รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
รายงานการศึกษาของบริษัท Pfizer แจ้งว่า ประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อ หลังจากฉีดวัคซีนเข็มสองไปแล้ว 6 เดือน ลดลง 12.5%
วัคซีนของบริษัท Pfizer มีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อในการทดลอง ( Efficacy ) เฟสสามในอาสาสมัครสูงที่สุดคือ 95%
แต่เป็นการติดตามผลเพียง 2 เดือนหลังจากฉีดวัคซีนเข็ม 2 เนื่องจากสถานการณ์โรคที่ระบาดรุนแรง จึงได้ยื่นขออนุมัติการฉีดในสถานการณ์ฉุกเฉิน (EUA)และได้ฉีดต่อเนื่องมาโดยตลอด เมื่อเริ่มฉีดวัคซีนไฟเซอร์จำนวนมากขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง (Real World) ประสิทธิผล (Effectiveness) ที่พบ ก็เริ่มลดลงมากน้อยไม่เท่ากัน
จากความหลากหลายของแต่ละประเทศ ซึ่งมีปัจจัยแตกต่างกันไป ทั้งเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ที่แตกต่างกัน กลุ่มบุคลากรที่มีความเสี่ยง และประชาชนทั่วไป ตลอดจนเชื้อชาติ โรคประจำตัวต่างๆ
รายงานการศึกษาครั้งนี้ จึงน่าสนใจ เพราะเป็นการติดตามของบริษัท Pfizer เอง ในกลุ่มอาสาสมัครซึ่งฉีดวัคซีนมาตั้งแต่ 27 กรกฎาคม 2563 ถึง 29 ตุลาคม 2563
จำนวน 45,441 คน จาก 152 หน่วยทดสอบ อยู่ในสหรัฐ 130 แห่ง ตุรกี 9 แห่ง เยอรมัน 6 แห่ง แอฟริกาใต้ 4 แห่ง บราซิล 2 แห่ง และอาร์เจนตินา1 แห่ง
โดยติดตามผู้ที่ได้รับวัคซีนอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปเป็นหลัก โดยมีอายุ 12-15 ปีเป็นส่วนน้อย จำนวน 2264 คน (และยังติดตามไม่ครบหกเดือน)
พบว่า ประสิทธิผลเฉลี่ยหลังฉีดหกเดือน ลดลงจาก 95% เหลือ 91% แต่ป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงประสิทธิผลสูงอยู่ในระดับ 97%
แต่ถ้าดูเป็นรายประเทศ จะพบว่าบราซิลและอาร์เจนตินามีประสิทธิผลที่ต่ำสุดคือ 86%
เมื่อดูรายละเอียดที่เพิ่มมากขึ้น พบว่าประสิทธิผล (Efficacy)ขึ้นสูงสุดในการป้องกันการติดเชื้อในช่วงเจ็ดวันถึงสองเดือนหลังฉีด ได้ค่าเฉลี่ยประสิทธิผล 96.2%
แต่เมื่อติดตามไปอีกสี่เดือนหลังจากนั้น รวมเป็นหกเดือนหลังฉีดเข็มที่ 2 พบว่าประสิทธิผลลดลงเหลือ 83.7% เป็นการลดลง 12.5% ในเวลา 4 เดือน หรือลดลง 6% ทุก 2 เดือน
ส่วนเรื่องผลข้างเคียงพบว่า ในกลุ่มที่ฉีดวัคซีน จะมีอาการมากกว่ากลุ่มไม่ฉีดวัคซีนอย่างมีนัยสำคัญ แต่อาการไม่ได้รุนแรงมาก
จากการติดตามเพิ่มเติมจากสองเดือนเป็นหกเดือนหลังฉีด พบว่ามีอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย เหงื่ออกลางคืน และที่พบเป็นอาการใหม่ไม่เคยพบมาก่อนคือ มีเหงื่อออกที่ฝ่ามือ
ทาง Pfizer บอกว่า จะติดตามกลุ่มอาสาสมัครเหล่านี้ไปอีกเป็นเวลาอย่างน้อยสองปี
แล้วจะนำข้อมูลประสิทธิผลของอาสาสมัคร ( Efficacy ) ไปประกอบกับประสิทธิผลของการป้องกันในโลกแห่งความเป็นจริง ( Effectiveness ) จึงจะสามารถบอกได้ว่า จำเป็นจะต้องมีการฉีดกระตุ้นเข็มสามหรือไม่ และช่วงระยะเวลาควรห่างจากเข็มสองนานเท่าใด คงจะต้องติดตามกันต่อไป
สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลการรายงานจากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.- พบว่า มีการฉีดสะสมแล้ว 27,038,999 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 20,430,028 ราย ฉีดครบ 2 เข็มจำนวน 6,065,003 ราย และฉีดเข็มที่ 3 จำนวน 543,968 ราย