โลกโซเชียลแห่แชร์ภาพ และคอมเมนต์กันสนั่นหลังปรากฎป้ายที่มีการระบุว่าข้อความว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบ “วัคซีนไฟเซอร์” ให้กับบุคลากรทางการแพทย์จังหวัดนครสวรรค์
ทั้งที่จริง ๆ แล้ววัคซีนดังกล่าวสหรัฐอเมริกาได้บริจาคให้มาจึงเกิดการตั้งคำถามว่า มีความเหมาะสมแค่ไหนที่นำชื่อตัวเองไปขึ้นป้ายแคลมเป็นผลงานตัวเองเช่นนั้น
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 7 ส.ค.64 ที่โรงพยาบาลท่าตะโก จ.นครสวรรค์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมคณะ ได้ไปมอบวัคซีนโควิด-19 เพื่อฉีดเป็น “บูสเตอร์” ให้กับบุคลากรทางการแพทย์และฉีดสูตรผสม “ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า” ให้อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.)
ช่วงหนึ่ง นายอนุทิน ได้ระบุว่า อสม.เป็นบุคลากรสาธารณสุขด่านหน้าควรรับวัคซีนให้ครบ 2 โดส ในการเข้าไปดูแลประชาชน ส่วนบุคลากรสาธารณสุขด่านหน้า แพทย์ พยาบาลดูแลผู้ป่วยใน รพ. ควรจะต้องได้รับบูสเตอร์โดสไปด้วย หลายจังหวัดรับแล้ว วันนี้ปลัด สธ. อธิบดีกรมควบคุมโรคก็เอาวัคซีนมาสนับสนุนการฉีดด้วย รวมถึงไฟเซอร์ที่จะบูสต์เข็มสามบุคลากรด่านหน้า ซึ่งฉีดซิโนแวค 2 เข็มแล้วบูสต์ด้วยแอสตร้าฯ หรือไฟเซอร์ก็ได้ภูมิขึ้นสูงทั้งนั้น”
ขอบคุณภาพและข้อมูลจากเพจเฟซบุ๊ก อีดอกแห่งวงการละคร
ขณะที่ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จาก กรณีที่โซเชียลมีเดีย ได้มีการนำภาพซึ่งระบุว่า มาจากงานภารกิจ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ลงพื้นที่เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 เพื่อตรวจเยี่ยมการดำเนินการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่ รพ.ท่าตะโก อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ มาโพสต์พร้อมระบุข้อความว่า รองนายกรัฐมนตรี เคลมว่าวัคซีนไฟเซอร์เป็นผลงานของตนเองนั้น เป็นการแสดงข้อความที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงและทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด
สำหรับ ข้อเท็จจริงของเรื่องนี้ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยม ให้กำลังใจการทำงานแก่เจ้าหน้าที่ใน จ.นครสวรรค์ พร้อมกับการลงพื้นที่ได้ตรวจเยี่ยมการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ล็อตที่ได้รับบริจาคจากประเทศสหรัฐ ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัครสาธารณสุขและบุคลากรด่านหน้าในพื้นที่ด้วย
ส่วนการจัดเตรียมป้าย หรือข้อความต่างๆ จัดโดยเจ้าหน้าที่ในจังหวัด จากการตรวจสอบก็ไม่พบข้อความที่มีการส่งต่อกันทางโซเชียลมีเดียแต่อย่างใด
น.ศ.ไตรศุลี กล่าวด้วยว่า ในการลงพื้นที่ จ.นครสวรรค์ นอกจาก นายอนุทิน แล้ว ยังมีปลัดกระทรวงสาธารณสุข และอธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมเดินทางด้วย ซึ่งภารกิจของการลงพื้นที่คือ ไปตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ ติดตามการดำเนินงานการควบคุมและแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จากการสอบถามในคณะผู้ลงพื้นที่ ก็ไม่มีใครเห็นข้อความใดที่มีการส่งต่อในโซเชียลมีเดีย ก็ยังสงสัยเช่นกันว่าข้อความนั้นอยู่ส่วนใดของงาน
ทั้งนี้ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล หากเป็นการวิจารณ์บนข้อมูลและเป็นความจริง และเพื่อเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ดีขึ้น เป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนทำได้อยู่แล้ว แต่ขอความร่วมมืออย่าสร้างและส่งต่อข้อมูลที่ก่อความเข้าใจผิดในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะในประเด็นที่จะกระทบต่อขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ที่เป็นด่านหน้าปฏิบัติงานอย่างหนัก โดยเป้าหมายของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขเวลานี้คือการสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่อย่างเต็มที่
อนึ่ง สหรัฐอเมริกา ได้ส่งมอบ "วัคซีนไฟเซอร์" ให้กับไทย เมื่อวันที่ 30 ก.ค.64 ที่ผ่านมา ที่ท่าอากาศยานสนามบินสุวรรณภูมิ โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร สธ. เดินทางไปตรวจรับมอบ
ขณะที่เพจสถานทูตสหรัฐฯ และสถานกงสุลในประเทศไทย โพสต์ ระบุตอนหนึ่งว่า
สหรัฐฯ ได้บริจาควัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์จำนวน 1,503,450 โดสให้กับประเทศไทย โดยวัคซีนจำนวนดังกล่าวมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในเวลาเช้าวันนี้(30 ก.ค.64) การขนส่งวัคซีนครั้งประวัติศาสตร์นี้เป็นการเน้นย้ำถึงการสนับสนุนที่สหรัฐฯ มีต่อพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของเราในเอเชีย
เรายังภูมิใจที่ได้ยืนยันว่า สหรัฐฯ จะบริจาควัคซีนให้กับไทยรวมทั้งหมด 2.5 ล้านโดส โดยจะบริจาคเพิ่มเติมอีก 1 ล้านโดสนอกไปจากจำนวนที่มาถึงแล้วในวันนี้
รัฐบาลสหรัฐฯ ยืนเคียงข้างไทย หุ้นส่วนของเรา ในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 และเริ่มกระบวนการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ ความร่วมมือกันนี้สะท้อนคำมั่นของประธานาธิบดีไบเดนที่จะมอบวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพให้กับประเทศต่าง ๆ ที่ขาดแคลน
รัฐบาลภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีไบเดนและรองประธานาธิบดีแฮร์ริสประกาศว่า สหรัฐฯ จะแบ่งปันวัคซีนจำนวน 80 ล้านโดสในส่วนของสหรัฐฯ เองเพื่อช่วยยุติโรคระบาดใหญ่ในทั่วโลกนี้ และการส่งมอบวัคซีนไฟเซอร์ในครั้งนี้แสดงถึงความสำคัญที่สหรัฐฯ ให้กับความร่วมมือระหว่างเรากับไทย
ในแผนการบริจาควัคซีน 80 ล้านโดสของประธานาธิบดีไบเดนนั้น สหรัฐฯ จะมอบวัคซีน 23 ล้านโดสให้กับประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย เพื่อที่จะช่วยให้ภูมิภาคนี้รวมถึงประเทศไทยปลอดภัย การบริจาควัคซีนเหล่านี้เป็นความช่วยเหลือนอกเหนือไปจากความช่วยเหลือมูลค่า 4,000 ล้านเหรียญที่สหรัฐฯ ให้ผ่านทางโคแวกซ์ ซึ่งเป็นโครงการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ให้แก่นานาประเทศอย่างเท่าเทียม
การบริจาควัคซีนจำนวน 1.5 ล้านโดสครั้งนี้ รวมถึงวัคซีนหลายล้านโดสที่สหรัฐฯ มอบให้กับประเทศเพื่อนบ้านของไทย จะช่วยให้ไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเร่งการฉีดวัคซีนเพื่อให้พลเมืองของตนปลอดภัย ตลอดจนฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว
วัคซีนของเรานั้นให้เปล่าโดยไม่มีเงื่อนไข สหรัฐฯ ดำเนินการเช่นนี้ด้วยวัตถุประสงค์หนึ่งเดียวเท่านั้น นั่นคือการช่วยชีวิตผู้คน และด้วยความตระหนักอย่างถ่องแท้ว่า ไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าทุกคนจะปลอดภัย
ดังนั้น เราจึงยินดีที่ได้ทราบว่า รัฐบาลไทยมุ่งมั่นที่จะกระจายวัคซีนเหล่านี้อย่างเป็นธรรมให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยทุกคน รวมทั้งมุ่งเน้นการจัดสรรวัคซีนให้กับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงสุด
ทางด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงแผนการกระจายวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส ที่ได้รับบริจาคจากสหรัฐฯ ซึ่งดำเนินการจัดส่งในลอตแรกระหว่างวันที่ 4-7 ส.ค. 2564 เพื่อฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั่วประเทศในช่วงเดือน ส.ค.2564 ว่า กรมควบคุมโรคได้ดำเนินการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ให้เป็นไปตามเกณฑ์และความจำเป็นของพื้นที่ โดยส่งให้หน่วยให้บริการรักษาพยาบาลต่างๆ โดยตรง
รวมทั้งส่งให้สำนักอนามัย กรุงเทพฯ เพื่อนำไปกระจายให้หน่วยงานที่อยู่ในสังกัดของ กทม. หรือหน่วยงานอื่นที่แจ้งความประสงค์ไว้กับ กทม. อาทิ สถานพยาบาลมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก รพ.จุฬาลงกรณ์, ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาคลินิกเวชกรรม การกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นต้น
ทั้งนี้ มีเป้าหมายเดียวกันคือ การฉีดให้ครอบคลุมบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่เป็นผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การควบคุมป้องกันโรค การศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาวิชาการเกี่ยวกับเชื้อไวรัสชนิดนี้ ซึ่งมีโอกาสและมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อจากการปฏิบัติงานทั้งสิ้น เพื่อป้องกันการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19
สำหรับภาพรวมการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 3 เพื่อใช้กระตุ้นภูมิคุ้มกันให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ฯ ทั่วประเทศ ขณะนี้ดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่ประมาณ 90% จะได้รับวัคซีนครบทั้ง 2 เข็มแล้ว
ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. จนถึงวันที่ 6 ส.ค. 2564 มีบุคลากรทางการแพทย์ฯ ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มที่ 3 แล้วรวมจำนวน 175,190 ราย แบ่งเป็นวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 1,422 ราย และวัคซีนแอสตราเซนเนกา จำนวน 173,768 ราย
ส่วนแผนการกระจายวัคซีนในช่วงวันที่ 6-7 ส.ค. มีเป้าหมายจัดส่งให้ 68 จังหวัดและ กทม. ด้วย โดยได้รับแจ้งจากทางจังหวัดว่าวัคซีนถึงแล้ว เช่น สมุทรปราการ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี เป็นต้น ซึ่งแต่ละแห่งที่ได้รับวัคซีนได้ทยอยฉีดแล้ว อาทิ โรงพยาบาลชลบุรี, โรงพยาบาลพุทธโสธร จ.ฉะเชิงเทรา, สถาบันบำราศนราดูร, โรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี เป็นต้น และจะเริ่มทยอยฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ฯ ตามความพร้อมของสถานบริการต่างๆ ต่อไป