เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 64 นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พลอากาศตรี นายแพทย์สันติ ศรีเสริมโภค รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จากทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมด้วย คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท เมดิกา อินโนวา จำกัด แถลงข่าวและชี้แจงข้อมูล การพัฒนาและคิดค้นสูตรตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ สำหรับผลิตในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ต้านเชื้อไวรัสสำหรับเด็ก และผู้ป่วยที่มีความลำบากในการกลืนยาเม็ด ตำรับแรกในประเทศไทย ผ่านระบบออนไลน์
นายแพทย์นิธิ กล่าวว่า ขณะนี้การระบาดของโควิดมากขึ้นอย่างชัดเจน เห็นชัดว่าผู้ติดเชื้อเป็นเด็กเพิ่มสูงขึ้น สามารถแพร่เชื้อสู่คนในครอบครัวต่อได้ ขณะที่การฉีดวัคซีนในเด็กยังไม่ได้มีการใช้อย่างกว้างขวาง ดังนั้นการได้รับยารักษาเร็วจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยอาการหนัก เข้ารพ. และเสียชีวิตได้ และช่วยภาวะที่เตียงในรพ.ต่างๆ ค่อยข้างตึงมาก โดยสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเป็นห่วงประชาชนมาตลอด โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ใช้ยาลำบาก
ราชวิชัยจุฬาภรณ์ จึงหารือร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัทเมดิกา อินโนวา จำกัด พัฒนายาในรพ. โดยทำยาฟาวิพิราเวียร์ชนิดน้ำเชื่อมสำหรับเด็กที่กลืนยาเม็ดไม่ได้ หรือเพื่อให้ผู้ใหญ่ที่มีปัญหากลืนยา ซึ่งยาดังกล่าวต้องใช้ตามแพทย์สั่งเท่านั้น และมีการติดตามอาการอย่างใกล้ชิด อายุการใช้งาน 30 วัน ไม่ให้โดยแสงแดด และไม่ควรเก็บในตู้เย็นเพราะจะทำให้ยาตกตะกอน โดยยินดีให้สถานพยาบาลอื่นๆ ผลิตยาดังกล่าวด้วย
สอดคล้องกับพญ.ครองขวัญ เนียมสอน กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางเดินหายใจในเด็ก กล่าวว่า ในเดือน.ก.ค.พบเด็กติดโควิดเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า สายพันธุ์กลายพันธุ์ ทำให้เชื้อลงปอดมากขึ้น พบเด็กมีเชื้อลงปอดเพิ่มจาก 50% เป็น 80-90% แต่อาการเบากว่าผู้ใหญ่ เด็กที่ปอดติดเชื้อยังมีสุขภาวะที่ดี ไม่ต้องการออกซิเจน ยังคงออกซิเจนสูง 95-96 % เป็นส่วนใหญ่ สำหรับอาการโรคโควิดในเด็กจะมีไข้ หรือผื่นตามใบหน้า หรือลำตัว อาจมีอาการนอกเหนือจากนี้ เช่น ทางเดินอาหาร เบื่ออาหารคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่ ถ่ายเหลวได้ อาการนี้อาจนำมาร่วมกับการสัมผัสผู้ป่วย อาการเหล่านี้ได้ภายใน 1-3 วัน จึงอาจต้องมีการตรวจ ส่วนอาการอาจอยู่นานประมาณ 1-2 สัปดาห์ในเด็กไม่มีโรคประจำตัว
“จากการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์น้ำเชื่อมในคนไข้เด็กอายุ 8 เดือน ถึง 5 ปี จำนวน 12 ใน รพ.จุฬาภรณ์ พบว่า ตอบสนองต่อการรักษาดี ไม่พบผลข้างเคียงร้ายแรง กินยาได้ดี อัตราส่วนที่ต้องใช้ยาน้ำจริง คือ 1 ใน 3 ในเด็กที่วิกฤติ ต้องมีการรวบรวมตัวเลขอีกครั้ง”
พล.อ.ต.นพ.สันติ ศรีเสริมโภค รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า การให้ยาผู้ป่วยในรพ.จุฬาภรณ์ จะใช้ตามขอบ่งชี้ในเด็ก และผู้ป่วยสูงอายุ กินอาหารทางสาย ที่มีการตรวจแอนติเจนเทสต์ แล้วผลเป็นบวก สามารถให้ยาเลย แล้วจึงมาตรวจยืนยันด้วย RT-PCR คนไข้รพ.อื่น สามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ https://favipiravir.cra.ac.th ไม่เสียค่าใช้จ่าย เริ่ม 6 ส.ค.นี้ ระยะแรกให้บริการได้ 100 รายต่อสัปดาห์ เฉลี่ย 20 รายต่อวัน จะได้รับยาหลังลงทะเบียนแล้ว 1 วัน จัดยาไม่เกินเวลา 20.00 น. ส่วนค่าใช้จ่ายในการจัดส่งอาจจะต้องรับผิดชอบเอง