พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค.แถลงสถานการณ์ประจำวันที่ 9 ส.ค.64 ช่วงหนึ่งว่า ที่ประชุมศบค.ชุดเล็กพูดคุยกันในวันนี้ เป็นประเด็นที่สังคมถามมาตลอด คือ เรื่องการตรวจ RT-PCR ก่อนหน้านี้ผู้ป่วยต้องสงสัยว่าที่ติดเชื้อ ไปตรวจหาเชิงรุก ได้ผล ATK( Antigen Test Kit) เป็นบวก จะเข้ารับการรักษาอาจจะถูกปฏิเสธโดยสถานพยาบาล เพื่อที่จะให้ไปตรวจ RT-PCR เพื่อยืนยันผลการติดเชื้อ
ในที่ประชุมอีโอซีสาธารณสุขได้สรุป ผล ATK เป็นบวก สามารถเข้าระบบการรักษาตัวที่บ้าน(Home Isolation)ได้ทันที โดยไม่ให้ผลการตรวจ RT-PCR เป็นอุปสรรคการเข้าถึงการรักษา
พญ.อภิสมัย กล่าวถึงสถานการณ์ผู้ป่วยในกทม.และปริมณฑล และการจัดสรรเตียงว่า อย่างที่เน้นย้ำเสมอว่า เมื่อทางผู้ป่วยโทรไป 1330 จะมีระบบจับคู่อัตโนมัติ ในการจับคู่ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือ หน่วยบริการปฐมภูมิ จำนวนใหญ่ ที่หน่วยบริการปฐมภูมิโทรไปภายใน 24 ชั่วโมงเพื่อคัดแยกอาการจะพบว่า ส่วนใหญ่เป็น สีเขียว 70-80 %
หากดูการรอเตียงเทียบกับเดือนก.ค. ที่ผ่านมา เทียบกับส.ค. ในช่วงสัปดาห์แรก พบว่า ในช่วง 24 ก.ค. อัตราผู้ป่วยรอเตียงสีเขียวและเหลืองพุ่งสูง แต่ใน 8 ส.ค. พบว่าอัตราการรอเตียงกราฟปักหัวลงอย่างชัดเจน แปลว่าตอนนี้มีการปรับระบบบริการ ดูแลผู้ป่วย โดยผู้ป่วยที่ได้รับการคัดแยก ดูแลจากหน่วยปฐมภูมิ จะได้รับการจัดสรรใน Home isolation หากที่บ้านไม่เหมาะสม ก็เข้าสู่ Community isolation หรือ การแยกกักในชุมชน
ตรงนี้จะเห็นได้ชัดว่า การทำงาน Home isolation ตอนนี้หน่วยปฐมภูมิมีทั้งสิ้นมากกว่า 246 หน่วย พาผู้ป่วยเข้าสู่ระบบ Home isolation ในกทม. แล้วเกือบแสนราย และขอประชาสัมพันธ์คลินิกเอกชนในกทม. อีกกว่า 3,000 แห่ง หากมีศักยภาพร่วมดูแลได้ ขอให้ติดต่อไปที่ สธ.
นอกจาก Home isolation จะเห็นว่า Community isolation ตอนนี้มี 67 แห่ง ขยายทุกเขตกทม. 8,886 เตียง ในบางเขต เริ่มมีความหนาแน่น และแต่ละเขตพยายายามเพิ่ม Community isolation และจะรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวอ่อน เขียวเข้ม โดยในสัปดาห์นี้ มี Community isolation ที่เปิดแล้ว ในเขตบางนา คือ สโมสรกรมอุตุนิยมวิทยา เขตป้อมปราบ คือ ศูนย์พักคอยประปาแม้นศรี , เขตสาทร ศูนย์พักคอยลานกีฬาชุมชนทุ่งมหาเมฆ ,บางแค โรงเรียนคลองหนองใหญ่ , ภาษีเจริญ วัดกำแพง เป็นต้น
ขณะเดียวกัน มี Community isolation บางแห่งที่เป็น CI Plus ดูแลผู้ป่วยระดับเหลืองเข้มได้ 7 แห่ง รวมจำนวนรับได้ 1,036 เตียง ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มการรองรับผู้ป่วยสีเขียวอ่อน เขียวเข้ม และสีเหลืองอ่อน ในการดูแลมากขึ้น ซึ่งเป็นเสียงสะท้อนว่าเราจะมีเตียงรองรับผู้ป่วยสีแดงมากขึ้นด้วย
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า บุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 9 ส.ค. ได้มีการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเพิ่มอีก 900 เข็ม และหากนับตั้งแต่มีการฉีดเข็มที่ 1 ตั้งแต่ 28 ก.พ. เป็นต้นมา มีบุคลากรทางการแพทย์ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ไปแล้ว 182,082 ราย
ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ได้ฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์เมื่อวานนี้ 23,481 ราย และมียอดรวมที่ได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ทั้งหมด 39,483 ราย
สำหรับการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ เบื้องต้นกรมควบคุมโรคจะจัดสรรให้ 50-60% ของความต้องการที่ได้รับสำรวจไว้ก่อน และหลังจากนั้นจะมีการสำรวจศักยภาพการฉีดในแต่ละจุด และจะมีการจัดสรรวัคซีนเพิ่มให้แน่นอน ซึ่งตั้งแต่วันที่ 5-6 ส.ค. ทางกรมควบคุมโรคได้จัดสรรวัคซีนล๊อตแรกลงไปหน่วยฉีดเรียบร้อย
ส่วนกลุ่มนักเรียนที่ต้องเดินทางไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ ขอให้ติดต่อยื่นความประสงค์รับวีคซีน โดยลงทะเบียนสแกนคิวอาร์โค้ดและรับ SMS แจ้งนัดหมายเข้ารับการฉีดวัคซีน