สธ.ยัน ข่าววัคซีนไฟเซอร์จากสหรัฐถูกส่งไป “บุรีรัมย์” เป็นข่าวปลอม

04 ส.ค. 2564 | 05:50 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ส.ค. 2564 | 17:17 น.

กรมควบคุมโรคยืนยันข่าววัคซีนไฟเซอร์ที่สหรัฐบริจาคถูกจัดสรรไปบุรีรัมย์นั้นเป็น “ข่าวปลอม” (fake news) ตอนนี้วัคซีนทั้งหมดยังไม่ได้ถูกส่งไปไหนเพราะอยู่ในขั้นตอนทำระบบตรวจสอบย้อนหลัง จะเริ่มส่ง 5 ส.ค.นี้ ไปยัง 5 กลุ่มเป้าหมายซึ่งไม่มีบุรีรัมย์

4 ส.ค. 2564  ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ตรวจสอบกรณีมีข่าวทางสื่อออนไลน์ว่า มี การจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ส่วนหนึ่งของที่ได้รับบริจาคจากสหรัฐมา 1.5 ล้านโดส ไปยัง จังหวัดบุรีรัมย์ ทั้งที่ไม่ใช่พื้นที่ระบาดหลัก พบว่า เป็น ข่าวปลอม หรือ เฟคนิวส์ (fake news)

 

จากกรณีที่มีเว็บไซต์ข่าวแห่งหนึ่งรายงานว่า วัคซีนไฟเซอร์ ที่ได้รับบริจาคจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา จำนวน 1.5 ล้านโดส มีบางส่วนถูกส่งไปยังจังหวัดบุรีรัมย์ ทั้งที่ไม่ใช่พื้นที่ระบาดหนักนั้น ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้ตรวจสอบแล้วกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และได้รับการยืนยันว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง

วัคซีนไฟเซอร์ล็อตแรกจากสหรัฐ 1.5 ล้านโดส

ขณะนี้วัคซีนไฟเซอร์ทั้งหมดยังอยู่ในขั้นตอนของการจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งจะเริ่มส่งได้ในวันที่ 5 สิงหาคมนี้ และยังคงอยู่ในระหว่างการจัดสรรให้ 5 กลุ่มเป้าหมายตามมติที่ประชุม ซึ่งในนั้นไม่มีจังหวัดบุรีรัมย์

 

สำหรับ แนวทางการบริหารจัดการวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสดังกล่าว จะเป็นดังนี้คือ

  •  7 แสนโดส ใช้เพื่อฉีดกระตุ้นเป็นเข็ม 3 ให้บุคลากรทางการแพทย์
  •  645,000 โดส เพื่อกลุ่มเสี่ยง (ผู้สูงอายุ, ผู้ป่วย 7 โรคและสตรีมีครรภ์) โดยจะเป็นคนไทย 608 คนใน 13 จังหวัด
  •  1.5 แสนโดส เพื่อกลุ่มเสี่ยงที่เป็นชาวต่างชาติ 607 คน รวมถึงผู้ที่ต้องได้รับวัคซีนก่อนไปต่างประเทศ เช่นนักเรียน นักศึกษา
  • 5,000 โดส เพื่อศึกษาวิจัยและตอบโต้การระบาด

ทั้งนี้ การบริหารจัดการวัคซีนจะปรับตามสถานการณ์การระบาด  ดังนั้น ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวปลอม และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย และวิธีการป้องกันตนเอง สามารถติดตามข้อมูลของทางการได้ที่เว็บไซต์ www.ddc.moph.go.th หรือโทร. 1422