ศาล สั่งห้ามนายกใช้ พรก.คุมสื่อ ธีระชัย ถาม รัฐบาลรับผิดชอบอย่างไร?

07 ส.ค. 2564 | 05:17 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ส.ค. 2564 | 12:25 น.

ธีระชัย ชำแหละ รัฐบาลออกกฎหมาย ขัดรัฐธรรมนูญ ปม ศาลแพ่ง สั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามนายกฯใช้ พรก.ฉุกเฉิน ควบคุมสื่อ ถาม รัฐบาลต้องรับผิดชอบอย่างไร แนะจับตาฝ่ายค้านร้องศาล รธน. ถอดถอนนายก?

7 สิงหาคม 2564 - จากกรณี ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ นำโดยบริษัท รีพอร์ตเตอร์ โปรดักชั่น จํากัด กับพวกรวม 12 คน ยื่นฟ้อง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จากประเด็น การใช้อำนาจ ออกข้อกำหนด ตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) เรื่อง " มาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร อันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือ เจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั่วราชอาณาจักร" 

 

ซึ่งต่อมาภายหลัง 2 สิงหาคม ที่ผ่านมา ศาลแพ่ง มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว โดยห้ามนายกรัฐมนตรี บังคับใช้ข้อกำหนด พรก.ฉุกเฉิน ควบคุมสื่อ โดยชี้ว่าเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ อีกทั้ง ไม่มีกฎหมายให้อำนาจในการระงับอินเตอร์เน็ต โดยถือข้อกำหนดดังกล่าว ลิดรอนสิทธิเสรีภาพการทำงานของสื่อมวลชน ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ไทย พุทธศักราช 2560 ที่บัญญัติคุ้มครองไว้

คลิกอ่านข่าว : เปิดคำสั่งศาลแพ่ง "คุ้มครองชั่วคราว" ห้ามนายกฯใช้พรก.ฉุกเฉิน "ปิดปากสื่อ"

ล่าสุด นาย ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง วิพากษ์ถึงประเด็นดังกล่าว พร้อมตั้งคำถาม ในเมื่อ รัฐบาลออกกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญ จะต้องรับผิดชอบอย่างไร โดยมีใจความสำคัญดังนี้ .....

 

“รัฐบาลออกกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ?”

ถามว่า ศาลแพ่งมีคําสั่งห้ามรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ ดําเนินการบังคับใช้ข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558 (ฉบับที่ 29) เป็นการชั่วคราว รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบอย่างไร?

 

ศาลแพ่งวินิจฉัยว่า

ข้อกําหนดฯ ข้อ 1 ที่ห้ามเผยแพร่ข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว 

  • มิได้จํากัดเฉพาะข้อความอันเป็นเท็จ ดังเหตุผลและความจําเป็นตามที่ระบุไว้ในการออกข้อกําหนดดังกล่าว ย่อมเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ไทย พุทธศักราช 2560 บัญญัติคุ้มครองไว้ 
  • ทั้งยังไม่ต้องด้วยข้อกําหนดฯ ที่ระบุว่าจําเป็นต้องมีมาตรการที่กําหนดให้การใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นไปอย่างมีเหตุผล ถูกต้องตามข้อเท็จจริงตามกรอบที่รัฐธรรมนูญกําหนด
  • ทั้งข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวตามข้อกําหนดข้อดังกล่าวนั้น มีลักษณะไม่แน่ชัดและขอบเขตกว้าง ทําให้ประชาชนและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนไม่มั่นใจในการแสดงความคิดเห็นและสื่อสาร ตามเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 34 วรรคหนึ่ง และมาตรา 35 วรรคหนึ่ง บัญญัติคุ้มครองไว้ 
  • นอกจากนี้ยังเป็นการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ไม่ต้องด้วย มาตรา 26 วรรคหนึ่ง แห่งรัฐธรรมนูญฯ
  • ทั้งข้อกําหนดดังกล่าวก็ไม่ได้กําหนดหลักเกณฑ์หรือแนวทางในการ ปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ ตามความในมาตรา 9 วรรคสอง แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการใน สถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2554
  • ส่วนข้อกําหนดฯ ข้อ 2 ที่ให้อํานาจระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่เลขที่อยู่ ไอพี (IP address) ที่มีการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารในอินเทอร์เน็ตที่ฝ่าฝืนข้อกําหนดฯ 
  • ไม่ปรากฏว่ามาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2554 ให้อํานาจนายกรัฐมนตรีออกข้อกําหนดให้ดําเนินการระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ต จึงเป็นข้อกําหนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
  • อินเทอร์เน็ตมีความสําคัญต่อการดําเนินชีวิตประจําวัน โดยเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease : COVID-19) และรัฐสั่งปิดพื้นที่หรือล็อกดาวน์จํากัดการเดินทางหรือการพบปะระหว่างบุคคล
  • ทั้งข้อกําหนดข้อดังกล่าวมิได้จํากัดเฉพาะการระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตสําหรับการกระทําครั้งที่เป็นเหตุแห่งการระงับให้บริการอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่ยังระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตในอนาคตด้วย ปิดกั้นการสื่อสารของบุคคล และเป็นการปิดกั้นสุจริตชนผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารดังกล่าว ไม่ต้องด้วยมาตรา 36 วรรคหนึ่ง แห่งรัฐธรรมนูญฯ
     

การปฏิบัติที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ อาจจะมีผลหลายอย่าง

 

หนึ่ง รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๕ บัญญัติว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทําใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทํานั้นเป็นอันใช้บังคับ มิได้

สอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ บัญญัติว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

จึงน่าติดตามว่า จะมีพรรคฝ่ายค้านที่ร้องเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ถอดถอนนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่