วันนี้ (5 ส.ค.64) เวลา 12.30 น. ณ โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล แพทย์หญิง อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. ได้เน้นย้ำให้ประชาชนเลือกชนิดของชุดตรวจ Rapid test ให้ถูกต้อง ซึ่งต้องเป็นแบบ ATK : Antigen Test Kit โดยชุดตรวจดังกล่าวจะเป็นแบบเก็บตัวอย่างจากโพรงจมูก และต้องได้มาตรฐานตามที่ อย. รับรอง ซึ่งล่าสุดผ่านการรับรองจาก อย. แล้ว 17 ยี่ห้อ
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนดูคลิปวีดีโอสาธิตได้ที่ https://www.facebook.com/DMScNews/posts/4881253035235146 จัดทำโดย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อเป็นแนวทางในการเก็บตัวอย่างที่ถูกต้อง นอกจากนี้ภาครัฐยังมีการอบรมและสาธิตการใช้ ATK ในสถานประกอบการด้วย
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงกลุ่มที่ต้องตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วย Antigen Test Kit (ATK) ดังนี้
1. กลุ่มผู้ป่วยที่มีไข้วัดที่ 37.3 องศาเซลเซียส อาจมีอาการทางระบบทางเดินหายใจโดยกรมควบคุมโรคเน้นย้ำกลุ่มนี้เรียกว่า PUI ขอให้ตรวจทุกราย เนื่องจากกทม. พบว่า บางช่วงที่มีการรายงาน ผลบวกของกลุ่มนี้มีมากถึง 25%
2. กลุ่มที่ไม่มีอาการแต่มีประวัติใกล้ชิดสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน ถือเป็น High risk person จำเป็นต้องตรวจ
3. กลุ่มที่มีประวัติเดินทางจากพื้นที่เสี่ยง
4. กลุ่มที่มีอาชีพหรือกิจกรรมเสี่ยง
ทั้งนี้ เนื่องจากการรายงานอัตราผู้เสียชีวิต พบว่า มีมากถึงกว่า 50% ของผู้เสียชีวิต ที่เสียชีวิตภายหลังทราบผลการตรวจน้อยกว่า 6 วัน สะท้อนให้เห็นว่าบางครั้งคนไข้อาจไม่ได้ตระหนักว่าติดเชื้อ จนอาการรุนแรงแล้ว ซึ่งทำให้การช่วยเหลือเป็นไปได้ลำบาก โดยเฉพาะบางรายไม่มีอาการ หรืออาการไม่ชัด แต่ก็อาจติดเชื้อได้
สิ่งสำคัญ คือ หากผลตรวจเป็นลบ ให้ตระหนักว่าอาจเป็นลบลวงได้ โดยมีรายงานว่าถ้าการตรวจ ATK เป็นลบ แต่ไปตรวจ PCR อาจเป็นบวก พบมากถึง 13% ดังนั้นถ้าเป็นลบ ขอให้กักตัวและตรวจซ้ำภายในระยะเวลา 2-3 วัน พร้อมทั้งสังเกตอาการ เนื่องจากในช่วงแรกเชื้ออาจยังน้อย การตรวจ ATK อาจจะไม่ไวพอ อย่างไรก็ตาม ดีกว่าการที่จะเลี่ยงไม่ตรวจ โดยสิ่งสำคัญคือหากได้ผลตรวจที่ชัดเจนแล้วก็จะได้เข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ยังเน้นย้ำว่า เมื่อผลเป็นบวกอย่าเพิ่งตื่นตระหนก ขอให้ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบอยู่ที่บ้านก่อน หรือกรณีที่ตรวจที่โรงพยาบาลให้โทรแจ้งกับโรงพยาบาลนั้น กรณีตรวจจากที่อื่นๆ ให้โทร 1330 เบอร์เดียวเท่านั้น หรือสแกน QR Code สบายดีบอต Line official account ได้ ทั้งนี้ เบอร์ 1330 จะเป็นเบอร์หลักในการจัดการดูแลผู้ป่วยเข้าระบบ
ส่วนเบอร์ 1668 เดิมกรมการแพทย์ให้มีไว้เป็นสายด่วนโรคหัวใจฉุกเฉิน และเบอร์ 1669 ตอนนี้ขอสงวนไว้เป็นสายด่วนช่วยชีวิต เพื่อที่จะลดความหนาแน่นที่พี่น้องประชาชนจะโทรเข้าไป จึงขอให้โทร 1330 เพื่อให้ผู้ป่วยสีแดงได้ใช้เบอร์ 1669 สายด่วนช่วยชีวิตและเข้าถึงบริการโดยเร็ว
แนะเข้า เว็บไซต์ Koncovid.com ค้นหาสถานที่ตรวจหาเชื้อโควิด-19
พญ.อภิสมัย กล่าวถึง กรณีที่ประชาชนมีความต้องการจะไปตรวจ Rapid Antigen Test ที่สถานพยาบาลต่างๆ นั้น ทางศบค.ได้ร่วมกับ Tech For Thailand รวบรวมสถานที่ตรวจโควิด-19 ที่ยังให้บริการ โดยสามารถเข้าเว็บไซต์ Koncovid.com เพื่อเข้าไปค้นหาสถานที่ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทั่วประเทศไทยหรือในกรุงเทพฯ โดยหากจะไปตรวจในสถานที่ใกล้บ้าน ให้พิมพ์รหัสไปรษณีย์ ก็จะปรากฏสถานที่ตรวจ หรือกดไปที่จุดสีแต่ละจุดในแผนที่ก็จะแสดงข้อมูลของจุดตรวจ เช่น สีแดงในบางแห่งอาจเป็นศูนย์หรือแล็บงานวิจัยที่ไม่ได้เปิดให้ประชาชนเข้าไปตรวจได้ ส่วนสีเขียวเป็นโรงพยาบาลของภาครัฐ เป็นต้น
กระจายแล้ววัคซีนไฟเซอร์ ฉีดกระตุ้นเข็ม 3 บุคลากรทางการแพทย์
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ที่จะฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์เข็ม 3 ได้มีการจัดส่งให้โรงพยาบาลต่างๆแล้ว ซึ่งในกรุงเทพฯประกอบด้วย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาการุณย์ โรงพยาบาลราชวิถี สถาบันบำราศนราดูร และในส่วนโรงพยาบาลต่างจังหวัดจะส่งไปที่โรงพยาบาลพุทธโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา โรงพยาบาลนครนายก โรงพยาบาลสระบุรี และโรงพยาบาลระยอง
ส่วนกลุ่มนักเรียนไทยที่จำเป็นจะต้องเดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ และเข้าข่ายที่ต้องฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ต้องมีการสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อลงทะเบียน โดยจะมีอีเมล์ยืนยันการเข้ารับฉีดวัคซีน จากนั้นจะมีการยืนยันนัดหมายโดยส่งเป็นเอสเอ็มเอสกลับไปที่เบอร์โทรศัพท์ จึงขอให้รีบลงทะเบียนโดยด่วน