ราคาน้ำมันดิบปรับลด กังวลโควิด-19 ระบาด กระทบการฟื้นตัวของอุปสงค์

27 ส.ค. 2564 | 01:36 น.

ราคาน้ำมันดิบปรับลด จากความกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทบการฟื้นตัวของอุปสงค์น้ำมันดิบ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ 67.42 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลง 94 เซนต์ สัญญาน้ำมันดิบ BRENT ปิดที่ 71.07 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลง 1.18 ดอลลาร์

หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ.ไทยออยล์ รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมัน 27 สิงหาคม 2564

ราคาน้ำมันดิบปรับลด กังวลโควิด-19 ระบาด กระทบการฟื้นตัวของอุปสงค์

-  ราคาน้ำมันดิบเบรนท์และเวสต์เท็กซัสปรับตัวลดลง หลังความต้องการใช้น้ำมันยังคงถูกกดดันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาที่ยังเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก โดยญี่ปุ่นได้ประกาศภาวะฉุกเฉินในหลายจังหวัด ในขณะที่จีนออกมาตรการคุมเข้มในหลายเมือง รวมทั้งยกเลิกเที่ยวบิน และการขนส่งในภาคสาธารณะเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

- แท่นขุดเจาะน้ำมันแห่งหนึ่งนอกชายฝั่งเม็กซิโกที่เกิดเพลิงไหม้เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เริ่มกลับมาดำเนินการผลิตอีกครั้ง โดยในขณะนี้ พีเม็กซ์สามารถเพิ่มกำลังการผลิตกลับคืนมาได้ 71,000 บาร์เรลต่อวัน และจะปรับเพิ่มกำลังการผลิตได้อีก 110,000 บาร์เรลต่อวัน ภายในสัปดาห์นี้ โดยคาดว่าจะสามารถกลับมาดำเนินการผลิตได้ตามปกติภายในวันที่ 30 ส.ค.64

- สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงน้ำมันดีเซลและน้ำมันเครื่องบิน ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 ส.ค. 64 ปรับเพิ่มขึ้น 0.6 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 138.46 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 0.3 ล้านบาร์เรล

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากถูกกดดันจากอุปทานที่เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มกำลังการผลิตของโรงกลั่นในจีน อีกทั้งยังมีการส่งออกน้ำมันเบนซินจากจีนและไต้หวันเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากอุปสงค์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากค่าขนส่งที่ปรับลดลง อย่างไรก็ตามราคายังคงถูกกดดันจากอุปทานน้ำมันดีเซลของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 5.2% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา

ที่มา : บมจ.ไทยออยล์

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (26 ส.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ รวมทั้งรายงานที่ว่า การผลิตน้ำมันในเม็กซิโกเริ่มฟื้นตัวขึ้นอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบจากเกิดเหตุเพลิงไหม้แท่นขุดเจาะน้ำมันนอกชายฝั่ง

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 94 เซนต์ หรือ 1.4% ปิดที่ 67.42 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 1.18 ดอลลาร์ หรือ 1.6% ปิดที่ 71.07 ดอลลาร์/บาร์เรล