สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (กก.4 บก.ปคบ.) ได้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอให้ตรวจสอบ กรณีมีผู้ร้องเรียนพบการลักลอบผลิตและจำหน่ายยาฟ้าทะลายโจรปลอม
โดยผู้ร้องเรียนแจ้งว่าตนได้สั่งซื้อยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจร จากนางสาวก้อย (นามสมมุติ) ผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก โดยนางสาวก้อยฯ ได้เสนอขายยาฟ้าทะลายโจรชนิดแคปซูล ยี่ห้อ ดอกบัวตอง เลขทะเบียนที่ G46/53 และอ้างว่าตนเป็นเจ้าของโรงงานผลิตเครื่องสำอางและอาหารเสริมแห่งหนึ่ง ย่านคลองสามวา กรุงเทพฯ และได้รับอนุญาตจากเจ้าของผลิตภัณฑ์ให้ผลิตยาฟ้าทะลายโจรยี่ห้อดังกล่าว
ผู้เสียหายจึงได้สั่งซื้อยาฟ้าทะลายโจร เป็นจำนวนเงิน 1,127,065 บาท โดยผู้เสียหายได้โอนเงินและรับสินค้าครบตามจำนวน ต่อมาผู้เสียหายได้ตรวจสอบพบว่า ผงยาฟ้าทะลายโจรภายในแคปซูลมีลักษณะที่แตกต่างจากท้องตลาดทั่วไป จึงได้สอบถามไปยังบริษัทกฤษฎาสมุนไพร จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจร ยี่ห้อ ดอกบัวตอง เลขทะเบียนที่ G46/53 และได้รับการยืนยันว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีรูปแบบฉลากแตกต่างของจริง และไม่ได้เป็นผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจร ที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตหรือเคยสั่งทำกับทางกับทางบริษัทฯ แต่อย่างใด
ภายหลังผู้เสียหายได้ติดต่อกับนางสาวก้อยฯเพื่อคืนสินค้าและขอเงินคืน ปรากฏว่า ได้รับการบ่ายเบี่ยง จึงได้เดินทางมาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. เพื่อให้ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ต่อมา เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ อย. นำหมายค้นของศาลอาญามีนบุรี เข้าทำการตรวจค้น สำนักงาน โรงงานผลิต และโกดังเก็บของ ของนางสาวก้อยฯ รวม 3 จุด ตรวจพบพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรปลอมจำนวนหลายรายการ พร้อมกันนี้ได้ตรวจยึดยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรปลอมจากผู้ร้องเรียน จำนวน 5,000 กระปุก นำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
สำหรับการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 ฐาน “ร่วมกันผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม” มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท, ฐาน “ร่วมกันผลิตหรือขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาต” มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, ฐาน “ร่วมกันขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม” มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท
พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ. เปิดเผยว่า ประชาชนควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรจากร้านขายยาหรือร้านค้าที่เชื่อถือได้ และขอแจ้งเตือนให้ผู้ที่กำลังกระทำความผิด ลักลอบผลิตยาสมุนไพรที่ไม่ได้รับอนุญาตให้หยุดการกระทำดังกล่าวทันที ถ้าตรวจพบจะดำเนินคดีถึงที่สุด หากพี่น้องประชาชนพบเห็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภค
ด้านภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข และรักษาราชการแทนรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ขอให้ประชาชนระมัดระวังในการซื้อผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรทางออนไลน์ เพราะไม่สามารถเห็นสินค้าจริงก่อนซื้อ ซึ่งขณะนี้มีผู้ฉวยโอกาสหลอกขายฟ้าทะลายโจรผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก และจากการเฝ้าระวังและตรวจสอบร้องเรียนที่ผ่านมา พบผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรผิดกฎหมายแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
1.กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. หรือใช้วัตถุดิบอื่นแทนฟ้าทะลายโจร เช่น ผงบอระเพ็ด
2. ผลิตภัณฑ์ปลอมโดยสวมเลข อย. ของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและอ้างว่ามีฟ้าทะลายโจรเป็นส่วนประกอบ ซึ่ง อย. ไม่อนุญาตให้ใช้ฟ้าทะลายโจรในผลิตภัณฑ์อาหาร เนื่องจากมีฤทธิ์ทางยา
3). ผลิตภัณฑ์ปลอมโดยสวมเลขทะเบียนตำรับยาของผลิตภัณฑ์อื่น
"ก่อนตัดสินใจซื้อขอให้ตรวจสอบรายชื่อผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรผิดกฎหมายที่หน้าเว็บไซต์ อย. และตรวจสอบการขึ้นทะเบียนโดยละเอียด ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรที่ถูกกฎหมายเป็นจัดเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ฉลากต้องมีเลขทะเบียนตำรับขึ้นต้นด้วย อักษร “G” โดยสามารถตรวจสอบได้ที่ www.fda.moph.go.th หัวข้อ ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ หรือ Oryor Smart Application"