สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ในกรุงเทพมหานคร ยังคงมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ประกอบกับข้อมูลการสอบสวนโรคของกระทรวงสาธารณสุขและสำนักอนามัยพบว่ามีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนโดยเฉพาะในสถานที่ที่ประชาชนหนาแน่น เช่น ตลาด
ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้ดำเนินการควบคุมการระบาดมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังพบการระบาดในกลุ่มตลาดอีกครั้ง ซึ่งการหยุดทำการค้าจะมีผลกระทบทั้งต่อผู้ค้าและประชาชนผู้บริโภค ดังนั้นกรุงเทพมหานครจึงขอความร่วมมือเจ้าของตลาดขนาดใหญ่ทุกแห่งปฏิบัติตามมาตรการที่ทางภาครัฐกำหนดอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง เพื่อควบคุมและลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ และชะลอหรือหยุดการแพร่ระบาดในตลาดให้ได้มากที่สุด
ล่าสุดกรุงเทพมหานครได้ประชุมเพื่อหาแนวทางมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ในสถานประกอบการตลาด (ค้าส่งขนาดใหญ่) โดยประชุมร่วมกับผู้ประกอบการเจ้าของตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ จำนวน 29 แห่ง และสำนักงานเขตพื้นที่ซึ่งมีตลาดขนาดใหญ่ตั้งอยู่ จำนวน 11 เขตในพื้นที่กรุงเทพ
ทั้งนี้ในจำนวนตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ 29 แห่ง มีแผงค้ามากกว่า 500 แผง มีจำนวน 12 แห่ง และมีตลาดที่มีพื้นที่ติดกันหลายๆ ตลาด รวมกันเป็นตลาดขนาดใหญ่ จำนวน 17 แห่ง รวมผู้ค้าและแรงงานแผงค้าจำนวนทั้งสิ้น 18,963 คน
นายชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ได้กำหนดแผนการเฝ้าระวังเชิงรุกและแผนเผชิญเหตุโรคโควิด-19 ในตลาด โดยรายละเอียดมีดังนี้
นอกจากนั้นแล้วกระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาตรการควบคุมโรคเฉพาะสถานที่สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ซึ่งรวมถึงมาตรการสำหรับตลาด (ค้าส่ง ขนาดใหญ่)ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรการที่มีอยู่แล้ว แบ่งออกเป็น 3 มาตรการ คือ
มาตรการด้านการป้องกันคน
กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ค้า ลูกจ้าง แรงงานที่เดินทางเข้าออก และอาจรวมถึงผู้ที่อยู่อาศัยโดยรอบและผู้ซื้อที่เข้าใช้บริการ ให้ปฏิบัติตามมาตรการ D-M-H-T-T-A อย่างเคร่งครัด โดยกรุงเทพมหานครขอความร่วมมือผู้ประกอบการ เจ้าของตลาดให้ความร่วมมือในการดำเนินมาตรการดังกล่าวพร้อมจัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของมาตรการเสริมคือการดำเนินการคัดกรองด้วยชุด Antigen Test Kit (ATK) ในกลุ่มผู้ค้า แรงงานทุกคน ทุกสัปดาห์ เป็นระยะเวลา 1 เดือน ซึ่งกรุงเทพมหานครได้รับการสนับสนุนชุดตรวจจากกระทรวงสาธารณสุขส่วนหนึ่งและจะจัดหาเพิ่มเติมเพื่อให้ครบถ้วนตามจำนวนกลุ่มเป้าหมายและระยะเวลาในการดำเนินการ
สำหรับระยะเวลาการดำเนินการกรุงเทพมหานครจะแจ้งให้แก่ผู้ประกอบการ เจ้าของตลาดได้ทราบต่อไป
มาตรการด้านการป้องกันสถานที่ (ตลาด)
ให้ประเมินตามแนวทาง TSC+ และ BKK Food Safety App และดำเนินการปรับปรุงให้เรียบร้อย รวมทั้งให้กำหนดจัดจุดเข้า-ออกทางเดียวหรือให้น้อยลง พร้อมคัดกรองผู้เข้าพื้นที่อย่างเข้มงวดโดยจัดคนควบคุมกำกับให้ปฏิบัติตามมาตรการ D-M-H-T-T-A จัดระบบสุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อม อาทิ จัดให้มีการเว้นระยะห่าง มีการระบายอากาศที่ดี และทำความสะอาดฆ่าเชื้อในพื้นผิวสัมผัสบ่อยๆ
จัดระบบเพื่อลดกิจกรรมสัมผัสใกล้ชิด อาทิ การจัดให้มีระบบ drop in/drop out ห้ามรวมกลุ่มพูดคุย การจัดให้มีพื้นที่รับประทานอาหารสำหรับผู้ค้า รวมทั้งจัดให้มีการใช้จ่ายเงินแบบ Digital เพื่อลดการสัมผัสระหว่างบุคคล
มาตรการจัดการระบบเฝ้าระวังควบคุมโรค
โดยสุ่มเฝ้าระวังเชิงรุกตามลักษณะของตลาดทั้งการตรวจคนและสิ่งแวดล้อม จัดทำแผนเผชิญเหตุพร้อมกำหนดผู้รับผิดชอบและซ้อมแผน โดยให้คำนึงถึงสถานการณ์การระบาด ลักษณะของตลาดและบริบทของผู้คนในและรอบตลาด การจัดเตรียมสถานที่แยกกัก/กักกัน เพื่อรองรับในกรณีพบผู้ติดเชื้อ และการประยุกต์การควบคุมกลุ่มและการเดินทางไปกลับของคนในตลาด ในลักษณะ Bubble group and seal route
โดยที่ประชุมได้ขอให้เจ้าของตลาดรวบรวมข้อมูลพื้นฐานของตลาด อาทิ บัญชีแผงค้า ทะเบียนผู้ค้า และแรงงานทั้งชาวไทยและชาวต่างด้าว รวมทั้งสำรวจที่พักอาศัย เส้นทางการเดินของผู้ค้าและแรงงาน และข้อมูลการรับวัคซีนเพื่อใช้เป็นประโยชน์ในการจัดทำแผนเผชิญเหตุต่อไป