วัคซีน ChulaCOV19 เป็นการพัฒนาวัคซีนชนิด mRNA ถือเป็นวัคซีนที่คิดค้น ออกแบบและพัฒนาโดยคนไทย ที่มีรพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งได้รับความร่วมมือและสนับสนุนโดยคุณหมอนักวิทยาศาสตร์ผู้คิดค้นเทคโนโลยีการผลิตแบบ mRNA คือ Prof. Drew Weissman จากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย
ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผอ.การบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ เผยว่า “ผลการทดลองในกลุ่มอาสาสมัครที่ฉีดวัคซีน ChulaCov19 พบว่า สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิดแอนตี้บอดี้ ได้เทียบเท่ากับวัคซีนชนิด mRNA อย่างไฟเซอร์ โดยสามารถยับยั้งการจับโปรตีนที่กลุ่มหนามได้ 94% เท่ากับไฟเซอร์”
วัคซีน ChulaCov19 ได้มีการทดลองในสัตว์ โดยทดลองทั้งหนูและลิง พบว่ามีประสิทธิภาพ สร้างภูมิคุ้มได้ในระดับสูง ต่อมามีทดลองในกลุ่มอาสาสมัคร อายุ 18-55 ปี จำนวน 36 คน ในเดือน มิ.ย. พบว่า ไม่มีผลข้างเคียงรุนแรงใดๆ มีผลข้างเคียงอยู่ในระดับเล็กน้อยหรือปานกลาง เช่น มีอาการอ่อนเพลีย เป็นไข้ต่ำๆ และมีอาการหนาวสั่นบ้างในกลุ่มอาสาสมัครที่ได้เข็ม 2 ซึ่งอาการต่างๆ จะดีขึ้นภายในเฉลี่ยประมาณ 1-3 วัน
การเก็บรักษาวัคซีน สามารถเก็บในอุณหภูมิตู้เย็น 2 – 8 องศาเซลเซียส ได้นาน 3 เดือน และเก็บในอุณหภูมิห้อง 25 องศาเซลเซียส ได้นาน 2 สัปดาห์
สำหรับการผลิตวัคซีนนั้น วัคซีนชนิด mRNA สามารถผลิตได้เร็ว ไม่ต้องรอเพาะเลี้ยงเชื้อ สังเคราะห์ในหลอดทดลองไม่เกิน 4 สัปดาห์ ไม่จำเป็นต้องใช้โรงงานขนาดใหญ่ และสามารถปรับแต่งวัคซีนต้นแบบตามพันธุกรรมของเชื้อกลายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว พร้อมการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัท Bionet Asia เพื่อผลิตได้ทันที คาดเตรียมใช้จริงก่อนสงกรานต์ในเดือนเม.ย. 2565