ตรวจสอบสิทธิ์เงินเยียวยา 2000 ศธ.เตรียมแถลงข่าว “จุดยืนลดภาระทางการศึกษา"

14 ส.ค. 2564 | 08:59 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ส.ค. 2564 | 16:11 น.

ตรวจสอบสิทธิ์เงินเยียวยา 2000 บาท กระทรวงศึกษาธิการ เตรียมแถลงข่าววันที่ 16 ส.ค. “จุดยืนลดภาระทางการศึกษา” หลัง ครม.เคาะงบ 3.2 หมื่นล้าน เช็คด่วน

จากกรณีที่ คณะรัฐมนตรี หรือ ครม.ได้อนุมัติช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาภาคการเรียน ที่ 1 /2564  วงเงิน 32,000 ล้านบาท

ล่าสุด ในวันที่ 16 ส.ค. กระทรวงศึกษาธิการ เตรียมแถลงข่าว “จุดยืนลดภาระทางการศึกษา” เวลา 09.00-10.00 น. ณ อาคารราชวัลลภ โดยนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานผ่านระบบ Zoom พร้อมถ่ายทอดสดผ่านเพจ OBEC Channel มี 3 ประเด็นหลัก ๆ คือ

1.การจ่ายเงิน”เยียวยานักเรียน” 2000 บาท แบ่งเป็น

  • ระดับปฐมวัย (อนุบาล1-3 / ไม่น้อยกว่า3ปี บริบูรณ์ / เกิดก่อน18พ.ค.61)
  • ระดับประถมศึกษา ( ป.1 - ป.6 )
  • ระดับมัทธยมศึกษา ( ม.1 - ม.6 )
  • ระดับอาชีวศึกษา (ปวช. - ปวส.)

2. อินเทอร์เน็ตฟรีสำหรับการเรียน

3. การลดภาระ ครู และ นักเรียน

ขณะที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาภาคการเรียน ที่ 1 /2564  วงเงิน 32,000 ล้านบาท ประกอบด้วย กระทรวงศึกษาธิการ วงเงิน 22,000 ล้านบาท และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

1.กระทรวงศึกษาธิการ  ประกอบด้วย

        - มาตรการที่ 1 ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาให้นักเรียน/นักศึกษา ทุกคนทุกกลุ่มในสถานศึกษาของรัฐและเอกชนทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งสิ้น  10,952,960 คน   โดยให้ความช่วยเหลือ 2,000 บาทต่อคนในภาคการศึกษา ที่ 1/2564 กรอบวงเงิน 22,000 ล้านบาท 

         - มาตรการที่ 2 สนับสนุนสถานศึกษาในการจัดการเรียนการสอนและแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  ไม่เกิน 10,000 บาท/โรงเรียน  รวมจำนวน 34,887 แห่ง  แบ่งเป็น สถานศึกษาของรัฐ 30,879 แห่ง และสถานศึกษาเอกชน ที่รับเงินอุดหนุนจากรัฐ อีก 4,008 แห่ง วงเงินรวมทั้งสิ้น 94.08 ล้านบาท   

 

ทั้งนี้ มาตรการที่ 1 วงเงิน 22,000 ล้านบาท ยังคงใช้จ่ายจาก พ.ร.ก. เงินกู้ ฯ ส่วนมาตรการที่ 2 วงเงิน 94.08 ล้านบาท จากเดิมที่ใช้งบเงินกู้ช่วยเหลือบรรเทาค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา ให้เปลี่ยนไปใช้เงินจากงบประมาณแทน เนื่องจากไม่เข้าเงื่อนไขการใช้เงินกู้

 

2. โครงการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของนิสิต นักศึกษา ในสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  กรอบวงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยนิสิต นักศึกษา กลุ่มเป้าหมายจำนวน  1,788,522 คน  แบ่งเป็น 

    1) นิสิต นักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา ฯ  จำนวน 1,458,978 คน 

     2) นิสิต นักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษา ภาคเอกชน   ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา ฯ  จำนวน 285,000 คน 

     3) นักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐ นอกสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา ฯ  จำนวน 44,544 คน 

สำหรับแนวทางการให้ความช่วยเหลือมีดังนี้

         1. ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐ จำนวน 100 แห่ง ตั้งแต่ระดับต่ำกว่าปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษาทั้งภาคปกติ ภาคพิเศษ และภาคสมทบ โดยลดค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษา ดังนี้

        - ที่ต้องจ่ายในส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาท ช่วยเหลือในอัตรา 50% 

        - ที่ต้องจ่ายในส่วนตั้งแต่ 50,001 – 100,000 บาท ช่วยเหลืออัตรา 30%

         - ที่ต้องจ่ายตั้งแต่ 100,001 บาทขึ้นไป ช่วยเหลือในอัตรา 10% 

         โดยรัฐบาลและสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐ จะร่วมกันช่วยเหลือเยียวยาในสัดส่วน 6:4

        2. ช่วยค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษา ภาคเอกชน จำนวน 72 แห่ง โดยเยียวยาค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา คนละ 5,000 บาท

3. ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาอื่น ๆ เช่น การให้ทุนการศึกษา ขยายเวลาการชําระค่าธรรมเนียมการศึกษา ผ่อนจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษา ขยายเวลาสำเร็จการศึกษา ลดและคืนค่าหอพัก รวมทั้งการจ้างงาน/ส่งเสริมรายได้ให้กับนักศึกษา เป็นต้น

 

มาตรการช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา         ทั้งของกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา ฯ  มุ่งช่วยเหลือผู้ปกครองนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค โควิด-19 ให้บุตรหลานยังสามารถอยู่ในระบบการศึกษาได้ต่อไปได้ ขณะเดียวกันยังลดภาระค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือนให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจอยู่ในขณะนี้  กรณีสถานศึกษาที่อยู่ภายใต้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น คณะรัฐมนตรีขอให้พิจารณาใช้แหล่งเงินอุดหนุน ขององค์กรกปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นลำดับแรกก่อน.