นายวิทวัส คุตตะเทพ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายโครงการเชิงพาณิชยกรรม เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย) ผู้บริหารโครงการสามย่านมิตรทาวน์ เปิดเผยว่า สามย่านมิตรทาวน์ได้รับรางวัลดีเด่นจากการประกวด Thailand Energy Awards 2021 ซึ่งจัดขึ้นโดย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน
โดยได้รับการคัดเลือกประเภทอาคารสร้างสรรค์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ประเภทอาคารใหม่ (New and Existing Building) พร้อมได้รับคัดเลือกเป็นผู้แทนประเทศไทยไปร่วมแข่งขันในระดับอาเซียน ASEAN Energy Awards 2021 ประเภท New and Existing Building ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์พลังงานอาเซียน หลังผ่านมาตรฐาน ลีด (Leadership in Energy and Environmental Design : LEED) ระดับโกลด์ จากสภาอาคารเขียวสหรัฐอเมริกาเมื่อปีที่ผ่านมา”
โครงการสามย่านมิตรทาวน์ พัฒนาในรูปแบบผสมผสาน หรือมิกซ์ยูสแบบครบวงจร ภายใต้แนวคิด ‘คลังแห่งอาหารและการเรียนรู้’ (Urban Life Library) ภายในโครงการแบ่งเป็น 3 โซน ได้แก่
โซนพลาซ่า ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ (Samyan Mitrtown)
โซนอาคารสำนักงาน มิตรทาวน์ ออฟฟิศ ทาวเวอร์ (Mitrtown Office Tower)
โซนที่อยู่อาศัยประกอบด้วย ทริปเปิ้ล วาย เรสซิเด้นซ์ (Triple Y Residence) และ โรงแรม ทริปเปิ้ลวาย โฮเทล (Triple Y Hotel)
เนื่องจากเป็นโครงการที่มีรูปแบบการใช้พื้นที่หลากหลายจากโซนที่แตกต่างกัน จึงให้ความสำคัญกับเรื่องการอนุรักษ์พลังงานในการออกแบบและบริหารจัดการพื้นที่ควบคู่กัน โดยสะท้อนผ่านรางวัลด้านพลังงานจากสถาบันชั้นนำที่เป็นที่ยอมรับจากทั้งไทยและต่างประเทศ
โดยคุณสมบัติของสามย่านมิตรทาวน์ที่ทำให้โครงการมีความแตกต่างจากอาคารทั่วไป จนสามารถคว้ารางวัล Thailand Energy Awards 2021 ได้แก่
1. พื้นที่สีเขียวของโครงการออกแบบภายใต้แนวคิด (Friendly & Space Sharing Landscape) เน้นการเข้าใช้พื้นที่ได้ง่ายและเป็นมิตรกับผู้ใช้งาน โดยเลือกปลูกพรรณไม้ที่สูงโปร่งและใบมีลักษณะเป็นพุ่มหนาอย่างต้นยางนาเพื่อสร้างร่มเงา เสริมด้วยไม้พุ่มและพืชคลุมดินเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากที่สุด
นอกจากนี้ ดาดฟ้าบนชั้น 5 ยังทำเป็นพื้นที่สีเขียว ที่เป็นจุดชมวิวและทำกิจกรรมที่หลากหลาย เลือกชนิดของต้นไม้ลำต้นตรงสูงแตกพุ่มด้านบน รวมถึงพืชพรรณที่หลากหลายเพื่อทำหน้าที่กรองแสงและฝุ่นให้กับอาคาร
2. พื้นที่ส่วนกลางโซน 24 ชั่วโมง ใช้การระบายอากาศโดยวิธีธรรมชาติ (Outdoor in Indoor Space) ชั้น G ถึงชั้น 2 ใช้รูปแบบพื้นที่แบบเปิด (Open Air) แทนการใช้ระบบปรับอากาศช่วยลดการใช้ไฟฟ้า โดยมีการศึกษาทิศทางลม และการกำหนดช่องเปิดที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดความสบายและอากาศถ่ายเท
เสริมด้วยการใช้พัดลม (Ceiling Fan) ซึ่งการนำเสนอความคิด Outdoor in Indoor Space ที่สมบูรณ์แบบในย่าน CBD ของกรุงเทพมหานคร
3.ส่งเสริมการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ (Public Transportation Accessibility) โดยมีอุโมงค์คอนกรีตเปลือยโครงสร้างที่ช่วยลดการใช้เคมีภัณฑ์ในการก่อสร้าง อุโมงค์นี้จะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า MRT สถานีสามย่าน นอกจากนี้ยังจัดให้มีสถานีชาร์จแบตเตอรี่ (EV Charger) สำหรับลูกค้าที่ใช้รถไฟฟ้า เพื่อร่วมสนับสนุนการใช้พลังงานไฟฟ้าทดแทนน้ำมัน
4. ออกแบบโดยให้ความสำคัญกับการวางทิศทางของตัวอาคารที่เหมาะสม (Building Orientation Optimization) เพื่อการรับแสงธรรมชาติให้มากที่สุด นอกจากช่วยลดการใช้ไฟฟ้าสำหรับแสงสว่างภายในอาคาร ยังช่วยสร้างความรู้สึกสบายไม่อึดอัดให้กับผู้ใช้งาน
และใช้การออกแบบกรอบอาคารที่สามารถลดความร้อนที่เข้าสู่ตัวอาคารได้ดี เช่น การใช้ผนังฉลุช่วยในการบังเงา และกระจก Insulated Low-E ซึ่งช่วยลดความร้อน แต่ยังคงได้รับแสงธรรมชาติเต็มที่ เป็นต้น
5. ส่วนสำนักงานเลือกใช้สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ (Water Efficiency Toilets) สามารถประหยัดการใช้น้ำประปาลงได้ 45.37% เมื่อเทียบกับสุขภัณฑ์ทั่วไป
6. ระบบปรับอากาศในส่วนศูนย์การค้าและสำนักงานใช้ระบบปรับอากาศแบบรวมศูนย์ (Central Water-Cooled Chiller System) ออกแบบเพื่อการประหยัดพลังงานด้วยเทคโนโลยีล่าสุดและระบบจัดการอัจฉริยะ ตัวอย่างเช่น
- เครื่องชิลเลอร์ และเครื่องสูบน้ำประสิทธิภาพสูง (High Efficiency VFD Chiller) ประหยัดพลังงานมากกว่าอาคารประหยัดพลังงานทั่วไป 15%
- สารทำความเย็นของเครื่องชิลเลอร์ (Chiller) ไม่ทำลายโอโซน และมีค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming Potential) ต่ำ
- ระบบจัดการชิลเลอร์ (Chiller plant management) ควบคุมการทำงานอุปกรณ์อัตโนมัติ ให้เกิดประสิทธิภาพ และประหยัดพลังงานสูงสุด
- เครื่องปรับอากาศ AHU ควบคุมการทำงานทั้งน้ำเย็นและปริมาณลมให้สอดคล้องกับโหลดความร้อน และติดตั้งแผ่นกรอกอากาศ 2 ชั้น สามารถกรองฝุ่น PM 2.5 ได้
นอกเหนือจากการเลือกใช้วัสดุและการตกแต่งอาคารแล้ว การบริหารจัดการพลังงานภายในอาคาร ยังเป็นสิ่งที่โครงการให้ความสำคัญ อาทิ การตั้งค่าอุปกรณ์ต่างๆ ให้เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
รวมทั้งการตรวจสอบซ่อมบำรุงอย่างใกล้ชิดอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ต้องปรับตัว เนื่องจากจำนวนผู้ใช้บริการ และพื้นที่เปิดให้บริการ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
เพื่อลดการใช้พลังงาน และลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมแบบครอบคลุมทั้งวงจร บริษัทฯ ยังส่งเสริมการคัดแยกขยะ โดยจัดสรรถังแยกขยะสำหรับเศษอาหาร ขยะทั่วไป ขวดพลาสติก ขวดแก้ว และกระป๋องอลูมิเนียม เพื่อรองรับการทิ้งขยะอย่างถูกประเภท และนำขยะไปจัดการต่อได้อย่างถูกต้อง
นอกจากนี้ ยังจัดกิจกรรมให้ผู้เช่าและผู้ใช้บริการร่วมคัดแยกขยะส่งเข้ากระบวนการรีไซเคิลได้มากกว่า 4 ตัน ตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 จนถึงปัจจุบัน
“สามย่านมิตรทาวน์ จะเป็นต้นแบบอาคารมิกซ์ยูสอนุรักษ์พลังงานที่รักษาสมดุลระหว่างการดูแลธรรมชาติและการรักษาคุณภาพชีวิตของผู้ใช้บริการ โดยให้ความสำคัญตั้งแต่การออกแบบอาคาร การควบคุมการก่อสร้าง รวมถึงการบริหารจัดการ เพื่อการส่งต่อประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้บริการ
โดยอาคารที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัท ล้วนผ่านเกณฑ์มาตรฐานการอนุรักษ์พลังงานระดับเวิร์ลคลาส เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย) มุ่งมั่นที่จะยกระดับอสังหาริมทรัพย์ของไทยให้เทียบเท่านานาประเทศ โดยมองว่าการให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ผู้พัฒนาต้องร่วมรับผิดชอบต่อสังคมและโลกใบนี้”