การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาที่กลายเป็นสายพันธุ์หลักของโลกในเวลานี้ ทำให้หลายประเทศต้องกลับมาเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนโดยเฉพาะเข็ม 3 บูสเตอร์ ขณะที่หลายประเทศรวมถึงไทยยังได้รับวัคซีนเข็ม 1 ในสัดส่วนที่ต่ำเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรที่มี
ทำให้การสร้างภูมิต้านทานหมู่ยังเป็นไปได้ยาก ความรุนแรงของไวรัสกลายพันธุ์ รัฐบาลจึงต้องเตรียมพร้อมและเร่งจัดหาวัคซีนให้ได้มากที่สุด
ในที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. ที่มีขึ้นในวันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
รวมถึงนพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ประธานคณะกรรมการจัดสรรวัคซีน เข้าร่วมประชุมผ่านวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ซึ่งนายกฯ กล่าวก่อนเริ่มประชุมว่า ไทยเตรียมรับวัคซีนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะวัคซีนสปุตนิก วี ให้เร่งดำเนินการเรื่องเอกสารจากบริษัทนำเข้า ขณะที่คณะแพทย์จะเจรจาสั่งซื้อเพื่อนำมาฉีดให้แพทย์และบุคลากรด่านหน้า
นอกจากนี้นายกฯ ยังมอบหมายให้ทีมที่ปรึกษาและคณะทำงานรวมทั้งภาคเอกชนร่วมกันจัดหาวัคซีนเป็นกรณีพิเศษจำนวน 20-25 ล้านโดส ทั้งวัคซีนสปุตนิก วี และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (J&J) โดยไม่ผ่าน 3 หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข คือ กรมควบคุมโรค สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และองค์การเภสัชกรรม ในการนำเข้าวัคซีนภายในไตรมาส 3 นี้ เพื่อให้ประชาชนได้ฉีดวัคซีนไวที่สุด
ผู้บริหารระดับสูงโรงพยาบาลเอกชนรายหนึ่ง กล่าวแสดงความคิดเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การที่นายกฯ สั่งนำเข้าวัคซีนต่างๆ เพิ่มขึ้นถือว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและได้รับการฉีดวัคซีนมากขึ้น อีกทั้งการไม่ผ่านกระทรวงสาธารณสุขจะช่วยลดขั้นตอนต่างๆ
ทำให้สามารถนำเข้าได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน หรือไฟเซอร์ ส่วนสปุตนิก วี ซึ่งนำเข้าโดยบริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด และยื่นขอขึ้นทะเบียนไปแล้ว คาดว่าจะผ่านการขึ้นทะเบียนในเร็วๆนี้
“ที่ผ่านมาเราก็เห็นว่า การต้องผ่านหน่วยงานของรัฐในการสั่งซื้อ หรือติดต่อดำเนินการหลายขั้นตอน จึงล่าช้า ทั้งๆที่วัคซีนที่ต้องเร่งฉีดให้กับประชาชนถือเป็นภาวะฉุกเฉิน บางขึ้นจึงจำเป็นต้องลดขั้นตอนและเร่งดำเนินการให้รวดเร็ว อีกทั้งวัคซีนกำลังเป็นที่ต้องการของคนทั่วโลก การสั่งซื้อก็ต้องใช้เวลานาน ขณะที่หลายประเทศเริ่มฉีดตั้งแต่ปลายปีก่อน แต่ประเทศไทยเพิ่งเริ่มฉีดได้ไม่นาน”
ส่วนการจัดสรรวัคซีนทางเลือก “โมเดอร์นา” ที่โรงพยาบาลเอกชนเปิดให้ลูกค้าสั่งจองและชำระเงินมาแล้วนั้น หลังจากได้รับการจัดสรรตามโควตาที่องค์การเภสัชกรรมสั่งนำเข้ามาจำนวน 3.9 ล้านโดส ทำให้มีลูกค้าที่สั่งจองไว้ 9.23 ล้านโดส มีกว่า 50% ที่จะไม่ได้รับการฉีดวัคซีนนั้น หลายโรงพยาบาลเริ่มทยอยแจ้งลูกค้าให้ติดต่อรับเงินค่ามัดจำคืน
ขณะที่หลายโรงพยาบาลยังอยู่ระหว่างการจัดสรรและลำดับการชำระเงินค่ามัดจำ คาดว่าจะทยอยแจ้งยืนยันผู้ได้รับสิทธิ์ในการฉีดวัคซีนทั้งหมดภายในเดือนสิงหาคมนี้ และทุกโรงพยาบาลเอกชนจะได้รับวัคซีนในไตรมาส 4 ตามที่องค์การเภสัชกรรมระบุไว้
ขณะที่ความคืบหน้าการนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์ ของนายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ผู้บริหารเครือโรงพยาบาลธนบุรี ซึ่งมีกระแสข่าวก่อนหน้านี้ว่า จับมือกับหน่วยงานภาครัฐนำเข้ามาจำนวน 20 ล้านโดสภายในเดือนก.ค. 2564 ก่อนที่จะเลื่อนมาเป็นเดือนสิงหาคม เนื่องจากติดปัญหาขั้นตอนการสั่งซื้อ การเซ็นสัญญา การตรวจสอบเอกสาร รวมถึงการขนส่งต่างๆ นั้น
ล่าสุดพล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ได้แถลงข่าวปฏิเสธกรณีมีการให้ข่าวจากภาคเอกชนว่า จะมีการลงนามในสัญญาร่วมกับกระทรวงกลาโหม เพื่อนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์ โดยยืนยันว่าขณะนี้กระทรวงกลาโหมและหน่วยงานในสังกัด
ยังไม่มีแผนหรือความตกลงร่วมมือกับหน่วยงานภาคเอกชนใดๆ ในการสั่งซื้อหรือนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์ และที่ผ่านมากระทรวงไม่เคยติดต่อกับบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัดในเรื่องดังกล่าวด้วย...