รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
สถานการณ์ทั่วโลก 4 สิงหาคม 2564 ทะลุ 200 ล้านคน ในขณะที่ไทยเรามีจำนวนผู้ป่วยรุนแรงและวิกฤติแซงเม็กซิโก ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 6 ของโลกแล้ว รองจากอเมริกา อินเดีย บราซิล โคลอมเบีย และอิหร่าน...
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 588,153 คน รวมแล้วตอนนี้ 200,197,883 คน ตายเพิ่มอีก 9,319 คน ยอดตายรวม 4,257,833 คน
5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุดคือ อเมริกา อินเดีย อิหร่าน อินโดนีเซีย และบราซิล
อเมริกา เกิน 36 ล้านคนแล้ว เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 93,449 คน รวม 36,027,707 คน ตายเพิ่ม 473 คน ยอดเสียชีวิตรวม 630,452 คน อัตราตาย 1.7%
อินเดีย ติดเพิ่ม 42,566 คน รวม 31,767,965 คน ตายเพิ่ม 561 คน ยอดเสียชีวิตรวม 425,789 คน อัตราตาย 1.3%
บราซิล ติดเพิ่ม 32,316 คน รวม 19,985,817 คน ตายเพิ่ม 1,073 คน ยอดเสียชีวิตรวม 558,432 คน อัตราตาย 2.8%
รัสเซีย ติดเพิ่ม 22,010 คน รวม 6,334,195 คน ตายเพิ่ม 788 คน ยอดเสียชีวิตรวม 160,925 คน อัตราตาย 2.5%
ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 26,829 คน ยอดรวม 6,178,632 คน ตายเพิ่ม 57 คน ยอดเสียชีวิตรวม 111,993 คน อัตราตาย 1.8%
อันดับ 6-10 เป็น สหราชอาณาจักร ตุรกี อาร์เจนติน่า โคลอมเบีย และสเปน ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น
แถบอเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกา เอเชีย หลายต่อหลายประเทศติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น
หากรวมทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ พบว่ามีสัดส่วนสูงขึ้นถึงร้อยละ 85 ของจำนวนติดเชื้อใหม่ทั้งหมดต่อวัน
เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ เมียนมาร์ เวียดนาม ล้วนติดหลักพันอย่างต่อเนื่อง
แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลักร้อยถึงหลักพัน
แถบตะวันออกกลางส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน ยกเว้นอิหร่านและอิรักติดกันหลักหมื่น ทั้งนี้อิหร่านมีจำนวนติดเชื้อใหม่ต่อวันทำลายสถิติเดิม สูงถึง 39,019 คน
กัมพูชา ลาว สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน และไต้หวัน ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ฮ่องกงติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ
วิเคราะห์สถานการณ์ทั่วโลก จากข้อมูล WHO วันที่ 3 สิงหาคม 2564
สายพันธุ์เดลตากำลังนำไปสู่ระบาดรุนแรงทั่วโลก ตอนนี้กระจายไปแล้ว 135 ประเทศ
ถือว่าระลอกล่าสุดนี้กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นชัดเจน
ในขณะที่สายพันธุ์อัลฟา (B.1.1.7, สหราชอาณาจักร) ตรวจพบได้แล้วใน 182 ประเทศ สายพันธุ์เบต้า (B.1.351, แอฟริกาใต้) 132 ประเทศ และสายพันธุ์แกมม่า (P.1, บราซิล) 81 ประเทศ
ดังที่เคยนำเสนอไปแล้วว่า เดลต้านั้นมีสมรรถนะในการแพร่สูงกว่าสายพันธุ์อื่นในกลุ่ม variants of concern ประมาณ 55% (43%-68%) และรุนแรงขึ้น เสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้น
ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตานั้นมีปริมาณไวรัสที่ตรวจพบมากกว่าผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิมสมัยปี 2020 ถึง 1,260 เท่า
ซึ่งแปลว่าสายพันธุ์เดลตานั้นมีอัตราการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนในร่างกายผู้ติดเชื้อเร็วมาก จึงเป็นสาเหตุทำให้ไวรัสเยอะ และทำให้แพร่ได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก
นอกจากนี้ยังพบว่าสามารถตรวจพบไวรัสได้เฉลี่ย 4 วันหลังจากที่สัมผัสเชื้อมา ซึ่งเป็นเวลาที่สั้นกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมที่มีค่าเฉลี่ยราว 6 วัน
จึงถือว่าเป็นศึกหนักของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่จะต้องป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตานี้ให้ได้
สำหรับไทยเรานั้น สถานการณ์ระบาดยังคงรุนแรง กระจายไปทั่ว และยังไม่สามารถตัดวงจรการระบาดได้
ส่วนตัวแล้วไม่คิดว่าการซื้อขายอาหารหน้าร้านจะเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญในการแพร่ระบาดในปัจจุบัน ขอเพียงให้เว้นระยะห่างกัน ระหว่างรออาหาร ใส่หน้ากากเสมอ และล้างมือหรือใช้สเปรย์แอลกอฮอล์หลังจากจับต้องสิ่งของหรือเงิน ก็เพียงพอ
แต่การห้ามนั่งกินดื่มในร้านอาหาร ผับ บาร์ นั้นเป็นที่เข้าใจได้และสมเหตุสมผลในยามระบาดรุนแรงเช่นนี้ เพราะมีหลักฐานวิชาการชัดเจนว่ามีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อติดเชื้อ
ควรทุ่มสรรพกำลังไปกับการตะลุยตรวจคัดกรองโรคให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทั้งแบบตั้งรับ และเชิงรุก อย่างต่อเนื่อง โดยควรทำให้มากกว่าที่เคยมี และให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย มีระบบรายงานผลที่เก็บได้ครบถ้วน ไม่หลุด และนำส่งผู้ที่ติดเชื้อไปเข้ารับการดูแลรักษา
การหยุดนิ่ง ตะลุยตรวจ นำส่งเข้าระบบการดูแลรักษา ไม่เปิดรับความเสี่ยงเพิ่ม และเร่งจัดหาวัคซีนประสิทธิภาพสูงมาใช้เป็นวัคซีนหลัก คือ หัวใจสำคัญในการต่อสู้กับสถานการณ์ระบาดรุนแรงเช่นนี้ โดยจำเป็นต้องวางแผนเยียวยา ประคับประคอง ให้ประชาชนสามารถพอดำรงชีวิตได้
แต่หากทำมาตรการที่ไม่เข้มข้นเพียงพอ จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ศึกสงครามจะยืดยาว และประชาชนจะยืนระยะไม่ไหว
สำหรับประชาชนอย่างพวกเราทุกคน ขอให้ป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัด มุ่งเป้าให้ตนเองและครอบครัวไม่ติดเชื้อ ใส่หน้ากากสองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้าสำคัญมาก
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวมตัวเลขสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19)ในประเทศไทยวันที่ 4 สิงหาคม 64 จากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า
ติดเชื้อเพิ่ม 20,200 ราย
ติดเชื้อในระบบ 16,284 ราย
ติดจากตรวจเชิงรุก 3708 ราย
ติดในสถานกักตัว 21 ราย
ติดในเรือนจำ 187 ราย
สะสมระลอกที่สาม 643,522 ราย
สะสมทั้งหมด 672,385 ราย
ติดเชื้อเข้าข่าย/ATK 522 ราย
สะสม 6357 ราย
รักษาตัวอยู่ 211,076 ราย
โรงพยาบาลหลัก 71,946 ราย
โรงพยาบาลสนาม 139,130 ราย
อาการหนัก 4910 ราย
ใช้เครื่องช่วยหายใจ 1035 ราย
หายป่วยกลับบ้าน 17,975 ราย
สะสม 456,025 ราย
เสียชีวิต 188 ราย
สะสมระลอกที่สาม 5410 ราย
สะสมทั้งหมด 5503 ราย
ฉีดวัคซีนสะสม 18.185 ล้านเข็ม
เข็มที่หนึ่ง 13.999 ล้านเข็ม
เข็มที่สอง 4.185 ล้านเข็ม
ฉีดวัคซีนเพิ่ม 312,189 เข็ม