สาธารณสุข พบ เดลต้าสายพันธุ์ย่อยในไทย 4 สายพันธุ์ ยัน ยังไม่ดื้อวัคซีนโควิด

24 ส.ค. 2564 | 06:50 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ส.ค. 2564 | 18:37 น.

สาธารณสุข เผย พบเดลต้าสายพันธุ์ย่อยในไทย 4 สายพันธุ์ พร้อมติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ย้ำชัด ยังไม่ใช่โควิดสายพันธุ์ไทย ระบุ เบื้องต้นยังไม่มีรายงานว่าดื้อวัคซีนโควิดและมีอาการรุนแรงหรือไม่

จากกรณีการพบเชื้อโควิดสายพันธุ์ย่อยของเดลต้าในประเทศไทยนั้น ในวันนี้ (24 สิงหาคม) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแถลงข่าว

นพ.ศุภกิจ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งมีการตรวจโควิดตามปกติมากกว่า 2,000 ตัวอย่าง ในจำนวนนี้พบว่า เป็นสายพันธุ์เดลต้า 1,132 ราย ประกอบกับจากรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดพบว่า ปัจจุบันโควิดสายพันธุ์นี้มีสัดส่วนกระจายอยู่ทั่วประเทศไทยในทุกจังหวัด ทำให้เดลต้ากลายเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดในไทย

อย่างไรก็ดี จากจำนวนที่พบอยู่ในขณะนี้ถือว่า น้อยมาก ทำให้การแยกย่อยของสายพันธุ์เดลตา ทั้ง 4 ตัว ยังไม่มีข้อมูลว่า ดื้อต่อวัคซีนโควิดมากน้อยเพียงใด รวมถึงเกิดการอาการต่าง ๆ แตกต่างจากสายพันธุ์เดลตาซึ่งเป็นสายพันธุ์แม่หรือไม่ อย่างไร โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อเนื่องต่อไป

ทั้งนี้ สำหรับสายพันธุ์ย่อยของเดลตาทั้ง 4 ตัวนี้นี้ยังพบในต่างประเทศด้วย อาทิ ที่อังกฤษ สเปน เดนมาร์ก และสหรัฐอเมริกา ดังนั้น จึงยังไม่ใช่สายพันธุ์ไทย แม้ว่าจะเป็นลูกหลานของสายพันธุ์เดลตาที่พบในประเทศไทยก็ตามเพราะเป็นเรื่องปกติของสายพันธุ์ไวรัสที่หากพบว่า มีการระบาดจากคนสู่คนจำนวนมากจะยิ่งมีโอกาสเกิดการกลายพันธุ์หรือเกิดสายพันธุ์ย่อยได้

 

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

ด้าน ศ.เกียรติคุณ ดร. วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อธิบายการพบสายพันธุ์ย่อยเดลต้าในครั้งนี้ว่า เกิดจากการสุ่มถอดรหัสพันธุ์กรรม ทั้ง จีโนม (SARS-CoV-2 whole genome sequencing 30,000 bp) เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 จากตัวอย่างที่ส่งมาทั่วประเทศซึ่งเป็นการประสานงานกันระหว่างศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดี และ กลุ่มพันธมิตร COVID-19 Network Investigations (CONI)

โดยข้อมูลรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของตัวอย่างทั้งหมดที่ถอดได้นั้นถูกอัพโหลดขึ้นบนฐานข้อมูลโควิดโลก หรือ  GISAID  เพื่อให้ประเทศต่างๆได้ร่วมกันใช้ประโยชน์เพื่อการป้องกัน ดูแล และรักษาโรคโควิด-19 ซึ่งจากการวิเคราะห์สัดส่วนของโควิดกลายพันธุ์ในประเทศไทย พบว่า สายพันธุ์ย่อยของเดลตา  4 ตัว ดังนี้  

  1. AY.4 หรือ B.1.617.2.4 ช่วงที่พบเดือน มิ.ย.-ส.ค. ในพื้นที่ ปทุมธานี 4  ราย บุรีรัมย์ 1 ราย กำแพงเพชร 1 ราย เชียงใหม่ 1 ราย สมุทรปราการ 1 ราย ชลบุรี 1 ราย
  2.  AY.6 หรือ B.1.617.2.6 ช่วงที่พบเดือน ก.ค. ในพื้นที่ กทม. 1 ราย
  3. AY.10 หรือ B.1.617.2.10 ช่วงที่พบเดือน ก.ค. ในพื้นที่ กทม.1 ราย
  4. AY.12 หรือ B.1.617.2.15 ช่วงที่พบเดือน ก.ค.-ส.ค. ในพื้นที่ กทม. (พญาไท) 1 ราย สุราษฎร์ธานี  2 ราย

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หน.ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า การพบ 4 สายพันธุ์ย่อยของเดลต้าในครั้งนี้ สิ่งที่น่าสนใจและเป็นคำถามใหญ่ที่จะต้องขบคิดและติดตามกันต่อไป นอกจากการดูแลรักษาผู้ป่วยติดโควิดแล้วต้องมองถึงการป้องกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งวัคซีนโควิดที่ใช้อยู่ในปัจจุบันว่า ยังใช้ได้ผลดีอยู่หรือไม่