สปสช.จ่อประสาน ‘ร้านขายยา’ เป็นหน่วยกระจายชุด ATK ให้ประชาชนตรวจโควิดตนเอง

07 ส.ค. 2564 | 08:07 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ส.ค. 2564 | 15:16 น.

“นพ.จเด็จ” เผย ต้องกระจายชุดตรวจโควิด Antigen Test Kit จำนวน 8.5 ล้านชุด ให้ถึงมือประชาชนมากที่สุด หากไม่เพียงพอพร้อมจัดซื้อเพิ่ม ระบุ สปสช. จะช่วยจัดหา ‘ฟาวิพิราเวียร์’ อีกแรง

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยในที่ประชุมชี้แจงแนวทางการจ่ายชุดตรวจโควิด Antigen Test Kit (ATK) ให้แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงสำหรับร้านยาแผนปัจจุบันประเภท 1 และ คลินิกพยาบาล เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2564 ตอนหนึ่งว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้มีมติให้ สปสช. ดำเนินการจัดหาชุดตรวจโควิด Antigen test kit (ATK) จำนวน 8.5 ล้านชุด แจกให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงสามารถตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ด้วยเอง ในช่วงเดือน ส.ค. - ก.ย. นี้


“หลังสิ้นสุดเดือน ก.ย. ก็จะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้ง หากมีความจำเป็นจะต้องซื้อเพิ่ม สปสช. ก็จะดำเนินการ” นพ.จเด็จ กล่าว


นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า คาดว่าสถานการณ์โควิด-19 ในปีงบประมาณหน้าจะยังมีความรุนแรง ฉะนั้นชุดตรวจโควิด ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด จึงเป็นประเด็นสำคัญ โจทย์คือจะทำอย่างไรให้ชุดตรวจเหล่านั้นกระจายถึงมือประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้รวดเร็วและกว้างขวางที่สุด เพื่อลดอุปสรรคในการเข้าถึงบริการของประชาชน


นอกจากนี้ สปสช. ถือโอกาสขอความร่วมมือ ชักชวนร้านขายยาเป็นหน่วยกระจายชุดตรวจโควิด ATK เนื่องจากร้านขายยาทั่วประเทศที่ขึ้นทะเบียนอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน (ขย.1) นั้นมีจำนวนมาก และน่าจะมีบุคลากรที่คอยแนะนำการตรวจให้กับประชาชนได้ ในกรณีตรวจแล้วพบว่าติดเชื้อหรือผลเป็นบวกก็จะขอความร่วมมือให้ร้านขายยาเป็นกลไกในการให้คำแนะนำในการดูแล หรือส่งต่อเข้าสู่กระบวนการรักษาด้วยวิธี Home isolation (HI)

ทั้งนี้ บอร์ด สปสช. ยังมีมติมอบให้ สปสช. จัดหายาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์เพิ่มเติม ซึ่งถ้าตามข่าวในขณะนี้จะพบว่าผู้ป่วยโควิดจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงยา ด้วยเหตุที่ว่าหน่วยบริการที่ช่วยดำเนินการอาจจะยังน้อยเกินไป หรือระบบการกระจายยายังไม่มีประสิทธิภาพ 


“อันนี้เป็นแนวคิดต่อเนื่องว่าถ้าประสบความสำเร็จ เราอาจจะขยายไปสู่การเป็นจุดกระจายยาที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยโควิด ถ้าร้านขายยาทั่วประเทศร่วมมือกันก็อาจจะขยายไปสู่การให้ยาผู้ป่วยในบางส่วนได้ หรือถ้าไกลกว่านั้นก็อาจจะขอให้ร้านขายยามาช่วยทำ Home isolation ในบทบาทที่ร้านขายยาสามารถทำได้ แต่ทั้งหมดนี้ขอเริ่มที่ชุดตรวจ ATK ก่อน” นพ.จเด็จ กล่าว 


ด้าน ผศ.รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ ผู้แทนนายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า สิ่งที่อยากจะแนะนำคือ สปสช. น่าจะต้องมีรายชื่อ เว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน ที่มีรายชื่อร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด ประกอบด้วย ชื่อร้าน สถานที่ตั้ง และเบอร์ติดต่อ ส่วนตัวคิดว่าหากมีแอปฯ จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถพูดคุยโดยตรงกับร้านขายยาเพื่อลดการเดินทางของประชาชนกลุ่มเสี่ยง 

นอกจากนี้ เมื่อผู้ป่วยได้รับชุดตรวจ ATK แล้วอาจจะต้องศึกษาวิธีการใช้ผ่านวิดีโอ หรือเอกสารกำกับการใช้งาน ซึ่งอาจจะต้องเฉพาะเจาะจงกับชุดตรวจที่ประชาชนได้ไป เนื่องจากชุดตรวจแต่ละชุดอาจจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน เมื่อผู้ป่วยตรวจเชื้อแล้วก็อาจจะแนะนำให้ส่งเป็นรูป และแจ้งผลการตรวจมาที่ร้านขายยา โดยร้านขายยาก็จะแปลผลและอธิบายเพื่อชี้แจงให้กับผู้ป่วย


อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้ป่วยมีผลเป็นบวกและสามารถเข้ารับการรักษาในระบบ Home isolation ร้านขายยาสามารถดูแลให้คำปรึกษา และติดตามอาการ ตรงนี้ก็จะเป็นบริการที่จะสามารถช่วยผู้ป่วยได้ เพราะผู้ป่วยโควิด-19 หลายรายไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อยมากซึ่งก็สามารถดูแลตัวเองได้ 


“ตอนนี้มีผู้ป่วยหลายรายที่มีผลเป็นบวก และเภสัชกรเองก็ได้มีการโทร หรือติดตามอาการผ่านไลน์เป็นระยะ ทำให้ผู้ป่วยก็จะสบายใจขึ้น และเข้าใจว่าไม่จำเป็นต้องเข้าสู่ระบบถ้ายังสามารถดูแลตัวเองได้ ในกรณีที่สะดวกจะกักตัวบ้าน” ผศ.รุ่งเพ็ชร กล่าว