“บริบทของอำเภอเราชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปลูกพืชผักสวนครัว ทำไร่อ้อย ไร่มันสำปะหัง ปลูกยูคาฯ และได้น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ ทำให้ชาวบ้านท่าตะเกียบอยู่รอดได้ในทุก ๆ สถานการณ์”
บางช่วงบางตอน นางสาวรัศมินท์ พฤกษาทร นายอำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวกับคณะสื่อมวลชนระหว่างลงพื้นที่ร่วมกับคณะเจ้าหน้าที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยเพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามนโยบาย 10 Flagships ของกรมการปกครองในการสร้างความเข้มแข็งให้กับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ภายใต้โครงการ”หมู่บ้าน อยู่เย็น”เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนแก่พี่น้องประชาชนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
จากภาพรวมสถานการณ์โควิด-19(COVID 19) อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ( ข้อมูล ณ 22 สิงหาคม 2564) มีผู้ป่วยรายใหม่ 2 ราย ผู้ป่วยสะสม 30 ราย ยังรักษาอยู่ 64 ราย รักษาหาย 163 ราย และเสียชีวิต 3 ราย โดยมีหมู่บ้านไม่มีผู้ติดเชื้อหรือหมู่บ้านสีฟ้าจำนวน 7 หมู่บ้านจากจำนวนทั้งหมด 22 หมู่บ้านในต.ท่าตะเกียบและอีก 5 หมู่บ้านจากจำนวนทั้งหมด 25 หมู่บ้านในต.คลองตะเกรา
“มีผู้ป่วยจากข้างนอกกลับมารักษาตัวในพื้นที่เฉลี่ย 10-16 คนต่อวัน เนื่องจากศักยภาพของโรงพยบาลท่าตะเกียบเองเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กไม่สามารถรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องได้” จึงได้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามขึ้นทั้งหมด 3 แห่งที่วัดเทพพนาราม 2 แห่งรองรับผู้ป่วยได้ 120 เตียง และโรงเรียนวัดเทพพนารามอีก 1แห่ง เพิ่งเปิดใช้งานไปเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564 รองรับผู้ป่วยได้อีก 60 เตียง”
นายอำเภอท่าตะเกียบกล่าวต่อว่าการสร้างความเข้มแข็งให้หมู่บ้าน ตำบล อำเภอตามนโยบาย 10 Flagships ของกรมการปกครองที่มีอยู่หลายมิติ ในมิติหนึ่งการสร้างความเข้มแข็งให้กับหมู่บ้านชุมชนสามารถพึ่งเองได้ และประชาชนสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ในช่วงวิกฤติแบบนี้
โคกหนองนาโมเดลเป็นอีกโครงการที่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณมาช่วยประชาชนในช่วงวิกฤติโควิด-19 ซึ่งนายเบญจวัฒน์ ในวิกุล พัฒนาการอำเภอท่าตะเกียบเผยว่าอำเภอท่าตะเกียบนั้นได้รับการอนุมัติจากกรม พัฒนาชุมชนทั้งสิ้น 41 โครงการตามที่ชาวบ้านได้ร้อง โดยแต่ละโครงการจะได้รับงบประมาณดำเนินการอยู่ที่ 1.3 แสนบาท ตามแบบแปลนที่กรมกำหนดบนเนื้อที่ 3 ไร่ ซี่งประกอบด้วยสระน้ำ คลองไส้ไก่ ร่งอน้ำในนา
ส่วนพืชที่ปลูกขึ้นอยู่กับความเหมาะสมสภาพพื้นที่และความต้องการของเกษตรกรเจ้าของโครงการ แต่ที่ท่าตะเกียบส่วนใหญ่จะปลูกพืชสมุนไพรเป็นหลักเนื่องจากมีตลาดรองรับและที่สำคัญไม่มีปัญหาเรื่องช้างป่ามาทำลายผลผลิต
“ที่ท่าตะเกียบมีช้างป่าเยอะมาก วันดีคืนดีก็จะยกฝูงกันลงมากินผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้านได้รับ ความเสียหาย แต่ถ้าเป็นพืชสมนุไพรช้างไม่แตะเลย มีสองอย่างที่ช้างไม่แตะคือพืชสมุนไพรและฟาร์มเลี้ยงผึ้งที่ท่าตะเกียบมีชาวบ้านทำฟาร์มเลี้ยงผึ้งอยู่12รายที่เราเข้าไปส่งเสริม”พัฒนาการอำเภอท่าตะเกียบเผย
นางทองแดง กล้าแข็ง เกษตรกรประกอบอาชีพทำไร่มันสำปะหลังแห่งบ้านเนินน้อย ม.20 ต.ท่าตะเกียบ อ.ท่าตะเกียบ ซึ่งเป็น 1ใน 41 รายที่ได้รับจัดสรรโครงการโคกหนองนาจากกรมพัฒนาชุมชน โดยเธอบอกว่ามีอาชีพทำไร่มันสำปะหลังมีเนื้อที่ทั้งหมด 10 ไร่ จึงเจียดมาทำโครงการโคกหนองนาจำนวน 3 ไร่ โดยปลูกพืชผักสวนครับและพืชสมุนไพรต่าง ๆ เพื่อจะได้มีรายได้เข้ามาทุกวัน
“เพิ่งดำเนินการแล้วเสร็จได้ประมาณ 3 เดือน ส่วนใหญ่จะปลูกพืชผักสมุนไพรเป็นหลักตอนนี้ผลผลิตยังไม่ออก ที่เน้นปลูกพืชสมุนไพร เพราะช้างป่าไม่มายุ่ง ถ้าเป็นไม้ผล มะละกอ กล้วย อ้อยรับรองไม่เหลือ ช้างลงมาจัดการหมด”เกษตรกรเจ้าของโครงการโคกหนองนาคนเดิมเผย
ไม่เพียงแต่โครงการรัฐที่เข้ามาช่วยเหลือประชาชนผ่านการจัดสรรงบประมาณจากหน่วยงานต่าง ๆ ในช่วงวิกฤติโควิด-19 แต่ทว่าชาวบ้านเองเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสเพื่อสร้างความเข้มแข้งให้กับกลุ่ม อย่างกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผักปลอดสารพิษบ้านทุ่งส่าย ม.12 ต.คลองตะเกรา อ.ท่าตะเกียบ จากเดิมที่มีสมาชิกเพียง 14 คนตอนนี้เพิ่มเป็น 41 คนแล้ว
“ตอนนี้กลุ่มเริ่มเข้มแข้งมาก มีสมาชิกเข้ามาเพิ่มจากเดิม 14 คนเป็น 41 คน กลุ่มจะเป็นคนดูแลเรื่องตลาด โดยรับซื้อผลผลิตจากสมาชิกสูงกว่าตลาด เพราะผลผลิตของเราเป็นพืชผักปลอดสารพิษ100% ทุกวันนี้สมาชิกมีรายได้จากากรขายผลผลิตเฉลี่ยเดือนละ 8,000-10,000 บาทต่อเดือน”นางบุญโฮม บุญสนิท ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกผักปลอดสารพิษบ้านทุ่งส่ายกล่าวและย้ำว่า
ผลผลิตที่รับซื้อจากสมาชิกนอกจากจำหน่ายแล้ว ทางกลุ่มยังนำไปบริจาคให้กับทางอำเภอท่าตะเกียบเพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับผู้กักตัวโควิด-19 อีกด้วย เพราคนเหล่านี้ไม่สามารรถออกมาทำหาหากินได้ เป็นการช่วยเหลือเผื่อแผ่ในช่วงเกิดวิกฤติ
นางสาวจุฑามาศ ทับทอง เจ้าของสวนแก้วนางปลูกสลัดปลอดสารพิษแห่งบ้านหนองขาหยั่ง ม.5 ต.คลองตะเกรา อ.ท่าตะเกียบ ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกผักปลอดสารพิษกล่าวว่าหลังออกจากงานเพราะพิษวิกฤติโควิด-19 เมื่อปีที่แล้วก็กลับมาอยู่บ้านเริ่มต้นด้วยการปลูกผักสลัดชนิดต่างๆ อาทิ กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค บนเนื้อที่ 2 งาน โดยผลผลิตที่ได้จะส่งให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกผักปลอดสารพิษเกือบทุกวันเฉลี่ยครั้งละ 15-20 กิโลกรัม โดยทางกลุ่มจะรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 70-80 บาท
“ทำเองทั้งหมดตั้งแต่การเลือกเมล็ดพันธุ์เอง ทำปุ๋ยเอง เป็นปุ๋ยจากขี้ไส้เดือน ส่วนผลผลิตนอกจากส่งให้กับทางกลุ่มแล้วยังมีลูกค้าประจำอีกส่วนหหนึ่งด้วย ทุกวันนี้ยังผลิตไม่พอขาย ตอนนี้เริ่มเพาะกล้าขายด้วย หลังมีคนสนใจนำไปปลูกเลี้ยงต่อ”เจ้าของสวนผักสลัดแก้วนางกล่าว
การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวหันมาปลูกพืชผสมสานพร้อมร่วมบริหารจัดการเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนช่วยเพิ่มอำนาจการต่อรองนับเป็นอีกทางรอดของชาวบ้านในอ.ท่าตะเกียบในยุควิกฤติ”โควิด-19”