นายนพพร วิฑูรชาติ นายกสมาคมศูนย์การค้าไทย และประธานกรรมการบริหาร บริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “จากปัญหาความแออัดในการให้บริการเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่มีลูกค้าต่อคิวใช้บริการธนาคารเป็นจำนวนมาก สมาคมศูนย์การค้าไทย มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าว และมุ่งมั่นลดความแออัดในการใช้บริการให้ประชาชน
จึงขอเสนอภาครัฐให้ทบทวนการเปิดให้บริการ 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธนาคาร ธุรกิจสื่อสาร และร้านเบ็ดเตล็ดรวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า ในศูนย์การค้าเพื่อกระจายช่องทางการใช้บริการและอำนวยความสะดวกให้ประชาชน เพราะศูนย์การค้ามีมาตรการดูแลพื้นที่ของตนเองให้เป็นสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนมากที่สุด โดยธนาคาร ธุรกิจไอที และร้านเบ็ดเตล็ดก็มีมาตรการเข้มข้น ผนวกกับศูนย์การค้าก็มีมาตรการที่เข้มข้นสูงสุดอีกระดับ ซึ่งถือเป็นการ Double Protection และปลอดภัยกว่าสำหรับลูกค้า
อีกทั้งยังได้มีการทบทวนแผนอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับมาตรการให้แข็งแกร่ง และสอดคล้องกับสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา โดยจากสถิติการติดเชื้อของพนักงานในศูนย์การค้านั้น พบว่ามีอัตราส่วนที่ต่ำมาก เพราะมีมาตรการในการควบคุมที่ชัดเจน พร้อมทั้งมาตรการป้องกันเชิงรุก Intensive Tracking บริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพในการแยกกลุ่มเสี่ยง-กักตัว 14 วันดูอาการ-เปลี่ยนพนักงานชุดใหม่ เพื่อควบคุมความเสี่ยงตามขั้นตอนของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด”
สมาคมฯ จึงได้ริเริ่มจัดทำ ‘แผนแม่บทมาตรการ ธนาคารและธุรกิจสื่อสาร สะอาด มั่นใจ’ กว่า 26 ข้อปฏิบัติ ที่มีความเข้มข้นเป็นพิเศษ โดยมุ่งหวังเพื่ออำนวยความสะดวก ลดความแออัด และลดเวลาการใช้บริการของประชาชน หากภาครัฐผ่อนปรนให้เปิดให้บริการได้ ดังนี้
ปัจจุบัน สมาคมศูนย์การค้าไทย ประกอบด้วยผู้ประกอบการธุรกิจศูนย์การค้าทั้งหมด 13 ราย ได้แก่ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด(มหาชน), บริษัท เดอะมอลล์ชอปปิ้งคอมเพล็กซ์ จำกัด, บริษัท ซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท รังสิตพลาซ่า จำกัด, บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด, บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน), บริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท แพลทินัม กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), บริษัท เดอะ เคอี กรุ๊ป จำกัด, บริษัท แปซิฟิค พาร์ค ศรีราชา จำกัด, บริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด (มหาชน), บริษัท เฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท พิริยา พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด