ยังพอมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ในวิกฤตโควิดที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ไหม เพราะสถิติใหม่ทั้งผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตที่เกิดขึ้นวันแล้ววันเล่า ทำให้คนไทยหวั่นวิตกมากขึ้น
ความหวังว่าวัคซีนโควิดจะช่วยพากลับสู่ความปกติ และคลี่คลายมาตรการควบคุมโรคที่ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ ดูจะสวนทางกับความเป็นจริงที่ว่า เราอยู่ในภาวะวัคซีนไม่พอ เตียงผู้ป่วยตึงเต็มที่
สำคัญคือไวรัสสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) รุกคืบหนักขึ้น ลุกลามไปกว่า 74 จังหวัด ร้อยละ 70 ของผู้ป่วยเป็นสายพันธุ์เดลตา ส่งผลให้เกิดข้อเรียกร้องนำวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเข้ามาต่อสู้กับโควิดสายพันธุ์นี้
สิ่งที่เกิดขึ้นดูเหมือนว่าไม่ได้เหนือความคาดหมายที่เคยมีการทำนายไว้ หลังเริ่มยกระดับมาตรการควบคุมโรค 10 จังหวัดสีแดงเข้มได้เพียง 1 วัน แพทย์ผู้เชียวชาญเริ่มเชื่อมากขึ้น ว่าประเทศไทยจะเข้าขั้นวิกฤติ
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยกล่าวไว้เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า สายพันธุ์ที่ระบาดส่วนใหญ่ขณะนี้เป็นสายพันธุ์เดลตาเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครนี้สายพันธุ์ที่ระบาดส่วนใหญ่เป็นเดลตาประมาณ 70-80% เรียบร้อยแล้วและมีแนวโน้มในที่สุดสายพันธุ์นี้จะต้องระบาดทั่วประเทศ ผู้ป่วยส่วนใหญที่เป็นอยู่ตอนนี้บอกได้เลยว่า สายพันธุ์เดลตานี้จะมีปริมาณไวรัสอย่ในลำคอผู้ป่วย แพร่ได้ง่าย คนสู่คนได้ง่าย เรา อยากให้พี่น้องประชาชนตระหนักไว้ว่าสายพันธุ์เดลต้าขณะนี้ การหาไทม์ไลน์ การไล่ติดจากใครจะเริ่มยากขึ้นทุกที
สถานการณ์โควิด ถูกฉายภาพการติดเชื้อของประเทศตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาด คาดการณ์ว่าแย่ที่สุดจะเกิดเคสผู้ป่วยติดเชื้อจำนวนมาก
น.พ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวไว้เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่า แย่ที่สุดหมายถึงจุดสูงสุดที่จะเกิดเคส ถ้าหากไม่ได้ทำอะไรไม่ได้ช่วยกันและปล่อยให้การติดเชื้อไปเรื่อยเรื่อย ค่าบนหรือค่าสูงสุดจะเกิดการติดเชื้อ 31,997 รายต่อวัน หากฉีดวัคซีนได้ดี Best Case จะลงไปในช่วงของเดือน จะเห็นกราฟที่เป็นเส้นประ ดีที่สุดจะลงมาช่วงเดือน ก.ย. Base Case เส้นที่สอง เห็นภาพชัดว่าหมื่นกว่าสูงประมาณหมื่นห้าหรือเกินกว่าในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.แต่ถ้าแย่ที่สุด จะสูงถึง 22,000 กว่าในเดือน ส.ค.-ก.ย.แล้วค่อยๆ ลงมา ในเดือน ต.ค
จากยอดผู้ติดเชื้อแตะ 20,000 คนในขณะนี้ และคาดว่าจะสูงไปอีกระยะหนึ่ง การล็อกดาวน์กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อหวังกดยอดผู้ติดเชื้อแต่ในต่างจังหวัดกลับมียอดเพิ่มสูงขึ้น
การคาดการณ์สถานการณ์โควิดตามแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ล่าสุดเปรียบเทียบสถานการณ์ 3-4 เดือนข้างหน้า หากไม่มีมาตรการล็อกดาวน์ และมาตรการเข้มข้นใด ๆ จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันจะสูงเกิน 40,000 ราย และจุดสูงสุดจะอยู่ที่ช่วงกลางเดือน ก.ย.
กรณีมาตรการต่าง ๆ ควบคุมสถานการณ์ได้ ยอดติดเชื้อสูงสุดจะต่ำกว่าคาดการณ์ เกิดจุดพีคช้าลง นั่นคือการเร่งฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด
แต่ความท้าท้ายนี้ก็ยังเป็นคำถามที่ดังขึ้นอย่างต่อเนื่อง ว่าประเทศไทยจะรับมือกับวิกฤตนี้อย่างไรและจะบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ได้หรือไม่