พลตำรวจตรี วรวัฒน์ อมรวิวัฒน์ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสันติบาล เปิดเผยว่า การจัดการคำขอครั้งนี้ ฝ่ายตำรวจจะดำเนินการตามขั้นตอนการร้องขอแปลงสัญชาติตามวิธีการที่กำหนดในกฎหมาย โดยจากการตรวจสอบเอกสารของ นายยอง ซอก เช (โค้ชเช) มีคุณสมบัติเป็นไปตาม พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2508 แก้เพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 มาตรา 10 และ มาตรา 11(1) กรณีได้ทำความดี ความชอบ เป็นพิเศษ ต่อประเทศไทย (ด้านกีฬา) มีความครบถ้วน
ต่อจากนี้ จะเป็นขั้นตอนการตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์ที่ต้องประสานงานร่วมกับหน่วยต่างๆ ประกอบด้วย กองทะเบียนประวัติอาชญากร กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด กองบัญชาการตำรวจสันติบาล กองการต่างประเทศ
นอกจากนั้นยังต้องประสานกับหน่วยงานนอกสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติบางหน่วยด้วยเช่นกัน อาทิเช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดและสำนักข่าวกรองแห่งชาติ เป็นต้น ซึ่งการประสานตรวจสอบข้อมูลนี้จะมีระยะเวลาตามกรอบกฎหมายกำหนดประมาณ 99 วัน โดยหากหน่วยงานต่างๆ ส่งผลการตรวจสอบมาเร็ว บช.ส.ก็สามารถดำเนินการได้เสร็จสิ้นก่อนกำหนดเวลา
พล.ต.ต. วรวัฒน์ กล่าวต่อว่า หลังจากผ่านขั้นตอนการตรวจสอบที่กล่าวมาแล้ว บช.ส.ก็จะส่งเรื่องนำเรียนปลัดกระทรวงมหาดไทยเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนต่อไป โดยจะมีการสัมภาษณ์โค้ชเช โดยคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการแปลงสัญชาติซึ่งมีรองอธิบดีกรมการปกครองเป็นประธาน ต่อด้วยการพิจารณาโดยคณะกรรมการเกี่ยวกับการพิจารณาสัญชาติ โดยมีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน
พิจารณามีความเห็นเสนอต่อ รมว.มท. เมื่อ รมว.มท. ใช้ดุลยพินิจตามที่คณะกรรมฯ เสนอมีความเห็น แล้วจะเป็นขั้นตอนการนำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตและมีการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา
หากโค้ชเช ได้ผ่านการพิจารณาดำเนินการจนจบครบกระบวนการเหล่านี้ ก็จะมารับหนังสือสำคัญการแปลงสัญชาติที่ บช.ส และไปติดต่อสำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ เพื่อออกบัตรประจำตัวประชาชนได้และถือเป็นประชาชนสัญชาติไทยคนหนึ่งโดยสมบูรณ์