นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค.รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันที่ 11 ส.ค.64 ช่วงหนึ่งถึงคลัสเตอร์โควิดวันนี้ว่า พบคลัสเตอร์ใหม่ 3 แห่ง กระจายอยู่ใน 3 จังหวัด พบติดเชื้อ 77 ราย ดังนี้
ศบค.รายงานสถานการณ์ในประเทศไทยว่า มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นรวม 21,038 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 16,464 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 4,382 ราย จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 173 ราย มาจากต่างประเทศ 19 ราย
สำหรับผู้ป่วยยืนยันสะสม(ตั้งแต่ปี 63) ล่าสุดอยู่ที่ 816,989 ราย รักษาหายเพิ่ม 22,012 ราย ผู้ป่วยรักษาหายแล้ว(ตั้งแต่ปี 63)รวม 600,152 ราย ผู้ป่วยรักษาอยู่ 210,042 ราย อาการหนัก 5,407 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,094 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 2207 ราย ผู้เสียชีวิต(ตั้งแต่ปี 63)สะสม 6,795 ราย
โฆษกศบค. ชี้แจงว่า กรณีที่ผลตรวจ Antigent test kit หรือ ATK จะไม่นับรวมในตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวัน เนื่องจาก การตรวจแบบ ATK ยังไม่ได้วินิจฉัยว่าติดเชื้อ แต่สามารถเข้าสู่ระบบการรักษาได้ พร้อมกับได้ยกตัวอย่าง เช่น กรณีที่เป็นไข้หวัดใหญ่ซึ่งมีหลายพันธุ์ และมีหลายคนไม่ได้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล แต่รู้ว่ามีอาการมากกว่าไข้หวัดธรรมดา จึงสามารถรักษาตัวอยู่ที่บ้านและหายป่วยได้
ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อจะมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นอีกหรือไม่นั้น นพ.ทวีศิลป์ ชี้แจงว่า ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกคน และการดูแลสุขภาพส่วนตัวให้มากที่สุด
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สถานการณ์เตียงพร้อมใช้ข้อมูล ณ วันที่ 5 ส.ค. ในจังหวัดพื้นที่สีแดง 20% ประกอบด้วย อยุธยา ฉะเชิงเทรา บึงกาฬ หนองบัวลำภู หนองคาย มหาสารคาม นครสวรรค์ ราชบุรี สมุทรสงคราม นครนายก พิจิตร สมุทรสาคร และภูเก็ต
ส่วนในจังหวัดพื้นที่สีส้ม เตียงพร้อมใช้ 21-40 % ประกอบด้วย กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี ชลบุรี จันทบุรี ตราด นครราชสีมา สุรินทร์ อุบลราชธานี ยโสธร ชัยภูมิ อำนาจเจริญ อุดรธานี เลย นครพนม มุกดาหาร อุทัยธานี กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ สุราษฎร์ธานี พัทลุง ยะลา และนราธิวาส
ขณะที่ในพื้นที่จังหวัดสีเหลือง เตียงพร้อมใช้ 41-60 % ประกอบด้วย สมุทรปราการ สิงห์บุรี สระบุรี ระยอง ปราจีนบุรี ศรีสะเกษ สกลนคร ลำปาง อุตรดิตถ์ น่าน พะเยา ตาก พิษณุโลก เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช พังงา ระนอง และสงขลา และพบว่า จังหวัดนครปฐมใช้เตียงเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีผู้ป่วยอาการหนัก
ทั้งนี้ อัตราการเสียชีวิตต่อจำนวนการป่วยค่อนข้างมากเกินกว่าที่กำหนดอยู่ที่เพชรบุรี และอุบลราชธานี และจะเห็นว่าอัตราการเสียชีวิต 1.5 ต่อแสนประชากร กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง แต่เมื่อเทียบกับประชากรโลก การเสียชีวิตของประเทศไทยต่อล้านประชากรอยู่ที่อันดับที่ 148 อันดับ 1 คือ เปรู รองลงมาคือ ฮังการี และบอสเนีย
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า การฉีดวัคซีนในกลุ่ม 29 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พบว่า ถ้ากำหนดเป้าหมายอยู่ที่ 20% เกือบทุกจังหวัดต่ำกว่าเป้าหมายทั้งหมด มีแต่กรุงเทพฯ ฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายอายุ 60 ปีขึ้นไปได้ถึง 90 % นอกนั้นฉีดได้ต่ำหมด และมีหลายจังหวัดฉีดวัคซีนได้ต่ำกว่า 10% คือ ลพบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครราชสีมา เป็นต้น