16 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย แถลงข่าวผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กรณีความคืบหน้าการวิจัยและพัฒนาวัคซีน ChulaCov-19 (จุฬา-คอฟ-นายทีน) ที่ใช้เทคโนโลยี mRNA เช่นเดียวกับ ไฟเซอร์ (Pfizer) และโมเดอร์นา (Moderna) จนสามารถเรียกได้ว่า ChulaCov-19 เป็นวัคซีน mRNA สัญชาติไทยรุ่นเแรก
โดยผลการวิจัยเบื้องต้นของการทดลองในระยะที่ 1 กับอาสาสมัครจำนวน 36 คน อายุระหว่าง 18-55 ปี ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มมา 7 วันแล้ว พบว่า มีความปลอดภัยดี ไม่มีผลข้างเคียงรุนแรงใด ๆ มีเพียงผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นอยู่ในระดับเล็กน้อย หรือปานกลาง และจะดีขึ้นภายใน 1-3 วัน
"ที่สำคัญยังพบว่า วัคซีน ChulaCov 19 สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิดแอนติบอดี้ได้สูงเทียบเท่ากับวันซีน mRNA อื่น ๆ เช่น ไฟเซอร์ ไบออนเทค สามารถกระตุ้นแอนติบอดีได้สูงมากในการยับยั้งเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิม และแอนติบอดีที่สูงนี้ ยังสามารถยับยั้งเชื้อข้ามสายพันธุ์ได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ คือ อัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา อีกทั้งยังกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิด ที-เซลล์ ซึ่งจะช่วยขจัดและควบคุมเชื้อที่อยู่ในเซลล์ของคนที่ติดเชื้อโควิดได้"ศ.นพ.เกียรติ กล่าว
อย่างไรก็ดี หลังจากนี้ทีมผู้วิจัยจะทำการทดสอบเฟสที่ 2 เริ่มฉีดวัคซีนให้อาสาสมัครประมาณวันที่ 25 สิงหาคมนี้
ส่วนการดำเนินการในเฟส 3 อยู่ระหว่างการหารือว่า การขึ้นทะเบียนจะต้องมีขั้นตอนของ อย. อย่างไรบ้าง โดยตั้งเป้าให้ ChulaCov-19 เป็น 1 ใน 4 วัคซีนที่ได้รับการรับรองของคนไทยที่จะเริ่มใช้ได้จริงภายในเดือนเมษายน 256
สำหรับ วัคซีน ChulaCov19 สามารถเก็บในอุณหภูมิตู้เย็น 2-8 องศาเซลเซียส ได้นาน 3 เดือน และเก็บในอุณหภูมิห้อง 25 องศาเซลเซียส ได้นาน 2 สัปดาห์ อีกทั้งวัคซีนชนิด mRNA สามารถผลิตได้เร็ว ไม่ต้องรอเพาะเลี้ยงเชื้อ สังเคราะห์ในหลอดทดลอง ไม่เกิน 4 สัปดาห์ ไม่ต้องใช้โรงงานขนาดใหญ่ และสามารถปรับแต่งวัคซีนต้นแบบตามพันธุกรรมของเชื้อกลายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว พร้อมการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัท Bionet Bionet Asia เพื่อผลิตได้ทันที