั้น แม้ประชาชนและสื่อมวลชนที่เผยแพร่ข้อเท็จจริงหรือความจริงก็อาจถูกดำเนินคดีหรือคุกคามจากหน่วยงานของรัฐได้ เพียงเพราะใช้วิจารณญานว่าเป็นการทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว 

2. ข้อกำหนดทั้ง 2 ฉบับนี้ มีเนื้อหาแตกต่างจากข้อกำหนดในลักษณะเดียวกันที่เคยมีการประกาศก่อนหน้านี้ในข้อกําหนดฉบับที่ 1 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 ข้อ 6 ซึ่งระบุไว้ความชัดเจนว่า จะห้ามเสนอข่าวฯ ได้ ต้องเป็นข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 และต้องเป็นการเสนอข่าวหรือทำให้เผยแพร่ข้อความอันไม่เป็นความจริง รวมทั้งระบุให้เจ้าหน้าที่ต้องเตือนให้ระงับหรือสั่งให้แก้ไขข่าวเสียก่อน 

3. ตลอดระยะเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนได้ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลพร้อมทั้งขอให้รัฐบาลทบทวนการออกข้อกำหนดข้างต้น หรือจัดทำแนวปฏิบัติจากข้อกำหนด และแถลงถึงเจตนารมณ์ในการบังคับใช้ให้เกิดความชัดเจน เพื่อมิให้มีการนำข้อกำหนดดังกล่าว ไปเป็นเครื่องมือในการปิดกั้นการทำหน้าที่เสนอข่าวสารของสื่อมวลชนและการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตของประชาชน จนกระทบต่อสิทธิการรับรู้ข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน แต่กลับถูกเพิกเฉย

อีกทั้งได้มีการออกข้อกำหนดฉบับที่ 29 ซ้ำอีกครั้ง โดยมีการขยายขอบเขตการใช้อำนาจในการจำกัดเสรีภาพการแสดงความเห็นของประชาชนและสื่อมวลชนให้กว้างขวางออกไปอีก

ด้วยเหตุผลที่ระบุมาข้างต้น องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 6 องค์กร จึงขอเรียกร้องให้มีการยกเลิกข้อความในข้อที่ 11 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) รวมทั้งข้อกำหนดฉบับที่ 29 (ทั้งฉบับ) โดยทันที  เพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนมากไปกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งจะให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เลวร้ายลงไปอีก

ทั้งนี้ หาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรียังคงเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องตามจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 6 องค์กรจะเพิ่มมาตรการในการกดดันให้รัฐบาลต้องพิจารณายกเลิกข้อกำหนดดังกล่าว ทั้งมาตรการทางด้านกฎหมายและมาตรการทางสังคมต่อไปจนถึงที่สุด

6องค์กรสื่อ ยกระดับกดดันรัฐ จี้ ยกเลิก \"พ.ร.ก.ฉุกเฉิน\" คุกคามเสรีภาพ

6องค์กรสื่อ ยกระดับกดดันรัฐ จี้ ยกเลิก \"พ.ร.ก.ฉุกเฉิน\" คุกคามเสรีภาพ

จากนั้นเวลา 13.30 น. ตัวแทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และได้ยื่นหนังสือ “ขอให้ตรวจสอบพฤติกรรมรัฐบาลคุกคามการแสดงออกของประชาชน และสื่อมวลชน” โดยเนื้อหาระบุว่า  6องค์กรสื่อ ยกระดับกดดันรัฐ จี้ ยกเลิก \"พ.ร.ก.ฉุกเฉิน\" คุกคามเสรีภาพ

จากกรณีที่รัฐบาลได้ประกาศใช้ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 27 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 โดยข้อ 11 ในข้อกำหนดดังกล่าวได้ระบุถึง “มาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า การเสนอข่าว หรือการทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนทั่วราชอาณาจักรนั้น เป็นความผิดตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548”

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 6 องค์กร ดังมีรายชื่อท้ายหนังสือฉบับนี้ ได้มีการประชุมหารือกัน จนมีข้อสรุปว่า การออกข้อกำหนดฯ โดยมีมาตรการเพื่อมิให้บิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดดังกล่าว มีเนื้อหาแตกต่างจากข้อกำหนดในลักษณะเดียวกันที่ได้ประกาศก่อนหน้านี้ ในฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 ข้อ 6 การเสนอข่าว ระบุความชัดเจนว่า ห้ามการเสนอข่าว หรือทำให้แพร่หลายทางสื่อต่างๆ เกี่ยวกับสถานการณ์โรคโควิด 19 อันไม่เป็นความจริง พร้อมทั้งระบุให้เจ้าหน้าที่เตือนให้ระงับ หรือสั่งให้แก้ไขข่าวเสียก่อน 

6องค์กรสื่อ ยกระดับกดดันรัฐ จี้ ยกเลิก \"พ.ร.ก.ฉุกเฉิน\" คุกคามเสรีภาพ

ดังนั้น การตัดข้อความอันเป็นเงื่อนไขสำคัญในฉบับที่ 27 ดังกล่าว จึงเป็นการให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในการใช้ดุลยพินิจ จนอาจกระทบต่อการทำหน้าที่เสนอข้อมูลข่าวสาร และแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชนได้ 

ต่อมาวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 6 องค์กรได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการออกข้อกำหนดข้างต้น หรือจัดทำแนวปฏิบัติจากข้อกำหนด พร้อมแถลงถึงเจตนารมณ์ในการบังคับใช้ให้เกิดความชัดเจน เพื่อมิให้นำข้อกำหนดดังกล่าวไปเป็นเครื่องมือปิดกั้นการทำหน้าที่เสนอข่าวสารของสื่อมวลชน และการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตของประชาชน

นอกจากนี้ ยังได้พยายามประสานขอความชัดเจนจากผู้แทนรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ทั้งทางเวทีพูดคุยสาธารณะ และช่องทางสื่อสารอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้เพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนมาโดยตลอด และปรากฏว่าเมื่อช่วงเย็นวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความใน Facebook กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้มาตรการในข้อกำหนดดังกล่าวอย่างจริงจังต่อสื่อมวลชน คนดัง หรือเพจต่างๆ  

6องค์กรสื่อ ยกระดับกดดันรัฐ จี้ ยกเลิก \"พ.ร.ก.ฉุกเฉิน\" คุกคามเสรีภาพ

ท่าทีของนายกรัฐมนตรี ได้แสดงถึงการยืนยันเดินหน้าบังคับใช้ข้อกำหนดฯ ต่อไป โดยไร้ขอบเขต หรือหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน นับเป็นพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน และสื่อมวลชนอย่างร้ายแรง องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 6 องค์กรจึงมีแถลงการณ์ร่วมกันในวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 เรียกร้องให้ยกเลิกข้อกำหนดดังกล่าวทันที แต่รัฐบาลยังเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องดังเดิม 

ล่าสุด วันที่ 29 กรกฎาคม 2564 นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศข้อกำหนดฉบับที่ 29 ออกมาตอกย้ำความพยายามที่จะละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนและสื่อมวลชน ซึ่งเป็นเสรีภาพที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 อีกทั้งยังเป็นสิทธิตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมาตรา 19 ด้วย

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 6 องค์กร จึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติใช้อำนาจความตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2560 ดำเนินการดังต่อไปนี้ 

1. ตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมูลเหตุ และเจตนาของรัฐบาลในการประกาศใช้ข้อกำหนดฉบับที่ 27 และฉบับที่ 29 ซึ่งออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งอาจเข้าข่ายการละเมิดเสรีภาพของประชาชน และสื่อมวลชนตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 อีกทั้งยังเป็นการละเมิดสิทธิของพลเมืองตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน มาตรา 19 อีกด้วย

2. ตรวจสอบกรณีนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือข้าราชการ และพนักงานในหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้ข้อกำหนดข้างต้น ใช้อำนาจตามข้อกำหนดนี้ข่มขู่ และดำเนินคดีกับประชาชนที่ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และวิพากษ์วิจารณ์การบริหารประเทศของรัฐบาล 

3. เสนอแนะแนวทาง หรือมาตรการในการป้องกันไม่ให้มีการออกกฎหมายหรือข้อกำหนดต่างๆ อันเป็นกฎหมายลำดับรอง มาใช้เป็นเครื่องมือในการจำกัด และคุกคามเสรีภาพประชาชน และสื่อมวลชน เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายไทย และข้อตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี และมีพันธกรณีในการปฏิบัติตามด้วย

6องค์กรสื่อ ยกระดับกดดันรัฐ จี้ ยกเลิก \"พ.ร.ก.ฉุกเฉิน\" คุกคามเสรีภาพ

6องค์กรสื่อ ยกระดับกดดันรัฐ จี้ ยกเลิก \"พ.ร.ก.ฉุกเฉิน\" คุกคามเสรีภาพ

6องค์กรสื่อ ยกระดับกดดันรัฐ จี้ ยกเลิก \"พ.ร.ก.ฉุกเฉิน\" คุกคามเสรีภาพ

 

ด้าน นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เปิดเผยในภายหลังว่า วัตถุประสงค์ในการยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีว่า เนื่องจากองค์กรวิชาชีพมีข้อห่วงใยและความวิตกกังวล ในการที่ภาครัฐได้มีการออกประกาศข้อกำหนดฉบับที่ 27 และข้อกำหนดฉบับที่ 29 ซึ่งที่ผ่านมา องค์กรสื่อฯ ได้มีแถลงการณ์เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ขอให้รัฐบาลยกเลิกมาตรการจำกัดเสรีภาพประชาชนและสื่อมวลชนตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ โดยเฉพาะข้อกำหนดฉบับที่ 29 ได้มีการปรับเนื้อหา 

6องค์กรสื่อ ยกระดับกดดันรัฐ จี้ ยกเลิก \"พ.ร.ก.ฉุกเฉิน\" คุกคามเสรีภาพ

6องค์กรสื่อ ยกระดับกดดันรัฐ จี้ ยกเลิก \"พ.ร.ก.ฉุกเฉิน\" คุกคามเสรีภาพ

องค์การสื่อมองว่า หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอาจใช้เป็นโอกาสในการตีความเจตนารมณ์นำไปสู่การปิดกั้นการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน หรือการแสดงความเห็นของประชาชน จึงตัดสินใจยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีถึงข้อห่วงใยนี้ ที่ผ่านมาองค์การสื่อได้ทำงานร่วมกับภาครัฐมาโดยตลอดทั้งกรมประชาสัมพันธ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

รวมทั้ง ศปก. ศบค. อย่างใกล้ชิด ผ่านช่องทางไลน์อยู่แล้ว ขอยืนยันผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเห็นด้วยกับรัฐบาล ที่สกัดกั้นข่าวปลอมไม่ให้มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนจากข้อเท็จจริง

นายชวรงค์ กล่าวอีกว่า ข้อกำหนดฉบับที่ 29 เป็นการยืนยันว่าไม่ใช่ความผิดพลาดทางเอกสารแต่เป็นความตั้งใจของรัฐที่ทำให้สื่อมวลชนเกิดความกังวล และจากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีโพสต์เฟซบุกให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ข้อกำหนดนี้อย่างจริงจัง เป็นประเด็นที่ทำให้ไม่สามารถทำงานร่วมมือกับรัฐบาลได้อย่างเคยทำมา

แม้ในระหว่างการยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ทางโฆษกรัฐบาลจะยืนยันว่านายกไม่มีเจตนาจะใช้ข้อกำหนดนี้กับสื่อมวลชนอาชีพ แต่ส่วนตัวมองว่า กระทบโดยตรงสร้างผลกระทบกับสื่อมวลชน 

“การยื่นหนังสือวันนี้จึงขอให้ยกเลิกข้อกำหนดฉบับที่ 27 และ 29 ทันที หากนายกรัฐมนตรีเพิกเฉย จะมีการเพิ่มมาตรการกดดันให้รัฐบาลเพื่อเข้าใจว่าไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง มีทั้งมาตรการกฎหมาย และมาตรการทางสังคม  เช่น ยื่นข้อร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้ใช้อำนาจหน้าที่ตรวจสอบการกระทำของรัฐบาลในเรื่องนี้ “

นายชวรงค์ ระบุอีกว่าข้อกำหนดฉบับที่ 27 และ 29 นั้นอาจจะขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 คือ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน 

และมาตรา 35 คือ บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ 

“ในเรื่องการใช้ช่องทางทางกฎหมายนั้น กำลังพิจารณาอยู่ ต้องยื่นผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าข้อกำหนดนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่”

ด้าน นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไม่ได้จำกัดสิทธิเสรีภาพ ประชาชนและสื่อมวลชนสามารถวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลได้ เพียงขอให้เสนอข้อมูลบนพื้นฐานข้อเท็จจริง ไม่สร้างความหวาดระแวงหรือความกังวลในสังคม พร้อมเชิญชวนสื่อมวลชนวิชาชีพร่วมกับหน่วยประชาสัมพันธ์ภาครัฐแสวงหาพื้นที่กลาง (Common Ground) เพื่อออกแบบการทำงานร่วมกัน เพื่อประโยชน์สูงสุดสำหรับประชาชน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณและยินดีที่ได้มีโอกาสร่วมพูดคุยกับผู้แทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อซึ่งเป็นช่องทางสื่อสารที่ดีที่สุด ในการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกันในวันนี้ และจะสื่อสารไปยังนายกรัฐมนตรีด้วย โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังยืนยันข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 27 และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 29 ที่ออกมาเป็นเพียงการปิดช่องว่างของกฎหมายที่มีอยู่ปัจจุบัน ซึ่งมีข้อจำกัดในการบังคับใช้ 

เช่น จำเป็นต้องมีผู้ฟ้องร้องดำเนินคดี เป็นต้น ซึ่งรัฐบาลมีเจตนารมณ์เพียงยกระดับการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสกัดกั้นการเผยแพร่ข่าวปลอมรวมทั้งการกระทำที่เป็นการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารด้วยความตั้งใจ ซึ่งไม่ได้เจาะจงหรือตั้งใจบังคับใช้กับสื่อมวลชนวิชาชีพ แต่เป็นที่รับทราบโดยทั่วไปว่ามีการสื่อสารสาธารณะผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ซึ่งนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ไม่ได้นำมาจากข้อเท็จจริง ซึ่งไม่สามารถควบคุมและมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้สังคม ประชาชนเกิดความหวาดระแวงหรือความหวาดกลัว โดยเฉพาะวิกฤตโควิด-19 ในขณะนี้ 

ซึ่งหลายประเทศก็พบปัญหาการเผยแพร่ข้อความเท็จ/ข่าวปลอม จำนวนมากขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีให้นโยบายแก่หน่วยที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมาย ต้องระมัดระวัง เป็นธรรม และสอดคล้องกับสถานการณ์

“ยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีเจตนาปิดกั้นการทำงานของสื่อมวลชนวิชาชีพ พร้อมเชิญชวนสื่อมวลชนและองค์การสื่อวิชาชีพ ร่วมกับภาครัฐในการแสวงหาพื้นที่กลาง (Common Ground) เพื่อร่วมกันออกแบบกรอบการทำงานและเป็นช่องทางประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานประชาสัมพันธ์ภาครัฐและสื่อมวลชน รวมทั้งยังได้เพิ่มเติมให้มีการใช้ช่องทางโฆษกกระทรวง ซึ่งมีภาระหน้าที่ สื่อสารให้ข้อมูล อำนวยความสะดวกเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการติดต่อประสานข้อมูล โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังกล่าวแสดงความยินดีว่า วันนี้สื่อมวลชนและรัฐบาลเห็นพ้องร่วมกัน มีความจำเป็นต้องสกัดกั้นข่าวปลอม เพราะข้อมูลที่ถูกต้องคือประโยชน์ของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง”