ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ได้โพสต์ข้อความบน เฟซบุ๊กส่วนตัว โดยนำการศึกษาที่น่าสนใจ ซึ่งพบว่าอัตราลดลงของประสิทธิภาพวัคซีนโควิดไฟเซอร์เร็วกว่าเเอสตร้าเซนเนก้า
โดยข้อมูลดังกล่าวระบุว่า การติดตาม "โอกาสที่จะตรวจพบการติดเชื้อ COVID จำนวนมาก (high viral load, Ct<30)" จากทีมนักวิจัย Oxford เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มประชากรที่ได้แอสตร้าเซนเนก้าเทียบกับไฟเซอร์พบว่าแม้ประสิทธิผลของวัคซีน ไฟเซอร์จะสูงกว่าแอสตร้าเซนเนก้าในช่วงแรก แต่เมื่อติดตามไปเรื่อย ๆ จะพบว่าอัตราการลดลง (attrition rate) ของวัคซีนไฟเซอร์เร็วกว่าแอสตร้าเซนเนก้า จนวัคซีนทั้งสองชนิดเริ่มมีค่าเท่า ๆ กันที่ 3 เดือนหลังฉีด และถ้าแนวโน้มยังคงเป็นแบบเดิม ประสิทธิผลของแอสตร้าเซนเนก้าจะเหนือกว่าหลังเดือนที่ 4 เป็นต้นไป
ข้อมูลที่สำคัญอีกอันหนึ่งใน preprint นี้คือ ผู้ที่เคยติด COVID แล้วได้วัคซีน (ไม่ว่าจะเป็น Pfizer หรือ AstraZeneca) ชนะเลิศ! มีระดับประสิทธิผลที่คงอยู่ได้ดีสุด คือยืนระยะเกิน 90% ได้
อย่างไรก็ดี ข้อมูลการคาดการณ์ที่ 4 เดือนนี้เป็น extrapolation ของการติดตาม ไม่ใช่ข้อมูลจริง และการศึกษานี้ดูเฉพาะรายที่ติดเชื้อ "เยอะ" เท่านั้น ไม่ได้ดูที่ประสิทธิผลรวมทั้งหมด และไม่ได้แปลว่าผู้ที่ติดเชื้อจะป่วยหรือมีอาการ ดังนั้นคงจะบอกว่าวัคซีน Pfizer กลับด้อยกว่า หรือ AstraZeneca ดีกว่าไม่ได้จนกว่าจะเห็นข้อมูลมากกว่านี้ แต่อย่างน้อยสิ่งที่ยืนยันได้คือ ประสิทธิผลของวัคซีน Pfizer ลดลงเร็วกว่าจริง สอดคล้องกับข้อมูลก่อนหน้านี้
ศ.นพ.มานพ ยังระบุอีกว่า ที่น่าสนใจถ้าเอาโมเดอร์นามาเทียบด้วยจะเป็นอย่างไร เพราะมีข้อมูลก่อนหน้านี้ยืนยันว่าประสิทธิผลของโมเดอร์นายืนระยะดีกว่า คือที่ 6 เดือนก็ยังคงที่ในระดับสูง
ที่มา : เฟซบุ๊ค มานพ พิทักษ์ภากร