จากกรณีหนีคดีของ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ “ผู้กำกับโจ้” ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ เจ้าของฉายา “โจ้ เฟอร์รารี” หลังถูกออกหมายจับเมื่อวานนี้ (25 ส.ค.) ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด, ร่วมกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด, ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย ทำให้สื่อต่างประเทศหลายสำนักนำเสนอและตีแผ่ข่าวดังกล่าวเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเอพี บีบีซี วีโอเอ (วอยซ์ ออฟ อเมริกา) เอบีซี ฯลฯ หรือแม้แต่สื่อเศรษฐกิจอย่างบลูมเบิร์ก โดยบางสำนักระบุว่า คดีนี้ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องปฏิรูปวงการตำรวจไทยอีกครั้ง
วีโอเอ เอเชีย ระบุว่า คดีฉาวตำรวจ 7 นายซึ่งรวมถึงระดับผู้กำกับ ได้ทรมานผู้ต้องหาคดียาเสพติดจนถึงแก่ความตายที่จังหวัดนครสวรรค์ โดยคลิปกล้องที่บันทึกพฤติกรรมโหดดังกล่าวได้ถูกนำมาเผยแพร่นำไปสู่การออกหมายจับนายตำรวจที่เกี่ยวข้องในคลิปนี้ทั้งคณะ กำลังนำไปสู่การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปวงการตำรวจของไทยซึ่งข่าวระบุว่า มีธรรมเนียมปฏิบัติในทางเสื่อมเสียทั้งในการใช้อำนาจในทางมิชอบ กระทำตัวอยู่เหนือกฎหมายเสียเอง และทุจริตคอร์รัปชัน
“เหตุการณ์เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 5 ส.ค. แต่เพิ่งหลุดรอดสู่สายตาสาธารณชนช่วงสัปดาห์นี้เนื่องจากมีนายตำรวจคนหนึ่งต้องการเปิดโปงเรื่องนี้ผ่านการปล่อยคลิปวิดีโอนี้ออกมา” วีโอเอ เอเชียระบุ พร้อมตั้งข้อสงสัยเหมือนกับที่คนไทยส่วนใหญ่ตั้งคำถามเมื่อเห็นการตรวจค้นบ้านพักสุดหรูของพ.ต.อ.ธิติสรรค์ หรือ “ผู้กำกับโจ้” แห่งหนึ่งในกทม.พบรถยนต์หรูหลากยี่ห้อในคอลเลคชั่นที่ครอบครองถึง 30 คัน อันเป็นที่มาของสมญานาม “โจ้ เฟอร์รารี” แต่คำถามก็คือ นายตำรวจหนุ่มอายุแค่ 41 ปีเงินเดือน 4 หมื่นกว่าบาท ร่ำรวยอู้ฟู่มาจากไหน?
“บ้านของเราสกปรกและถึงเวลาต้องชำระสะสางแล้ว” สื่อต่างประเทศอ้างอิงการให้สัมภาษณ์ของพลตำรวจตรี เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองผู้บัญชาการตำรวจภาค 6 (ผบช.ภ.6) ที่ย้ำหนักแน่นว่า ตำรวจกำลังสอบสวนเรื่องนี้ว่าผู้กระทำผิดมีใครบ้าง และถ้าพบก็จะจัดการทุกคนไม่มีเว้น ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดก็ตาม
สื่อต่างประเทศระบุว่า การออกมายอมรับว่ามีปลาเน่าในข้อง (ที่สื่อฝรั่งเรียก แอปเปิ้ลเน่า) เช่นนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยในวงการตำรวจ ซึ่งมักจะเก็บงำไม่ให้สาธารณชนเข้ามาตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ ถ้าหากมีคดีตำรวจทำผิดก็มักจะใช้วิธีโยกย้าย สลับตำแหน่งให้ตำรวจที่เป็นผู้ต้องหาไปประจำการที่อื่น มากกว่าที่จะให้พักงาน ไล่ออก หรือดำเนินคดีความตามกฎหมาย แต่เหตุการณ์บ้านเมืองในระยะหลัง ๆ ก็ทำให้การทำหน้าที่ของตำรวจถูกวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น เช่นการปฏิบัติหน้าที่ที่ใช้ความรุนแรงมากเกินไปหรือไม่ หลังจากที่มีการแพร่ภาพตำรวจควบคุมฝูงชน ใช้กำลังทุบตี หรือใช้ปืนกระสุนยางยิงผู้ชุมนุมประท้วงบนท้องถนนในระยะประชิด ทั้งที่ฝ่ายผู้ประท้วงไม่มีอาวุธ
ส่วนในกรณีการทรมานผู้ต้องหาจนถึงแก่ความตายของ (อดีต) ผู้กำกับโจ้ หรือ โจ้ เฟอร์รารี และตำรวจใต้บังคับบัญชานั้น ยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกเสื่อศรัทธา หมดความเชื่อถือในสถาบันตำรวจ มีการนำคดีนี้ไปเปรียบเทียบกับคดี “จอร์จ ฟลอยด์”ในสหรัฐอเมริกา หนำซ้ำจากคดีนี้ ยังเกิดกระแสในโลกออนไลน์ มีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองนำถุงพลาสติกมาคลุมหัวถ่ายภาพลงสื่อโซเชียลมีเดีย เพื่อให้ภาพดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงประเด็นอื่น ๆ ในสังคมไทย เช่น การใช้อำนาจที่ไม่อาจตรวจสอบได้
“นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีคนตาย(เพราะตำรวจ) แต่เป็นครั้งแรกที่การตายนั้นถูกบันทึกภาพเอาไว้ได้” นายตำรวจคนหนึ่งกล่าวกับสื่อต่างประเทศ โดยไม่ขอออกนาม เขามองว่า คดีฉาวนี้อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในองค์กรตำรวจ แต่การปฏิรูปอย่างแท้จริงต้องมาจากดำริของผู้มีอำนาจในระดับบน “อำนาจเป็นเรื่องที่หอมหวาน และนายตำรวจบางคนก็ติดกับดักของอำนาจนั้น”
ข้อมูลอ้างอิง