นาง รสนา โตสิตระกูล เลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทย กล่าวถึง สถานการณ์การติดเชื้อโควิด19 ในพื้นที่ กทม. และแนวทางจัดการเชิงรุก ที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ หลังจำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้น แต่ระบบสาธารณสุขยังอลม่าน โดยมีกำลังหลัก คือ ทีมแพทย์ชนบทเท่านั้น ว่า .... รัฐบาลและกทม.อย่าปล่อยให้กองกำลังสาธารณสุขบางระจันอาสากู้กรุงพ้นภัยโควิดอย่างโดดเดี่ยว
4 ส.ค 2564 เป็นวันแรกของการยกทัพเข้ากรุงครั้งที่ 3 ของทีมสาธารณสุขจิตอาสา จากหัวเมืองต่างๆราว 40 ทีม ภายใต้การนำของมูลนิธิแพทย์ชนบท ที่รวมกำลังเข้ากรุง เพื่อตรวจโควิดเชิงรุก ให้กับประชาชนทั่วกรุงเทพและปริมณฑล ดิฉันมีโอกาสนำฟ้าทะลายโจร เข้าไปร่วมสมทบ ให้กับทีมมูลนิธิแพทย์ชนบท ที่วัดหนังราชวรวิหาร ซึ่ง มีนพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา นำทีมแพทย์พยาบาลและเทคนิคการแพทย์ 36 คนมาให้บริการการตรวจเชื้อแก่ประชาชนในชุมชนแถบฝั่งธน
มีทีมงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและมูลนิธิสุขภาพไทยมาร่วมเป็นทีมอาสาสมัคร ทีมเทคนิคการแพทย์ตรวจเชื้อเชิงรุกด้วยRapid Antigen Test Kit ก่อน โดยคนที่มีผลเป็นลบ ให้กลับบ้านได้ ส่วนผู้ที่มีผลบวกให้รอตรวจ RT-PCR ต่อเลยเพื่อเข้าสู่ระบบ Home Isolation (HI) สำหรับผู้มีผลเป็นบวก จะได้รับฟ้าทะลายโจร หรือฟาวิพิราเวียร์ ตามอาการที่มีมากน้อยจากการวินิจฉัย และเชื้อจากการสวอปเพื่อตรวจ RT- PCR ของทุกทีม จะถูกรวบรวมส่งไปตรวจที่แล็ป ของรพ.มหาราชนครราชสีมา วันละ 3 รอบ ซึ่งจะได้ผลภายในวันเดียว และผู้ติดเชื้อสามารถเข้าไปดูผลได้ทางมือถือในวันรุ่งขึ้น
นพ.เกรียงศักดิ์ให้ความเห็นว่า กรุงเทพฯคือต้นเพลิง ที่ไฟกำลังลุกลามไปถึงทุกจังหวัด จึงต้องมาช่วยดับไฟโควิดที่กรุงเทพฯเพื่อปลุกเจ้าของพื้นที่ให้ลุกตื่นขึ้นมาจัดการดับไฟให้เร็วที่สุด สภาพความอลหม่านของระบบ home isolation และcommunity isolation ที่ไม่ได้มีการจัดระบบรองรับไว้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง ทำให้พบคนติดเชื้อ แต่ไม่มีที่รองรับเต็มไปหมด คนส่วนใหญ่จึงต้องตะเกียกตะกายช่วยเหลือตัวเอง โดยไร้ระบบรองรับของรัฐ
รัฐบาลและกทม.ควรบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินนี้อย่างมีทิศทางที่ชัดเจน
1)การตรวจเชิงรุกเพื่อแยกคนติดเชื้อออกจากคนไม่ติดเชื้อซึ่งหากปล่อยให้เนิ่นนานออกไป การระบาดจะยิ่งขยายวงกว้าง จนเอาไม่อยู่
2)ต้องเตรียมสถานที่ เช่น ศูนย์พักคอยไว้รองรับกรณีผู้รับการตรวจ Rapid Test แล้วพบผลบวก ระหว่างรอยืนยันผลตรวจ RT- PCR เพื่อแยกคนกลุ่มนี้ออกจากคนไม่ติดเชื้อ
3)เตรียม community isolation ให้มากพอที่จะรองรับผู้ป่วยติดเชื้อที่ยังเป็นสีเขียว โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลส่งข้าว ส่งน้ำให้ผู้ป่วยที่ถูกกักตัว
4)ควรกำหนดมาตรฐานการดูแล home isolation และ community isolation โดยมีรพ.เป็นเจ้าของไข้ทุกราย เพื่อบำบัดรักษาผู้ป่วยสีเขียวให้เป็นสีขาวที่บ้านและชุมชนให้มากที่สุด และมีการมอนิเตอร์ว่าถ้าคนไข้สีเขียวบางรายขยับเป็นเหลืองเป็นแดง ต้องมีเตียงรพ.รองรับในการให้การดูแลรักษา ซึ่งน่าจะมีจำนวนเตียงเพียงพอสำหรับผู้ป่วยสีแดง เพราะผู้ป่วยสีเขียวส่วนใหญ่มีระบบการรักษาอยู่ที่บ้านและชุมชน โดยภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยโควิด รพ.สามารถเบิกจ่ายได้จากสปสช.
5)ควรดูแลคนไข้สีเขียวซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 70-80% อย่าให้กลายเป็นคนไข้สีเหลืองและสีแดง ที่เป็นภาระให้กับระบบสาธารณสุขที่มีทรัพยากรจำกัด จึงควรให้ยาฟ้าทะลายโจรกับคนไข้กลุ่มสีเขียวให้เพียงพอเพื่อไม่ให้อาการทรุดหนักมาเป็นกลุ่มสีเหลือง สีแดง
6)ขอความร่วมมือจากรพ.ทั้งหลายในกทม.ทั้งรัฐ และเอกชน ให้เพิ่มศักยภาพในการรับดูแลคนไข้สีเหลือง สีแดง ให้ได้ถึง20%ของผู้ติดเชื้อ ในขณะเดียวกันต้องใส่ใจดูแลคนไข้สีเขียวให้หายป่วยโดยเร็ว ไม่ให้อาการทรุดหนักเป็นสีเหลืองสีแดง
7)รัฐบาลควรสนับสนุนสรรพกำลังของภาคประชาสังคม ภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ เพราะเป็นวิกฤตที่ทุกคนได้รับผลกระทบ หากหยุดการระบาดได้เร็วเท่าไหร่ การกลับมาใช้ชีวิตตามปกติก็มีโอกาสเร็วขึ้นเท่านั้น
อย่าปล่อยให้กองทัพหมอชนบทเป็นแค่กองกำลังสาธารณสุขบางระจัน ที่เข้ามาสู้ศึกโควิดในกรุงอย่างโดดเดี่ยว โดยฝ่ายบริหารเฉื่อยชาไม่ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ จนพ่ายสงครามโควิดกันทั้งประเทศ