ถอดรหัส ภูเก็ต สู่ สมุยโมเดล พลิกโฉมท่องเที่ยวไทยมาตรฐานใหม่

16 ส.ค. 2564 | 07:56 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ส.ค. 2564 | 15:32 น.

อพท. ดึงผู้เชี่ยวชาญถกโมเดล Phuket Sandbox และ Samui Plus Model ถอดรหัสความสำเร็จเกิดจากการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย ใช้เทคโนโลยีควบคู่กฏเข้มด้านสาธารณะสุข ดึงความเชื่อมั่น เล็งขยายผลส่งต่อนักท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวอื่น

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า ในการประชุมผู้เชี่ยวชาญ (Expert Meeting) เพื่อเตรียมความพร้อมรับฤดูกาลท่องเที่ยว ครั้งที่ 2 ภายใต้หัวข้อ “Digital Platform และเอกภาพระหว่างหน่วยงานของรัฐ ความสำเร็จในการปกป้องชุมชนและนักท่องเที่ยวจาก COVID-19” ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญมาร่วมกันวิเคราะห์และถอดบทเรียนโมเดลการเปิดการท่องเที่ยวในพื้นที่เป้าหมายระยะต่อไปของไทย โดยนำ 2 พื้นที่คือ ภูเก็ต และสมุย ซึ่งเปิดรับท่องเที่ยวไปแล้วภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 (Covid-19) มาเป็นแนวทางการให้บริการ รวมถึงการมุ่งพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นไปตามเกณฑ์การท่องเที่ยวยั่งยืนโลก (GSTC) โดยจะสะท้อนให้เห็นว่า แหล่งท่องเที่ยวหลักและแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนจะต้องได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งทางด้านการบริหารการจัดการท่องเที่ยว การจัดทำเส้นทางการท่องเที่ยว รวมถึงการทำตลาดรูปแบบใหม่ๆ   
"ความสำเร็จที่เกิดขึ้นของ ภูเก็ต และสมุย มาจากการเตรียมความพร้อม และปรับรูปแบบการให้บริการให้สอดรับกับวิถีของคนในท้องถิ่นและชุมชน  รวมถึงการพัฒนาระบบดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการกับนักท่องเที่ยวที่เป็นไปตามมาตรฐานทางสาธารณสุข ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นจากนักท่องเที่ยว รวมถึงมีระบบการติดตามและเฝ้าระวังอย่างเคร่งครัด"
นายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)  กล่าวว่า ความท้าท้ายการเปิดรับนักท่องเที่ยวของทั้งสองพื้นที่  มีความแตกต่างในเรื่องของวิธีการคัดกรองนักท่องเที่ยว แต่ก็เป็นที่ยอมรับของนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่มีความเข้าใจในแนวทางการปฎิบัติร่วมกัน  
ทั้งนี้ การตัดสินใจเดินหน้าทั้ง 2 โครงการ ช่วยให้การท่องเที่ยวของไทย ยังอยู่ในเส้นทางของสายการบินจากทั่วโลก และเป้าหมายการเดินทางของนักท่องเที่ยวได้ทันไฮซีซั่นปลายปีนี้และต้นปีหน้า ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เป็นการทำงานที่ทุกคนต้องก้าวผ่านกำแพงจากการแข่งขันมาสู่การแชร์ข้อมูลอย่างบูรณาการ และจะเกิดเป็นบิ๊กดาต้าในที่สุด  ซึ่งทุกอย่างที่กำหนดไว้เกิดจากการไตร่ตรองภายใต้กฎของสาธารณสุข

ดังนั้นการขยายพื้นที่เพื่อการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างๆ จำเป็นอย่างยิ่งอาจต้องอาศัยจุดแข็งของ Phuket Sandbox  และ Samui Plus  Model เป็นจุดที่จะส่งต่อนักท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ เพื่อกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นมากที่สุด เพราะการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คงไม่สามารถนำรูปแบบเดิมเช่นสินค้าและบริการมาเป็นจุดขายได้  ดังนั้นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในประเทศ จำเป็นต้องปรับตัว พร้อมแก้ไขปัญหา ควบคู่ไปกับการพัฒนา โดยต้องอาศัยเทคโนโลยีและการเชื่อมโยงของแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ     
"แอปพลิเคชันหมอชนะ มีส่วนสำคัญกับความสำเร็จครั้งนี้และสามารถนำไปใช้ในพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นๆทั่วประเทศ โดยไม่ต้องพัฒนาแอปพลิเคชันใหม่ ทำให้ประเทศไทยมีข้อมูลที่อัพเดทชัดเจน นำไปสู่การปรับปรุงการให้บริการและการบริหารความเสี่ยงด้านความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวและชุมชนในอนาคตได้"

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท.
นายชัยธวัช เนียมศิริ  ผู้ว่าราชจังหวัดเลย กล่าวว่า  ได้ร่วมกับ อพท. โดยสำนักงานพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดเลย ดำเนินการใน 2 ส่วน  ซึ่งส่วนแรกคือ การควบคุมการแพร่ระบาด ด้วยการจัดทำแอปพลิเคชันไทเลย ให้นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่เดินทางเข้ามาจังหวัดเลยต้องดาวน์โหลด เพื่อจะได้รับทราบข้อมูลและติดตามผล ได้แก่ เดินทางมาจากพื้นที่ใด มีความเสี่ยงแค่ไหน ติดตามต่อไปว่าเมื่อเข้ามาแล้วเดินทางไปพำนักในอำเภอใด หรือที่ใด  หากมีการตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 จะส่งเข้าสถานที่กักตัวเพื่อรักษาให้หายก่อน ส่วนที่ 2 คือการเตรียมความพร้อม โดยใช้ช่วงเวลาที่ยังไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาระหว่างนี้ ก็ดำเนินการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว การปรับปรุงภูมิทัศน์ การพัฒนาเมนูอาหารถิ่น การพัฒนาศักยภาพคนตั้งแต่พนักงานของสถานประกอบการ และนักสื่อความหมายชุมชน  ซึ่งมั่นใจว่าเมื่อรัฐบาลเปิดให้เดินทางได้ จังหวัดเลยจะพร้อมรับนักท่องเที่ยวได้ทันที

นางอทิตยาธร วินไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า  นอกจากเรื่องการบริหารจัดการระบบสาธารณสุข ให้ประชาชนได้รับวัคซีนโดยเร็ว และมี Hospitel  และศูนย์พักคอย เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อ และในระหว่างที่ยังไม่มีนักท่องเที่ยวในช่วงนี้ ทางจังหวัดยังได้เตรียมความพร้อม เมื่อสถานการณ์แพร่ระบาดคลี่คลาย ก็พร้อมจะเปิดเมือง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดโดยเร็ว ซึ่งจะดึงจุดเด่นของจังหวัดเชียงรายคือด้านวัฒนธรรม ศิลปะต่างๆ มาสร้างความเข้มแข็งและความสมดุล และมีเป้าหมายในการเป็นเมืองแห่งสุขภาพ (WELLNESS)  ทั้งอาหาร สภาพอากาศ และวัฒนธรรม ดังนั้นปลายปีนี้มั่นใจว่า เชียงรายสามารถเปิดรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างแน่นอน
 อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวไทยถือว่าเป็นหนึ่งในภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดสูง การระดมความคิดเห็นในครั้งนี้จึงเป็นการบูรณาการองค์ความรู้และแนวทางปฏิบัติร่วมกันขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว ที่จะนำไปสู่การสร้างศักยภาพให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่ ทั้งเมืองหลัก เมืองรอง และพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ให้สามารถรองรับกับสถานการณ์การท่องเที่ยวในอนาคตตามเป้าหมายของรัฐบาล และยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว 20 ปี ได้อย่างมีประสิทธิภาพ