ศบค. แจงกรณีให้จองวัคซีนไฟเซอร์ต้องจ่ายเงินไม่เป็นความจริง เป็นเฟคนิวส์

23 ส.ค. 2564 | 07:21 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ส.ค. 2564 | 18:26 น.

โฆษก ศบค. แจงกรณีให้จองวัคซีนไฟเซอร์ต้องจ่ายเงินไม่เป็นความจริง เป็นเฟคนิวส์ เพราะวัคซีนไฟเซอร์เป็นหนึ่งในวัคซีนที่รัฐจัดให้กับประชาชน และยืนยันไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน

วันนี้ (23 ส.ค.64) เวลา 12.30 น. ณ โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. ชี้แจงกรณีการเปิดให้จองวัคซีนไฟเซอร์แล้วต้องมีการจ่ายเงินนั้น ไม่เป็นความจริง เป็นเฟคนิวส์ (Fake News) เพราะวัคซีนไฟเซอร์เป็นหนึ่งในวัคซีนที่รัฐจัดให้ประชาชนอยู่แล้ว

โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  ได้มีการลงนามสัญญาและมีการติดต่อยืนยันว่าจะส่งวัคซีนให้ภายในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ยืนยันไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ขอให้ติดตามความคืบหน้าจากทางรัฐบาล ซึ่งจะมีการแถลงให้รับทราบต่อเนื่องเป็นระยะ

นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ตามที่มีการส่งข้อความผ่านทาง SMS ให้ลงทะเบียนรับวัคซีนป้องกันโรคโควิดไฟเซอร์  โดยระบุว่า ต้องเสียค่าใช้จ่ายนั้น ไม่เป็นความจริง โดยการจัดหาวัคซีนให้กับประชาชนเพื่อป้องกันโรค 
และสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้นนั้น

ขอย้ำว่า ประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรับวัคซีน อย่างไรก็ตาม  หากพบเห็นการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบทันที

นายแพทย์โสภณ กล่าวอีกว่า กรมควบคุมโรค ยืนยันว่า แนวทางการบริหารจัดการวัคซีนไฟเซอร์ มีคณะทำงานด้านบริหารจัดการการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 กรณีวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) กำหนดแนวทางชัดเจน และการฉีดมี   การกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ต้องได้รับวัคซีนก่อนกลุ่มอื่น เนื่องจากมีความเสี่ยงรับเชื้อ และหากรับเชื้อจะมีความรุนแรงอาจเสียชีวิตได้ ประกอบด้วย  

1.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 19

2.กลุ่มเสี่ยง 608  คือ ผู้สูงอายุ 60 ปี  ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรังอายุ 12 ปีขึ้นไป และหญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป

3.ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย เน้นผู้สูงอายุและโรคเรื้อรัง

4.ผู้ที่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนไฟเซอร์ก่อนเดินทางไปต่างประเทศ เช่น นักเรียน นักศึกษา นักกีฬา นักการทูต เป็นต้น

ด้านความคืบหน้าการฉีดวัคซีนโควิด-19 นับจากไทยเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรก ตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ 2564  จำนวนการได้รับวัคซีนสะสม (28 ก.พ. - 22 ส.ค. 2564) รวม 27,038,999 โดส ใน 77 จังหวัด

ภาพรวมยอดฉีดวัคซีน วันที่ 22 สิงหาคม 2564 ยอดฉีดทั่วประเทศ 206,820 โดส

  • เข็มที่ 1 : 157,857 ราย
  • เข็มที่ 2 : 47,183 ราย
  • เข็มที่ 3 : 1,780 ราย

ศบค. แจงกรณีให้จองวัคซีนไฟเซอร์ต้องจ่ายเงินไม่เป็นความจริง เป็นเฟคนิวส์

  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 20,430,028 ราย (จำนวนผู้ได้รับวัคซีนทั้งหมด)
  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 6,065,003 ราย (จำนวนผู้ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์)
  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม : 543,968 ราย