เรื่องเล่า "วันแม่" ความทุกข์ของ "หญิงตั้งครรภ์" ในวิกฤติโควิด

11 ส.ค. 2564 | 23:00 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ส.ค. 2564 | 23:15 น.

วงเสวนาเปิดเรื่องเล่าวันแม่ "หญิงตั้งครรภ์" สุดเศร้าสาวท้อง 8เดือนติดโควิด เสียชีวิตไม่ทันเห็นหน้าลูก ด้าน “คุณแม่หลังคลอด” เล่าติดโควิด ถูกรพ.ที่ฝากท้องไว้ปฏิเสธทำคลอด ต้องเร่หา รพ.อื่นเกือบ 2ชม.บนถนน 

เนื่องในโอกาส "วันแม่แห่งชาติ" มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ มูลนิธิเด็กเยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดเสวนาออนไลน์เมื่อวันที่ 11ส.ค. 2564 หัวข้อ “ท้อง-คลอดในวิกฤติโควิด ชะตากรรมแรงงานหญิงที่ถูกเมิน” โดยมีการถ่ายทอดสดผ่านทางทางเพจ “มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล”

เรื่องเล่า \"วันแม่\" ความทุกข์ของ \"หญิงตั้งครรภ์\" ในวิกฤติโควิด

โดยหนึ่งในเรื่องเล่าวันแม่ ที่น่าสนใจมาจา นางอัณธิกา โคตะมะ รองเลขาธิการกลุ่มสหภาพแรงงานกลุ่มย่านรังสิตและใกล้เคียง กล่าวว่า การระบาดของโควิด -19ระลอกนี้แรงงานมีความยากลำบากมาก บางบริษัทไม่มีแม้กระทั่งที่ตรวจ หรือตรวจเจอเชื้อก็ไม่มีเตียงรักษา โดยเฉพาะในกลุ่มคนท้องยิ่งมีความลำบากมากกว่ากลุ่มอื่นๆ เพราะเป็นกลุ่มเปราะบางภูมิคุ้มกันน้อยเสี่ยงติดเชื้อจากทั้งการเดินทาง และการทำงานในสถานที่ที่มีคนเยอะ 

ล่าสุดในสถานประกอบการแห่งหนึ่ง มีพนักงานหญิงตั้งครรภ์หลายคน ที่น่าเสียใจคือมี 1ราย อายุครรภ์ 8เดือน เสียชีวิตโดยไม่ทันได้เห็นหน้าลูก แต่ที่น่าแปลกคือรัฐบาลบอกว่ารักษาโควิดฟรี แต่จากการพูดคุยกับสามีผู้เสียชีวิตพบว่า รพ.เอกชนที่รักษาเรียกเก็บเงิน 1.5แสนบาท ก็ไม่รู้ว่าเป็นค่าอะไรบ้าง เพราะรายนี้มีการผ่าคลอด และทารกอยู่ในตู้อบ 7วัน

“จากที่มีการติดตามข้อมูลการดูแลแรงงานในช่วงสถานการณ์โควิด โรงงานบางแห่ง ให้พนักงานหญิงตั้งครรภ์ใช้สิทธิลาคลอด 98วันก่อนกำหนดได้ เพื่อลดการเดินทางลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ แต่ผู้หญิงหลายคนสู้อดทนเพื่อเก็บวันลาเอาไว้อยู่กับลูก ให้นมลูกหลังคลอดให้มากที่สุด แต่โรงงานบางแห่งก็ไม่ได้ดูแลอะไรเป็นพิเศษเลย ซึ่งเข้าใจว่านี่ไม่ใช่นโยบายของรัฐ จึงอยากให้รัฐมีการออกมาตรการดูแลคนท้องเพื่อให้โรงงานปฏิบัติตามด้วย อย่างน้อยที่เสนอไปคือน่าจะหยุดงาน 3-6เดือน แล้วรับเงินเดือน 50-75%ก็ได้” นางอัณธิกา กล่าว

เรื่องเล่า \"วันแม่\" ความทุกข์ของ \"หญิงตั้งครรภ์\" ในวิกฤติโควิด  

ด้าน นางเอ  (นามสมมติ) แรงงานหญิงที่คลอดลูกและติดโควิด -19ด้วย กล่าวว่า ในช่วงที่ตั้งครรภ์ตนได้ฝากท้องกับรพ.แห่งหนึ่ง และดูแลครรภ์มาตลอด แต่พอใกล้ถึงเวลาคลอด ตนเกิดติดโควิด -19จึงได้แจ้งไปยัง รพ.ที่ตนฝากครรภ์อยู่ แต่ได้รับการแจ้งกลับว่าไม่สามารถทำคลอดได้ เพราะไม่มีเตียงสำหรับคนไข้โควิด ทำให้ตนเสียใจ ตกใจมากกลัวว่าลูกในครรภ์จะเป็นอะไรไปด้วย ต้องมีการประสานหารพ.เพื่อทำคลอดให้ใหม่ โดยรพ.นั้นก็ประสานหารพ.ใหม่ให้ 

ซึ่งประสานไป 2แห่ง ก็ถูกปฏิเสธเพราะไม่มีเตียงเหมือนกัน จนกระทั่งประสานไปรพ.แห่งที่สี่ คือรพ.ธัญบุรี ที่รับทำคลอดให้ และรักษาโควิดให้จนหายปกติ ทั้งนี้ตนคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ ลูกที่เกิดมาก็ติดด้วย แต่ไม่มีอาการ อยู่รพ.ด้วยกันทั้งแม่ และลูก14วัน ถึงกลับบ้านได้

เรื่องเล่า \"วันแม่\" ความทุกข์ของ \"หญิงตั้งครรภ์\" ในวิกฤติโควิด

“วันนั้นหนูน้ำคร่ำแตกตั้งแต่อยู่ที่บ้าน แต่ไม่มีรพ.ที่ไหนทำคลอดให้ บอกว่าเตียงเต็ม แม้กระทั่ง รพ.ที่หนูฝากท้องยังปฏิเสธ เข้าใจว่าคนติดเชื้อเยอะ แต่การที่บอกเราว่าทำคลอดให้ไม่ได้เพราะเตียงเต็ม เราไม่เข้าใจ ควรอธิบายให้มากกว่านี้ว่าเพราะอะไรกันแน่ เพราะคนจะคลอดมันอั้นไม่ได้หรอก ต้องหาเตียงอยู่บนถนนกว่า 2 ชั่วโมงถึงได้ไปคลอดที่ รพ.ธัญบุรี เป็นความโชคดีของเราแม่ลูกที่ได้ที่นี่และที่ผ่านมาก็มีทางพี่ๆเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัวได้เข้ามาช่วยเหลือ  สิ่งที่อยากฝากคือชีวิตของคนจะฝากไว้กับโชคชะตาไม่ได้ การจัดการที่เป็นระบบต้องให้ดีกว่านี้” แรงงานหญิงกล่าว

นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากสถานการณ์ของคนงานและแรงงานหญิงในช่วงวิกฤตโควิดช่วงนี้น่าเป็นห่วงมาก มีการติดเชื้อจำนวนมาก แต่โรงงานหลายแห่งก็ไม่ได้มีมีมาตรการตรวจคัดกรองเชิงรุก ไม่ดูแลเรื่องรพ.สนาม ห่วงแต่เรื่องการผลิตให้ทันตามออเดอร์จากต่างประเทศ ทำให้มีการกระจายเชื้อไปในชุมชนมากมาย 

นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล

ดังนั้น หน่วยงานรัฐและนายจ้าง ต้องให้ความสำคัญ ถ้าห่วงแต่เรื่องการผลิตอย่างเดียวการควบคุมโรคจะเป็นไปไม่ได้ ซึ่งที่จริงมีบางจังหวัดที่เคยผ่านวิกฤติโควิดมาแล้ว เช่น จังหวัดสมุทรสาคร นครปฐม ที่มีการจัดการที่ดี  ดังนั้นตนเสนอว่า 

  1. โรงงานต่างๆ ควรจะมีการตรวจเชิงรุกที่ชัดเจน 
  2. ควรจะมีการสร้างรพ.สนามที่มีมาตรฐานมีบุคลากรการแพทย์ในการดูแล และมียารักษา มีระบบการส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาหากมีอาการหนักขึ้น หากโรงงานไหนไม่มีพื้นที่สำหรับตั้งรพ.สนาม ต้องมีการประสานงานกับท้องถิ่นในการหาสถานที่ดำเนินการ 
  3. ร่วมมือกับองค์กรแรงงานโดยเฉพาะสหภาพแรงงานในโรงงาน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือดูแลเรื่องการเจ็บป่วย หาทางออกกับปัญหาวิกฤตคราวนี้ 
  4. ต้องมีการเยียวยาตามสิทธิที่ลูกจ้างมีอยู่เดิม รวมถึงสิทธิในการเยียวยาเพิ่มเติมจากมาตรการของรัฐ ต้องสนับสนุนให้มากขึ้น โดยเฉพาะคนงานหญิงที่ตั้งครรภ์ มีสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงมาก เพราะเจอหลายกรณีที่คนงานหญิงตั้งครรภ์มีอาการรุนแรง บางคนถึงขั้นเสียชีวิต เพราะฉะนั้นการตรวจเชิงรุกให้กับแรงงานหญิงและกลุ่มต่างๆ หรือคนงานที่ท้องมีความจำเป็นมาก และสิทธิต่างๆ ของประกันสังคมต้องครอบคลุมและช่วยเหลือมากกว่านี้

นางอรุณี  ศรีโต  กรรมการประกันสังคม กล่าวว่า การดูแลแรงงานสถานการณ์โควิด เราเน้นการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อและแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น เช่น สวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ รวมถึงเป็นมือประสานสิบทิศในสิ่งที่แรงงานต้องการความช่วยเหลือ 

เรื่องเล่า \"วันแม่\" ความทุกข์ของ \"หญิงตั้งครรภ์\" ในวิกฤติโควิด

ทั้งนี้ ในส่วนของหญิงตั้งครรภ์ ในภาพแรงงานที่ตนดูแลอยู่นั้นมีจำนวนไม่มาก แต่เป็นกลุ่มที่เราต้องดูแลให้ดี เพราะ 1คนท้องมี 2ชีวิต จึงต้องมีการให้คำแนะนำในการดูแลตัวเองอย่างเข้มข้น ต้องแยกตัวไม่ร่วมวงรับประทานอาหารกับคนอื่น อยู่ให้ห่างจากคนงานอื่นๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่นายจ้างต้องให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน ต้องจัดให้หญิงตั้งครรภ์ เป็นกลุ่มพิเศษต้องได้รับการดูแลพิเศษ เช่น สลับมาทำงานในส่วนที่ไม่ต้องเจอคนเยอะ เป็นงานที่ไม่หนักมาก

“สิ่งสำคัญ คือหากเจอคนเสี่ยงติดเชื้อในสถานที่ทำงาน นายจ้างจะต้องดูแล สนับสนุนให้พนักงานได้รับการตรวจหาเชื้อ ซึ่งต้องดูแลพนักงานทุกคน ไม่เฉพาะหญิงตั้งครรภ์เท่านั้น เพราะถ้าให้แรงงานไปหาตรวจเองก็จะมีค่าใช้จ่ายเป็นพัน และไม่ควรรอเฉพาะหน่วยงานภาครัฐเข้าดูแล เพราะตอนนี้มีการแพร่ระบาดเยอะ นายจ้างต้องดูแลลูกจ้างก่อนด้วย” นางอรุณี กล่าว